พระพุทธเจ้าเขาปถวี

-

พระพุทธเจ้าเขาปถวี

พระพุทธศาสนาประดิษฐานมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน ว่ากันตามหลักฐานพุทธประวัติแล้วพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นบริเวณตอนเหนือของประเทศอินเดีย และไม่เคยเสด็จมายังดินแดนที่เป็นประเทศไทย ทว่าปูชนียสถานสำคัญในประเทศไทยหลายแห่งมีตำนานว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปที่นั่น ทั้งมีพุทธทำนายว่า ตรงนั้นต่อไปภายหน้าจะเป็นบ้านเมืองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง

พระธาตุหริภุญชัย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองหริภุญชัย ตามตำนานระบุว่าเป็นที่พระพุทธเจ้าประทับฉันผลสมอ (หริ = สมอ, ภุญชย = ฉัน,บริโภค) ดังปรากฏในตำนานพระธาตุว่า

“พระพุทธเจ้าเลียบแม่น้ำระมิงคือว่าแม่พิงขึ้นมาพายเหนือเถิงอุตรฐานที่นี้ ฮู้ว่าจักเป็นที่ตั้งสุวันนเจดีย์แห่งหั้นแล้ว พระพุทธเจ้าก็ปรารภเพื่อว่าจักนั่ง ไนขนะอันนั้น หินก้อนหนึ่งก็บุแผ่นดินออกมาตั้งหยู่ พระพุทธเจ้าวางบาตรไว้แล้วก็นั่งหยู่เหนือหินก้อนนั้น ไนกาลนั้นชมพูนาคราชก็ออกมาอุปถากพระพุทธเจ้า พระยากาเผือกก็ออกมาอุปถากพระพุทธเจ้า ลัวะพรานป่าผู้หนึ่งหื้อหมากสมอเป็นทานแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสันหมากสมอแล้ว ซัดกะดูกหมากสมอลงเหนือแผ่นดิน กะดูกหมากสมออันนั้นก็แวดวัดผัด 3 รอบ พระพุทธเจ้ารู้เหตุอันนั้นแล้ว แย้มไค่หัวหื้อปากต มหาอนนท์ถามเหตุอันนั้นเซิ่งพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทำนวายว่า ดูราอานนท์ เมื่อตถาคตนิพพานแล้วช้านาน ถานะที่นี้จักเปนมหานครอันหนึ่ง ชื่อว่าเมืองหริภุญชัยบุรี เหตุพระตถาคตได้สันมากสมอไนถานะที่นี้”

นอกจากพระธาตุหริภุญชัยแล้ว ยังมีพระธาตุสำคัญหลายองค์ในอาณาจักรล้านนาโบราณที่มีตำนานว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาที่นั่น เช่น พระธาตุดอยตุง พระธาตุช่อแฮ พระธาตุแช่แห้ง เป็นต้น พระธาตุดังกล่าวล้วนเป็นศูนย์กลางชุมชนที่นับถือพระพุทธศาสนามาแต่โบราณ

เขาปถวีอยู่ในเขตจังหวัดสระบุรี ปัจจุบันเรียกกันว่า เขาพระฉายหรือเขาพระพุทธฉาย เป็นที่ตั้งของ “พระฉาย” ปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่ง พระฉายคือเงาของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงปาฏิหาริย์ประทับไว้เหนือเพิงผาเชิงเขาปถวี คำให้การชาวกรุงเก่าซึ่งพม่าบันทึกจากคำให้การของชาวกรุงศรีอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปคราวกรุงแตก พ.ศ. 2310 กล่าวถึงตำนานพระพุทธฉาย เขาปถวีไว้ว่า

