ดอกไม้เข้าพรรษา

-

ถึงเดือนแปดแดดอับพยับฝน ฤดูดลพระวษาเข้ามาขวาง
จวนจะบวชเป็นพระสละนาง อยู่เหินห่างเห็นกันเมื่อวันบุญ

(นิราศเดือน ของเสมียนมี)

เข้าพรรษาเป็นเทศกาลสำคัญยิ่งของพุทธศาสนิกชนไทย วิถีชาวนาไทยเมื่อถึงเดือน 6 ก็ไถหว่าน
ปักดำข้าวกล้า หลังจากนั้นก็คอยดูแลพืชผลไร่นาให้เติบโตไปตามกาลตลอดฤดูฝน มีเวลาว่างจากการไร่การนา ฝนฉ่ำฟ้าผักปลาอุดมสมบูรณ์ ช่วงเข้าพรรษาระหว่างเดือน 8 ถึงเดือน 11 จึงเป็นเทศกาลแห่งความสุข ก่อนที่ฤดูเก็บเกี่ยวจะมาถึงในอีกสองเดือนข้างหน้า

งานบุญใหญ่เข้าพรรษา ทุกบ้านต้องจัดเตรียมอาหารคาวหวานที่ตั้งใจประดิดประดอยเป็นพิเศษ มีขันข้าว โถแกงใส่กระเช้า แต่งกายสะอาดสะอ้าน เดินเป็นแถวไปวัด ผู้เฒ่าผู้แก่มักใส่เสื้อขาว พาดผ้ากราบสีขาวสไบเฉียง สาว ๆ แต่งผ้าสีสดใส มีทองหยองเครื่องประดับก็แต่งไปอวดกันในงานบุญ ครั้นถึงวัดก็ตรงไปยังศาลาใส่บาตร ซึ่งเป็นศาลาโถงหลังเล็กมีชานแล่นต่อกันกับการเปรียญหลังใหญ่ ที่ศาลาใส่บาตรนี้ เด็กวัดจะนำบาตรของพระสงฆ์สามเณรทุกรูปมาวางบนเชิงบาตรเปิดฝาตั้งโต๊ะสำหรับญาติโยมใส่บาตร และถ่ายแกงจากโถใส่ถ้วยสำหรับถวายพระก่อนที่จะเข้าไปนั่งในศาลาการเปรียญ

ครั้นสมควรแก่เวลา มรรคทายกก็จะเคาะระฆังเป็นสัญญาณให้พระสงฆ์สามเณรลงมายังศาลาการเปรียญ พระสงฆ์ห่มดองพาดผ้าสังฆาฏิคาดรัดประคดเดินอย่างเรียบร้อยไปนั่งสำรวมบนอาสน์สงฆ์ สวดพระพุทธมนต์และฉันภัตตาหาร เสร็จพิธีชาวบ้านก็รับประทานอาหารร่วมกัน คาวหวานหลากชนิด หลากฝีมือ นั่นเป็นภาพที่ผู้เขียนคุ้นชินเมื่อ 60 ปีที่แล้ว 

วันเข้าพรรษานอกจากกระทำบุญใหญ่แล้วยังมีการถวายของเป็นพิเศษสำหรับพระภิกษุที่จำพรรษาคือ เทียนพรรษา และผ้าจำนำพรรษา มูลเหตุของการถวายเทียนพรรษานั้น เนื่องมาจากเทศการเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์ต้องจำพรรษาที่วัด และทำสังฆกรรมในอุโบสถ ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝน บางครั้งต้องปิดประตูหน้าต่าง ทำให้แสงสว่างไม่เพียงพอ จึงต้องจุดเทียนขนาดใหญ่ให้สว่างเห็นทั่วบริเวณที่ประกอบสังฆกรรม

