บังเกิดเกล้า อุดมการณ์ความเป็น ‘แม่’ ที่เปลี่ยนไป

-

บังเกิดเกล้า ผลงานประพันธ์ของ “แมน สุปิติ” เคยได้รับการถ่ายทอดเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อ พ.ศ.2541 ผ่านมากว่าสองทศวรรษ นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการรังสรรค์เป็นละครโทรทัศน์อีกครั้งทางช่องอมรินทร์ทีวี นับเป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่แฟนละครชาวไทยต่างก็รอคอย และคาดหวังว่าจะได้รับความสนุกจากการดูละครอีกครั้ง

 

 

บังเกิดเกล้ามาจากสำนวนไทยว่า “แม่บังเกิดเกล้า” อันเป็นถ้อยคำที่ยกย่องเชิดชูแม่ผู้ให้กำเนิดและมีพระคุณต่อผู้เป็นลูก ในสังคมไทยมีค่านิยมเรื่องความกตัญญู ถือตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนาว่าความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี และพ่อแม่ถือเป็น “พรหม” ของลูก ดังนั้นในเรื่องเล่าไทยนับแต่อดีตจึงยกย่องเชิดชูแม่ และไม่ให้คุณค่าแก่ลูกที่อกตัญญู

ทว่าในนวนิยายเรื่องบังเกิดเกล้าของ “แมน สุปิติ” ได้ชี้ให้เห็นถึง “แม่” หลายรูปแบบ เสมือนเป็นแบบจำลองของแม่บังเกิดเกล้าในสังคมไทย แม่ผู้ไม่ได้เป็นแม่ที่สมบูรณ์พร้อม หากแต่มีความพร่องอยู่ในตัว และความพร่องนี้เองที่ส่งผลกระทบต่อคนเป็นลูก

แม่ที่มีสีสันมากที่สุดในเรื่องก็คือนางทองใบ แม่ของชัชรินทร์ ซึ่งสอนลูกในทางที่ผิด และใช้ชีวิตผิดพลาดมาตลอดชีวิตของการเป็นแม่ ทองใบมีสามีที่ทำอาชีพค้าของเถื่อนผิดกฎหมายจนติดคุก เกิดเป็นรอยจำให้ชัชรินทร์เจ็บปวด และไม่คิดจะจำเริญรอยตามพ่อ แต่ทองใบก็ยังส่งเสริมให้ชัชรินทร์ทำอาชีพนี้จนกระทั่งถูกจับติดคุกเหมือนพ่อในที่สุด หากพิจารณาดูภูมิหลังของทองใบ จะพบว่าเป็นผู้หญิงชาวบ้านที่ต้องหาเช้ากินค่ำ เมื่อมาเจออาชีพที่ได้เงินมาก จึงหลงเพริดไปกับเงินทองที่ได้มาง่ายๆ แม้เมื่อสามีติดคุกไปแล้วก็ยังไม่เลิกอาชีพผิดกฎหมาย ด้วยคิดอย่างง่ายๆ เข้าข้างตนเองว่าเป็นอาชีพที่เคยทำและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทองใบยังเป็นแม่ที่รักลูกอย่างไม่ลืมหูลืมตา รักลูกอย่างไม่มีเหตุผล  เมื่อนางไปเยี่ยมครอบครัวของชัชรินทร์และพบว่า ลูกชายมีปัญหาทะเลาะตบตีกับลูกสะใภ้ แทนที่จะห้ามปรามและยุติความขัดแย้ง กลับส่งเสริมเข้าข้างลูกชายให้รังเกียจสะใภ้ อีกทั้งยังหาผู้หญิงคนใหม่มาแทนสะใภ้คนเดิม โดยไม่ใส่ใจความรู้สึกของหลานสองคนเลย

 

 

นางสม แม่ของสุขสม ภรรยาของชัชรินทร์ เป็นแม่ผู้เพียบพร้อม สั่งสอนให้ลูกอยู่ในทำนองคลองธรรม ใจเย็น คอยแก้ปัญหาลูกๆ  ถึงกระนั้นสุขสมก็ยังคิดว่าแม่รักน้องชายและน้องสาวมากกว่า ความรู้สึกว่าตนเองเป็นลูกที่แม่ไม่รัก ก่อให้เกิดปมด้อย น้อยเนื้อต่ำใจ โดยหารู้ไม่ว่านิสัยเอาแต่ใจของสุขสมนี้เองที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างตัวเขากับแม่บังเกิดเกล้า ผิดกับน้องสาวที่มีนิสัยตรงข้าม ความรู้สึกของสุขสมที่แสดงออกผ่านการกระทำต่างๆ ทำให้นางสม ผู้เป็นแม่ระทมใจ และหาทางช่วยเหลือสุขสมสารพัด

“แมน สุปิติ” ผูกเรื่องราวให้เกิดขึ้นในครอบครัวคนชั้นกลาง ซึ่งต้องใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบในสังคมเมืองใหญ่ ช่วงเวลาที่นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการนำเสนอนั้น สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหลบ่ามาจากโลกตะวันตก ระบอบทุนนิยมเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจไทยและส่งผลต่อทุกชีวิตในสังคมไทย ชัชรินทร์กับสุขสมก็คือ “มนุษย์เงินเดือน” ที่มีรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลังและมีรายจ่ายจิปาถะ ความเครียดจากชีวิตประจำวันนี้เองที่ส่งผลต่อชีวิตครอบครัวของเขาและเธอ

