กรรมของควาย

-

                ตามประสาชาวชนบทที่มีพื้นเพมาจากบ้านไร่ปลายนา กระผมคุ้นเคยกับควายมาแต่อ้อนแต่ออก ภารกิจของควายเท่าที่พบเห็นเจนตามักเกี่ยวกับการทำนา เริ่มตั้งแต่แรกนา ไถดะ ไถแปร คราด ตีเทือกหว่านกล้า ครั้นสิ้นฤดูกาลหว่านไถก็ว่างงานมีเวลาพักผ่อนนอนเคี้ยวเอื้อง จนถึงฤดูเก็บเกี่ยวต้องผจญงานหนักอีกหลายเหงื่อ ทั้งลากข้าว นวดข้าว ฯลฯ เสร็จงานก็ได้พักผ่อน

นั่นเป็นงานของควายอาชีพชาวนาที่ต้องตรากตรำจำเจตามวิถีควายยุคโบราณ ยังมีควายบางย่านบางตำบลที่ประสบชะตากรรมหนักหนากว่าควายอาชีพชาวนาทั่วไป คือเสร็จงานนาแล้วไม่มีเวลาว่างให้พักผ่อน ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่มีค่าตอบแทนพิเศษ ซ้ำร้ายงานที่เพิ่มขึ้นยังสาหัสแทบล้มประดาตาย คือ อาชีพควายหีบอ้อยและควายลากเรือคลองโยง

สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ย่านบางกร่าง บางคูเวียง บางสีทอง อาชีพอย่างหนึ่งของราษฎรละแวกนี้คือ การทำ “สวนอ้อย” และผลิตผลจากอ้อยคือ น้ำอ้อย อันเป็นที่มาของน้ำตาลทราย ซึ่งเกิดจากการคั้นน้ำอ้อยแล้วนำไปเคี่ยวในกระทะ มีชาวจีนตั้งโรงหีบอ้อยขึ้นในย่านนั้นหลายโรง

ลักษณะของ “หีบ” ทำด้วยขอนไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่สลักเป็นฟันเฟือง (คล้ายที่บดปลาหมึก) ปักในแนวตั้งใช้ควายเทียมหมุนเสาแล้วสอดลำอ้อยเข้าไประหว่างลูกหีบ (เฟือง) บีบลำอ้อยให้แหลก น้ำอ้อยจะไหลลงรางไปยังภาชนะแล้วนำไปเคี่ยว ก็แลหีบสำหรับคั้นน้ำอ้อยแบบนี้แหละ เป็นที่มาของสำนวน “เอามือซุกหีบ”หมายถึงหาเรื่องเดือดร้อนด้วยการเอามือยัดเข้าไประหว่างลูกหีบที่กำลังคั้นน้ำอ้อย ผลที่ได้จะเป็นอย่างไรคงไม่ต้องอธิบายนะครับ

วรรณคดีนิราศสมัยรัชกาลที่ ๓ หลายเรื่องที่ท่านเดินทางผ่านย่านโรงหีบอ้อยกล่าวถึงชะตากรรมของควายที่ต้องเดินวนซ้ำซาก คอเทียมแอกเดินหมุนลูกหีบอ้อย เช่น

โรงหีบหนีบอ้อยออด              แอดเสียง

สองข้างรางรองเรียง                              รับน้ำ

อ้อยใส่ไล่ควายเคียง                             คู่วิ่ง  เวียนเอย

อกพี่นี้ชอกช้ำ                                         เช่นอ้อยย่อยระยำ

(โคลงนิราศสุพรรณ ของ สุนทรภู่)

เห็นโรงหีบหนีบอ้อยเขาคอยป้อน          มีคนต้อนควายตวาดไม่ขาดเสียง

เห็นน้ำอ้อยย้อยรางที่วางเรียง                              โอ้พิศเพียงชลนาพี่จาบัลย์

(นิราศพระประธม ของ สุนทรภู่)

เป็นอันว่าที่ไหนมีโรงหีบอ้อย ก็ต้องให้ควายปฏิบัติภารกิจในการหมุนลูกหีบ คราวที่ท่านสุนทรภู่เดินทางไป “นมัสการพระประธมบรมธาตุ” ท่านได้เห็นชะตากรรมของ “ควายลากเรือ” ในคลองโยงซึ่งแนวลำคลองตื้นเขินจนเรือพายผ่านไปไม่ได้ ชาวบ้านย่านนั้นมีอาชีพรับจ้างใช้เชือกหนังโยงเรือผูกติดกันเป็นพรวน แล้วบังคับควายให้ลากไปจนพ้นเขตลำคลองที่ตื้นเขิน อันเป็นที่มาของชื่อคลองโยง ท่านสุนทรภู่พรรณนาสภาพอันน่าสมเพชเวทนาของควายลากเรือในคลองโยงไว้ว่า

ที่ริมคลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน                 น่าสำราญเรียงรันควันโขมง

ถึงชะวากปากช่องชื่อคลองโยง                            เป็นทุ่งโล่งลิบลิ่วหวิวหวิวใจ

มีบ้านช่องสองฝั่งชื่อบางเชือก                               ล้วนตมเปือกเปะปะสวะไสว

ที่เรือน้อยลอยล่องค่อยคล่องไป                            ที่เรือใหญ่โป้งโล้งต้องโยงควาย

เวทนากาสรสู้ถอนถีบ                                           เขาตีรีบเร่งไปน่าใจหาย

ถึงแสนชาติจะมาเกิดกำเนิดกาย                         อย่าเป็นควายรับจ้างที่ทางโยง

นิราศพระแท่นดงรัง ของ หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) แต่งขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ร่วมสมัยกับนิราศพระประธม ของท่านสุนทรภู่ บรรยายสภาพควายลากเรือในคลองโยงไว้ว่า

มาตะบึงลุถึงหัวโยงเชือก                      เป็นโคลนเทือกท้องนาชลาสินธุ์

คลองก็เล็กน้ำก็ตื้นเห็นพื้นดิน                              ไม่น่ากินน้ำท่าระอาใจ

ต้องจ้างโยงโยงเรือเหลือลำบาก                          ให้ควายลากเรือเลื่อนเขยื้อนไหว

ผูกระนาวยาวยืดเป็นพืดไป                                  ทั้งเจ๊กไทยปนกันสนั่นอึง

 

 

คลองโยงเป็นเส้นทางวิบาก ราษฎรที่จะไปไหว้พระประธมครั้งต้นกรุงต้องจ่ายค่าจ้างควายโยงเรือลำละสลึง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ มีพระราชศรัทธาพระประธมเป็นอย่างยิ่ง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการหลายครั้ง โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระสถูปใหญ่ครอบพระประธมองค์เดิม พระราชทานเปลี่ยนนามเป็น “พระปฐมเจดีย์” และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหาสวัสดิ์เชื่อมระหว่างคลองบางกอกน้อยกับแม่น้ำนครชัยศรี เป็นเส้นทางสำหรับนมัสการพระปฐมเจดีย์ ผู้คนจึงเปลี่ยนจากเส้นทางเดิมไปใช้คลองมหาสวัสดิ์ที่ตัดตรงน้ำเปี่ยมฝั่ง คลองโยงจึงลดความสำคัญลงไป

อาชีพควายลากเรือคลองโยงก็เลิกลาไปโดยปริยาย


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!