ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ตาม ด้วยภารกิจที่ต้องรับผิดชอบอาจกดดันแล้วก่อความเครียดอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยง และมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนคนส่วนใหญ่ละเลยหรือคาดไม่ถึงว่านานวันเข้าความเครียดเหล่านั้นจะสั่งสมเพิ่มพูนจนก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจหรือภาวะที่เรียกว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) ขึ้น
ปัจจุบันคนในสังคมไทยเริ่มเปิดใจขอรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกันมากขึ้น เราอาจเคยได้ยินภาวะซึมเศร้าอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงปัญหา Burnout Syndrome กันสักเท่าไหร่ ทั้งที่กลุ่มวัยทำงานเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคม ดังนั้นจึงมีคนกลุ่มหนึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญ จัดตั้ง “โครงการดูแลสุขภาพจิตวัยทำงาน” ขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Center for Psychological Wellness) กับองค์กรที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมสังคม Good Factory โดยได้รับการสนับสนุนจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำนิยาม burnout syndrome ไว้ว่ามันคือการตอบสนองต่อความเครียดเป็นระยะเวลานาน ความเครียดนั้นเกิดจาก 2 ปัจจัยคือภาวะทางอารมณ์ (ปัจจัยภายในตัวคน) และความสัมพันธ์ที่เกิดจากการทำงาน (ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม) แตกต่างจากความเครียดทั่วไปตรงที่ โดยปกติแล้วเราแต่ละคนมีวิธีจัดการความเครียดไม่เหมือนกัน บ้างก็ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เล่นกีฬา จนคลายความเครียดลงได้ แต่ทว่าหากเราไม่สามารถขจัดความเครียดเหล่านั้นได้หมด และสั่งสมเพิ่มพูนเรื่อยๆ จะนำไปสู่ภาวะ burnout syndrome ได้
ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต เป็นตัวแทนเล่าถึงสิ่งที่ควรให้ความสำคัญแก่ปัญหานี้ว่า “มีงานวิจัยมากมายระบุว่าการเกิด burnout จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และเมื่อคนในองค์กร burnout ก็จะส่งผลอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพขององค์กร” หากสงสัยว่าเรากำลังเผชิญภาวะนั้นอยู่หรือไม่ สามารถสังเกตได้จากองค์ประกอบ 3 ประการ ส่วนมากจะเริ่มต้นจากอาการแรกและพัฒนาไปทีละขั้น ขั้นที่หนึ่งคือ “อาการเหนื่อยล้า” (exhaustion) เช่น เมื่อได้รับมอบหมายงานให้ดูแลมากเกินไปและจัดการไม่ไหว ก่อให้เกิดอาการเหนื่อยล้า หมดกำลังกาย กำลังใจ ไม่มีแรงจะทำอะไร ขั้นที่สอง เมื่อความล้าเกิดขึ้น คุณก็ “อยากจะถอยห่างออกจากงาน” (cynicism) อยากหนี ไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วม พอถอยห่างนานวันเข้า ก็จะเกิดขั้นที่สาม คือการกลับมาประเมินตัวเองว่า “ไม่มีความสามารถ” (inefficacy) สงสัยความสามารถของตัวเอง ว่าเราเหมาะสมกับงานนี้แล้วหรือเปล่า องค์ประกอบเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นจะเริ่มส่งผลกระทบต่อตัวเรา บั่นทอนทั้งสุขภาพจิตและประสิทธิภาพในการทำงาน สุดท้ายอาจลุกลามไปสู่ภาวะซึมเศร้า (depression) ได้ โครงการดูแลสุขภาพจิตวัยทำงานจึงจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทางจิตใจ และป้องกันก่อนที่จะลุกลาม
ผู้เข้าร่วมโครงการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม สามารถสมัครได้ทั้งรายบุคคลและองค์กร ทุกคนจะได้รับการทดสอบวัดระดับอาการ burnout syndrome และวิธีจัดการตนเองเบื้องต้น ณัฐสุดากล่าวว่า “การเข้าร่วมระดับบุคคลจะช่วยให้เขาประเมินอาการตนเองได้ ซึ่งก็คือการรับรู้และแก้ปัญหาจากปัจจัยภายในตัวคน แต่ทางแก้ที่ดีที่สุดควรพิจารณาปัจจัยภายในตัวคนและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็คือหน่วยงานหรือองค์กรควบคู่กันไปด้วย ผู้เข้าร่วมระดับองค์กรจะได้รับคำปรึกษาจากทีมจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร ช่วยเข้าไปวิเคราะห์ปัญหา เพราะแต่ละองค์กรมีวัฒนธรรมและแนวทางการทำงานแตกต่างกันไป”
ขณะนี้แม้โครงการจะได้รับการตอบสนองดีเกินคาด มีผู้สนใจสมัครเข้ามาอย่างล้นหลามจนเต็มโควต้าไปแล้ว ทว่าโครงการก็ยังไม่ได้มองแค่การช่วยเหลือคนที่สมัครทันเท่านั้น ณัฐสุดาเล่าว่าโครงการกำลังพัฒนาเครื่องมืออย่างหนึ่งขึ้นเพื่อให้บุคคลทั่วไปมีความรู้เบื้องต้นในการดูแลตนเอง เพราะการดูแลจิตใจสามารถเป็นไปได้ตามขั้นตอน แรกสุดต้องเริ่มจากการรับรู้ (awareness) สำรวจจิตใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเองหรือไม่ เมื่อรับรู้แล้วขั้นต่อไปคือการช่วยเหลือตนเอง (self-help) แต่หากไม่ได้ผลที่ดี ก็ควรหาใครสักคนเพื่อช่วยเหลือ ปัจจุบันมี hotline ที่เราสามารถโทร.เข้าไปเพื่อขอคำปรึกษาเบื้องต้น หรือถึงขั้นพบหน้าพูดคุยกับนักจิตวิทยา และหากประเมินว่ามีโรคและอาการทางกายเกิดขึ้น อาจแนะนำให้พบจิตแพทย์เพื่อรับยาด้วย โครงการอยู่ในสองขั้นแรกคือสร้างการรับรู้และลองช่วยเหลือตัวเอง โดยทีม Good Factory ซึ่งเป็นนวัตกรคิดค้นสร้างสรรค์อยู่แล้ว จะช่วยผลิตเครื่องมือในการดูแลจิตใจคนวัยทำงานขึ้น และมีแผนการเผยแพร่เครื่องมือนี้ให้บุคคลทั่วไปได้ใช้งานในต้นปี 2564 ที่จะถึงนี้ สามารถติดตามอัพเดตต่างๆ ได้จากทางหน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจ
อย่าลืมหันมาใส่ใจสุขภาพจิตในการทำงานของตัวเองให้มากขึ้นกันนะ
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://www.facebook.com/WellnessPsyCU/
Good Factory
https://www.facebook.com/goodfactoryco
คอลัมน์ : ยุทธจักร ฅ.ฅน
เรื่อง: กัตติกา ภาพ: อนุชา ศรีกรการ
All magazine มกราคม 2564