 

นอกจากสภาพครอบครัวชนชั้นกลาง มีรายได้จากเงินเดือนประจำที่ตัวละครหลักต้องเผชิญแล้ว “แมน สุปิติ” ยังสร้างให้ตัวละครที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน ต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันจึงต้องมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ชัชรินทร์คือผลพวงจากแม่บังเกิดเกล้า ที่ยึดถือ “เงิน” เป็นใหญ่ อันเป็นชีวิตที่เป็นไปตามกระแสสังคม และการที่แม่ตามใจมาตลอดชีวิต  ทำผิด แม่ก็ไม่เคยสั่งสอนชี้ถูกชี้ผิด ชัชรินทร์จึงเป็นตัวละครที่ทำอะไรตามใจตัวเอง คิดถึงแต่ความสุขเฉพาะหน้า และเป็นภาพแทนของผู้ชายไทยที่เจ้าชู้ ขาดความรับผิดชอบ และมีลักษณะอำนาจนิยม เชื่อว่าผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวคือบุคคลที่มีอำนาจสูงสุด ลูกเมียจึงต้องตามใจคอยให้บริการ ในขณะที่สุขสม เติบโตมาด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจคิดว่าแม่ไม่รักตน จึงเกิดแรงผลักดันที่จะทำทุกอย่างให้สำเร็จด้วยตนเอง เธอจึงเป็นคน “แข็ง” ไม่ยอมคน เมื่อทะเลาะกัน เธอก็พร้อมจะตอบโต้จนสาสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตามราวีเมียน้อยของสามี เพื่อธำรงสถานะของความเป็นเมียไว้

สุขสมคือแม่บังเกิดเกล้าที่เป็นผลพวงของสังคมสมัยใหม่ แม่ผู้ให้ความสำคัญแก่ความสำเร็จนอกบ้าน ความเป็นหนึ่งในครอบครัว และไม่ยอมแพ้แก่ปัญหาที่ถาโถม เมื่อชัชรินทร์ท้าให้หย่า  สุขสมก็มิได้ลังเล เพราะคิดว่าการไม่ง้อสามีเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด เธอจึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวหย่าขาดจากสามี ทว่าสุขสมยังโชคดีที่ได้เห็นแบบอย่างความรักจากมารดาของตน เมื่อรู้ว่าชัชรินทร์ถูกจับติดคุกในข้อหาค้าของเถื่อน เธอจึงสำนึกได้ว่า ชัชรินทร์เกลียดชังการถูกด่าว่าเป็นลูกไอ้ขี้คุกมากเพียงใด คำที่เคยย้อนด่าเขาเพื่อให้เจ็บแสบนี้ ได้ย้อนมาถึงลูกทั้งสองของเธอด้วย แน่นอนว่าเธอไม่ต้องการให้ลูกทั้งสองมีตราบาปติดในใจเหมือนที่ชัชรินทร์เคยได้รับมาก่อน

 

 

“แมน สุปิติ” ชี้ให้เห็นว่าคนเราไม่ว่าจะมีบทบาทหน้าที่ของความเป็นแม่ เมีย หรือลูก ต่างก็มีหน้าที่ที่ต้องเกื้อกูลกัน เพื่อความผาสุกในครอบครัว หากใครก็ตามบกพร่องต่อหน้าที่ ครอบครัวย่อมมีปัญหาตามมา สุขสมเป็นตัวละครที่เป็นตัวแทนของ “แม่” “เมีย” และ “ผู้หญิง” ในสังคมไทยที่ยืนอยู่ระหว่าง “สังคมแบบเก่า” กับ “สังคมแบบใหม่”  สังคมแบบเก่าในที่นี้ก็คือครอบครัวแบบชาวสวน อยู่กับธรรมชาติ และแม่บังเกิดเกล้าผู้อารี มีคำสอนให้เป็นหลักชีวิตได้ ส่วนสังคมแบบใหม่คือสังคมที่ให้ค่าแก่ความสำเร็จในด้านหน้าที่การงานและเงินเป็นสำคัญ และเมื่อมาใช้ชีวิตกับสามีที่ได้รับการเลี้ยงดูจากแม่บังเกิดเกล้าอย่างผิดๆ ด้วยแล้ว ชีวิตครอบครัวของสุขสมจึงมีปัญหาและปัญหานั้นก็ส่งผลกระทบถึงลูกด้วย

บังเกิดเกล้าเป็นนวนิยายที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของ “แม่” ที่เปลี่ยนไป เพราะค่านิยมผิดๆ ทำให้อุดมการณ์ของความเป็นแม่บังเกิดเกล้าเหลือน้อยเต็มที ถึงกระนั้นความลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดก็คือการให้เหตุผลว่าการที่แม่มิอาจธำรง “บังเกิดเกล้า” ไว้ได้นั้น ไม่ใช่เป็นเพราะกมลสันดาน แต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอกที่มิอาจกำหนดได้ ดังที่ตัวละครอย่างชัชรินทร์และสุขสมประสบอยู่นั่นเอง


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ

ภาพ: อินเตอร์เน็ต

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!