การหล่อเทียนพรรษาซึ่งเป็นเทียนขนาดใหญ่ต้องอาศัยความสมัครสมานสามัคคีกันจึงจะสำเร็จ ต้องรวบรวมขี้ผึ้งซึ่งหาได้ยากเป็นจำนวนมาก นำมาหลอมละลายเพื่อทำเป็นเทียนแท่งใหญ่ หลังจากหล่อสำเร็จจึงมีการแห่แหนเอิกเกริกก่อนจะถวายเป็นพุทธบูชา การถวายเทียนพรรษานี้บางท้องถิ่นปรับแปรเป็นถวาย ‘ปราสาทผึ้ง’ คือการเอาขี้ผึ้งมาทำเป็นรูปปราสาทหรือรูปอื่น ๆ แล้วนำไปถวายพระสงฆ์เพื่อให้ท่านนำไปแปรสภาพเป็นเทียนให้แสงสว่างในช่วงเข้าพรรษา

การถวายผ้าจำนำพรรษาหรือบางแห่งเรียกว่า ‘ถวายผ้าอาบน้ำฝน’ คือผ้าผืนเล็ก ๆ สีเดียวกับจีวร ขนาดผ้าขาวม้า สำหรับพระสงฆ์นุ่งอาบน้ำ ซึ่งชาววัดเรียกย่อๆ ว่า ‘ผ้าอาบ’ การถวายผ้าจำนำพรรษา ครั้งโบราณนั้นมักตกแต่งสิ่งของถวายเป็นเครื่องบริวารอย่างวิจิตรพิสดาร ดังในนิราศเดือน ของเสมียนมี กล่าวถึงเครื่องถวายพระในเทศกาลเข้าพรรษาครั้งรัชกาลที่ 3 ว่า

ประดับพุ่มบุปผาพฤกษากระถาง รูปแรดช้างโคควายขายกันวุ่น
ตุ๊กตาเจ้าพราหมณ์งามละมุน ต้นพิกุลลิ้นจี่ดูดีจริง
ต้นไม้ทองเสาธงหงส์ขี้ผึ้ง คู่ละสลึงเขาขายพวกชายหญิง
อุณรุทยุดกินนรชะอ้อนพริ้ง มีทุกสิ่งซื้อมาบูชาพระ

นั่นเป็นดอกไม้ถวายพระเมื่อเข้าพรรษาอย่างโบราณยุคต้นกรุง ต่างจากยุคโบราณ 60-70 ปีที่กระผมเคยประสบพบเจอคือ ต้นไม้ กิ่ง ก้าน ทำด้วยลวดหุ้มกระดาษสี ใบและดอกทำด้วยกระดาษหรือไม้โสน ย้อมสีจัดจ้าน วัฒนธรรมถวายดอกไม้เข้าพรรษาน่าจะเลิกลาไปหลายปีแล้ว หากเสมียนมีท่านไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวในยุคของท่านไว้ เราก็คงไม่รู้

เสมียนมี หรือ หมื่นพรหมสมพัตสร เป็นกวีรัตนโกสินทร์แผ่นดินรัชกาลที่ 3 มีผลงานกวีนิพนธ์ที่สำคัญ เช่น  นิราศเดือน  นิราศสุพรรณ  นิราศถลาง  สุบิน ก กา  และศรีสวัสดิ์วัด เป็นต้น

ของถวายพระเข้าพรรษาที่เล่ามานั้นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านญาติโยมนำไปถวายพระสงฆ์ ในส่วนของพระสงฆ์ท่านก็มี ‘พุ่มเทียน’ เป็นเครื่อง ‘ทำวัตร’ บูชาอุปัชฌาย์อาจารย์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พุ่มเทียนที่ว่านี้อาจเรียกว่า ‘พนมเทียน’ ก็ได้ โครงในของพุ่มทำด้วยกระดาษทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบเดียวกันกับพนมดอกไม้พุ่ม ขนาดกว้างประมาณ 6-7 นิ้ว ด้านนอกโครงกระดาษติดเกร็ดขี้ผึ้งสีขาวๆ เหลืองๆ ตั้งบนฐานดินเผา ช่วงต้นพรรษาพระสงฆ์ผู้เป็นศิษย์จะนำพุ่มเทียนและเทียนแพ ไปกราบ ‘ทำวัตร’ ครูอาจารย์พระสงฆ์ผู้ใหญ่ ขนบนี้ยังถือปฏิบัติอยู่ในบางพระอาราม แต่เหลือเพียงดอกไม้กับเทียนแพไม่มีพุ่มเทียน

เวลาเปลี่ยนไป อะไรๆ ก็เปลี่ยน


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!