“วันหนึ่งพระองค์เสด็จเข้าสู่มหากรุณาสมาบัติ ทรงเลือกเล็งแลดูเวไนยเผ่าพันธุ์ อันควรจะได้มรรคผลธรรมวิเศษมีสรณะแลศีลเป็นต้น ทรงเห็นบรรพตน้อยแห่งหนึ่งเรียกว่าเขาปถวี อยู่ในแว่นแคว้นแดนโยนกประเทศ ปรากฏในข่ายคือพระญาณ ทรงทราบว่าภูมิลำเนาแห่งเขาน้อยนั้น ในอนาคตเบื้องหน้าต่อไป จะเปนที่ก่อสร้างบุญกุศลของหมู่มหาชนอันมาแต่ทิศานุทิศ…ฯลฯ…จึงเสด็จด้วยพุทธปาฏิหาริย์ไปโดยทางนภากาศ พอจวนจะถึงเขาปถวี มหาเมฆก็บันดาลให้ฝนห่าใหญ่ตกลงมา พระองค์จึงเสด็จประทับยืนพักพระอิริยาบถอยู่ที่เงื้อมผาเชิงเขานั้น ด้วยเดชพระพุทธานุภาพ เมล็ดฝนสักหยาดหนึ่งจะตกต้องพระบวรกายของพระองค์หามิได้ ท่อธารน้ำนั้นไหลล้นไปยังเชิงเขาข้างหนึ่งทั้งสิ้นเป็นมหัศจรรย์ ในขณะนั้นพระองค์จึงทรงเปล่งพระรัศมีหกประการ ทรงอธิษฐานให้ฉายาพระพุทธรูปของพระองค์ไปประดิษฐานติดอยู่กับเพิงผานั้น”

ตำนานพระพุทธบาทและพระพุทธฉายที่ระบุว่าสถานที่ดังกล่าว เป็นสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า น่าจะเป็นเหตุผลที่เนื่องมาจากการเมืองการปกครองและความมั่นคงที่เกิดจากการหลอมรวมศรัทธาของผู้คน เช่นเดียวกับ บึงสีชัน หรือ บึงหนองโสน ซึ่งปัจจุบันคือ บึงพระราม ที่มีตำนานว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับ ทั้งมีพุทธทำนายว่า ในอนาคตบริเวณดังกล่าวจะเป็นที่ตั้งของมหานคร

จำเนียรกาลผ่านมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดฯ ให้สถาปนาวิหารและมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทขึ้นบริเวณเขาปถวี สำหรับเป็นที่แสวงบุญคู่กับพระพุทธบาท พระพุทธฉาย เขาปถวีเป็นปูชนียสถานที่มีผู้ศรัทธาไปแสวงบุญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่เนื่องจากการเดินทางในครั้งนั้นลำบาก จึงมีการจำลองทั้งพระพุทธบาทและพระพุทธฉายไปไว้ที่กรุงเทพฯ หลายแห่งเช่นที่วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดราชนัดดาราม วัดอมรินทราราม เป็นต้น สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เดินทางไปยังสถานที่จริงได้นมัสการ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 หลวงจักรปาณี หรือ มหาฤกษ์ มีโอกาสเดินทางไปนมัสการพระพุทธฉายที่เขาปถวี และได้แต่ง “นิราศพระปถวี” ขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2418 หนทางที่ไปในครั้งนั้นยังรกร้างอุดมด้วยพฤกษานานาสัตว์

ทั้งรอกแย้ตุ่นกระแตกระต่ายเต้น                         ไก่เถื่อนเร้นรกเลี้ยวล้วนเปรียวปร๋อ

นกเขาไฟไก่ฟ้าพญาลอ                                  เขาขันคลอคู่เคล้าเขาชวา

                                            ฯลฯ

ถึงเงื้อมเขาเข้าชลาตรงหน้าพระ                         สาธุสะมิได้เสื่อมที่เลื่อมใส

น้อมประนมชมพระฉายพรายประไพ                     อยู่ที่ในเงื้อมผาหน้าคิรี

พระสัณฐานสูงประมาณหกศอกนะ                      เป็นแปดศอกทั้งพระรัศมี

ก็สมควรส่วนมาในบาลี                                   ดูเหมือนทีอุ้มบาตรทรงยาตรา

ตามพระองค์ดุจทรงกาสาวพัสตร์                        พระบาทหยัดเหยียบยืนกับพื้นผา

เขาปิดทองผ่องทับแทบลับตา                           แต่พระชานุพระชงฆ์นั้นลงไป

ตอนจบของนิราศพระปถวี มหาฤกษ์ท่านแผ่ส่วนกุศลให้คนอ่านนิราศและญาติมิตรตามวิสัยนักเลงกลอน

ขอแผ่ผลส่วนกุศลให้สมหวัง                             ทั้งผู้ฟังผู้อ่านสารนุสนธิ์

ฉันตั้งใจให้ทั่วทุกตัวคน                                  จงมีกมลโมทนาปลื้มอาลัย

ทั้งนารีที่รักหรือลักลอบ                                  ยังนึกขอบคุณคิดพิสมัย

จงโมทนาอานิสงส์เหมือนจงใจ                         จบเรื่องไปปถวีเท่านี้เอย ฯ


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี / เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์  ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All magazine ตุลาคม 2565

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!