โธ่! มี ‘ปัญญาเท่าหางอึ่ง’

-

วันหนึ่งในวงสนทนาเล็กๆ เกี่ยวกับเรื่องจิปาถะ คนหนึ่งถามเปรยๆ ขึ้นว่าอึ่งมีหางไหมนะ ก็มีเสียงหนึ่งตามมาว่าไม่มี แต่อีกเสียงหนึ่งแย้งว่าน่าจะมีนะ เพราะมีสำนวนไทย “ปัญญาเท่าหางอึ่ง” ใช้กันมาแต่ไหนแต่ไร หัวข้อสนทนาในวันนั้นจึงเป็นที่มาของการนำเสนอ “คมคำสำนวนไทย” ในฉบับนี้

 

ปัญญาเท่าหางอึ่ง

อึ่ง (อี่งอ่าง) เป็นสัตว์สี่เท้าครึ่งบกครึ่งน้ำ คืออาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก  เป็นสัตว์เลือดเย็น  มีลักษณะรูปร่างคล้ายกบ เขียด คางคก สัตว์จำพวกนี้ออกลูกเป็นไข่ในน้ำมีวุ้นหุ้มห่ออยู่เกาะกันเป็นกลุ่ม เมื่อลูกอ่อนออกจากไข่มีรูปร่างคล้ายปลา หัวโต หางยาว เรียกชื่อเหมือนกันว่า “ลูกอ๊อด” ครั้นเจริญวัยขึ้นหางจะค่อยๆ หดลงและเริ่มมีขางอกออกมา จนเมื่อโตเต็มวัยรูปร่างก็เปลี่ยนไปและขึ้นมาอยู่บนบกแต่ก็สามารถอยู่ในน้ำได้นาน เรียกชื่อต่างกันเป็นอึ่ง กบ เขียด คางคก ส่วนหางก็สั้นลงแต่ไม่ถึงกับเหี้ยนกุดยังคงเหลือเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ ที่ยื่นออกมาพอให้สังเกตเห็นได้ ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้เองจึงมีผู้นำความสั้นของหางอึ่งมาใช้เป็นสำนวนเปรียบอันแหลมคมทิ่มแทงใจผู้ถูกเปรียบ

ในสำนวน “ปัญญาเท่าหางอึ่ง” คำว่า “เท่า” มีความหมายว่า แค่, เพียง, เหมือน เมื่อนำสำนวนนี้มาใช้เปรียบกับผู้ใดจึงหมายถึงผู้นั้นมีปัญญาหรือความรู้น้อยมากเหมือนหางของอึ่งซึ่งแสนสั้น เช่น เมื่อภาคเพื่อนรักมาบอกว่าอยากจะลาออกจากที่ทำงานซึ่งทำมานานเกือบ 10 ปี เพราะถูกหัวหน้าตำหนิเรื่องการทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่บรรลุจุดประสงค์ ภูมิก็พูดขึ้นว่า “คิดได้ไง ตอนเด็กๆ ข้าก็ว่าเอ็งฉลาดไม่ใช่ย่อย แต่ทำไมยิ่งโตยิ่งโง่ มีปัญญาเท่าหางอึ่ง งานสมัยนี้หาง่ายซะเมื่อไหร่ อยู่ที่นี่เงินเดือนก็ดี สวัสดิการก็เพียบ คิดผิดคิดใหม่ได้นะ”

ที่สุดนี้ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านน่าจะได้คำตอบแล้วว่าอึ่งมีหางไหม?

 

 

เมื่อเขียนถึงสำนวนที่เกี่ยวกับอึ่งแล้วก็จะขอเขียนถึงสำนวนที่เกี่ยวกับกบและเขียดที่น่าสนใจคือ “กบในกะลาครอบ” และ “ตายอย่างเขียด”

 

กบในกะลาครอบ

“กบในกะลาครอบ” (บางคนใช้เพียงสั้นๆ ว่า “กบในกะลา”) มีความหมายตรงตามตัวอักษรคือหมายถึงกบที่อยู่ในกะลาที่คว่ำครอบตัวมัน (กะลาคว่ำมีลักษณะเดียวกันกับขันหรือชามคว่ำ) ถ้ากบอยู่ภายในกะลาครอบจะมีขอบเขตในการมองเห็นที่แคบมาก ต่อเมื่อได้ออกมาจากกะลา ขอบเขตในการมองเห็นของมันก็จะกว้างขึ้น

เมื่อมีผู้นำ “กบในกะลาครอบ” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบจะหมายถึงคนที่มีวิสัยทัศน์แคบมาก คือมีความรู้ความคิดที่ไม่กว้างไกล เช่น เด่นชวนดีพี่ชายที่ชอบเก็บตัวไม่ยอมออกสังคมไปงานเลี้ยงสังสรรค์ศิษย์เก่าของโรงเรียนมัธยมที่เคยเรียน แต่ก็ถูกปฏิเสธเหมือนเคย จึงพูดว่า “พี่น่าจะออกไปเจอเพื่อนๆ บ้าง ได้แต่ขลุกอยู่แต่ในบ้านอย่างนี้ เวลาใครคุยเรื่องอะไรกันก็ทำหน้าเหลอหลาไม่รู้เรื่อง ทำตัวเหมือนกบในกะลาครอบ”

 

ตายอย่างเขียด

 แม้ว่าเขียด กบ อึ่งอ่าง คางคก เป็นสัตว์ที่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีขนาดและรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปเขียดตัวเล็กกว่ากบ เขียดมีสองขาหลังที่ใหญ่และยาวกว่าสองขาหน้ามาก ซึ่งจะเห็นได้ชัดตอนมันตายในท่าที่คุ้นตา คือนอนหงายท้อง ขาเหยียดยาว

ได้มีผู้นำท่านอนตายของเขียดมาใช้เป็นสำนวนเปรียบว่า “ตายอย่างเขียด” ให้หมายถึงคนที่ตกอยู่ในสภาพสิ้นท่า ไม่มีทางเป็นอื่น เช่น ในตอนเช้าออดเล่าให้จอมเพื่อนสนิทในที่ทำงานฟังว่าเจ้านายใหญ่เรียกให้เข้าพบบ่ายวันนี้ ก็คงจะให้ชี้แจงเรื่องที่ตนขาดงานบ่อยๆ จอมจึงแนะนำว่า “เอ็งต้องพูดความจริง อธิบายให้ท่านเข้าใจว่ามีความจำเป็นขนาดไหน ถ้าเหตุผลไม่มีน้ำหนักพอ ข้าว่าคราวนี้เอ็งต้องตายอย่างเขียดแน่ คงถูกเชิญให้ออกจากงานท่าเดียวแหละ”


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!