วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว: มนุษย์ย่อมโหยหามิตรภาพและความรัก

-

เมื่อแม่เสียชีวิตกะทันหัน  ทิ้งมรดกร้านอาหารและเงินจำนวนหนึ่งไว้ให้      รวมทั้งสมุดบัญชีเงินฝากของพ่อที่เธอไม่เคยรู้จัก ประจวบกับต้องออกจากงานบรรณาธิการที่เธอรัก อากิโกะจึงตัดสินใจเปิดร้านอาหารอีกครั้ง โดยปรับปรุงเป็นร้านอาหารที่ตกแต่งเรียบง่ายจนขาประจำกลุ่มเดิมของแม่    เปรียบว่าเหมือนโรงอาหารในวัด เมนูของเธอมีเพียงขนมปัง  ซุป และสลัด

วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว  เป็นผลงานเขียนของนักเขียนหญิงชาวญี่ปุ่นชื่อ มูเระ โยโกะ แปลเป็นภาษาไทยโดย สิริพร  คดสาคร เป็นหนังสือเล่มบางๆ หน้าปกโทนสีขาวสะอาดตา เรื่องที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและสงบนิ่งสะท้อนความเป็นญี่ปุ่น หนังสือเล่าเรื่องราวของอากิโกะสาวโสดวัยห้าสิบที่มีอุปนิสัยและรสนิยมตรงข้ามกับแม่ของเธอ  เธอเกลียดที่แม่กินเหล้าสูบบุหรี่ สังสรรค์กับบรรดาลูกค้าขาประจำที่กินเหล้าไม่ยอมเลิกหลังร้านปิด สำหรับอากิโกะ  แม่เป็นตัวอย่างของชีวิตด้านที่เธอไม่อยากเป็น อากิโกะเล่าถึงความสัมพันธ์ของเธอกับแม่ ซึ่งดูเหมือนว่าจะ “เข้ากันไม่ได้”  เสียทุกเรื่อง  แต่สิ่งที่ผู้อ่านสัมผัสได้ระหว่างบรรทัด  คืออากิโกะเป็นลูกสาวที่แม่รักและภาคภูมิใจ แม่อยากให้ลูกสาวมีการศึกษาสูง  ได้แต่งงานมีครอบครัวอบอุ่น  มีคนเลี้ยงดูให้มีความสุข การที่อากิโกะไม่ได้เป็นอย่างที่แม่ใฝ่ฝันอาจเป็นชัยชนะที่ซ่อนอยู่ในความสงบเงียบของเธอ อย่างไรก็ตาม แม้แม่กับลูกจะมีนิสัยและพฤติกรรมต่างกัน แต่สิ่งที่ทั้งสองมีเหมือนกันคือความกล้าสู้ชีวิต  และยึดมั่นแนวทางที่ตนเลือกอย่างเด็ดเดี่ยว ดังที่แม่ยินดีเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว (single mom) เลี้ยงลูกสาวตามลำพัง ไม่ปริปากบอกเล่าเรื่องพ่อ  และไม่แสดงความเจ็บปวดระทมทุกข์กับเสียงครหานินทาของสังคม

เมื่อแม่เสียชีวิตกะทันหัน  ทิ้งมรดกร้านอาหารและเงินจำนวนหนึ่งไว้ให้ รวมทั้งสมุดบัญชีเงินฝากของพ่อที่เธอไม่เคยรู้จัก ประจวบกับต้องออกจากงานบรรณาธิการที่เธอรัก อากิโกะจึงตัดสินใจเปิดร้านอาหารอีกครั้ง โดยปรับปรุงเป็นร้านอาหารที่ตกแต่งเรียบง่ายจนขาประจำกลุ่มเดิมของแม่เปรียบว่าเหมือนโรงอาหารในวัด เมนูของเธอมีเพียงขนมปัง  ซุป และสลัด  มีตัวเลือกแค่อย่างสองอย่างแต่เปลี่ยนทุกวัน เธอเลือกใช้วัตถุดิบที่ดี ปรุงอาหารด้วยความประณีตพิถีพิถัน   เน้นรสชาติที่ไม่ปรุงแต่ง  เพราะต้องการให้ผู้รับประทานซึมทราบรสของอาหารที่แท้มากกว่ารสชาติของเครื่องปรุงรส

 

วิถีทางของอากิโกะเป็นทางเลือกใหม่ที่แปลกต่างจากวิถีเดิมที่คนคุ้นเคย จึงสร้างความโกลาหลเล็กๆ แก่ชุมชนในย่านนั้นอยู่บ้าง การตกแต่งร้านและใช้ภาชนะในโทนสีเรียบขรึม การขายอาหารง่ายๆ เพียง 2-3 อย่าง การไม่เพิ่มสินค้าเมื่อขายหมด การปิดร้านยาวหลายวัน เมนูและรสอาหารที่ไม่ใช่สำหรับคนทั่วไป  แต่เจาะจงลูกค้าที่พึงพอใจอาหารรสธรรมชาติจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนสร้าง “บุคลิก” ของร้านเธอซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตแบบเดิมๆ ของคนในย่านนั้น  อย่างน้อยบรรดาลุงขี้เหล้าขาประจำก็ไม่มีที่ให้นั่งแช่ก้นอีกต่อไป ส่วนบรรดาป้าๆ ที่เปิดร้านขายของมาเนิ่นนานต่างก็ “ตักเตือน”  และบอกเคล็ดลับการทำร้านที่ “เรียกลูกค้า” ให้อากิโกะฟัง อากิโกะมีบุคลิกที่อ่อนน้อม  สงบเงียบ เธอรับฟังแต่ก็มีแนวทางของตนเองและมุ่งมั่นเดินไปตามเส้นทางนั้นอย่างกล้าหาญ ดังที่เธอกล่าวว่าสิ่งที่เธอยอมไม่ได้ที่สุดคือการไม่ชัดเจนต่อความรู้สึกของตัวเอง” (หน้า 43) เธอจึงไม่คอยจับกระแสนิยมของลูกค้า ไม่คอยเปลี่ยนสินค้าในร้านตามกระแสสังคมหรือตามคำแนะนำของคนอื่น

แนวทางของอากิโกะน่าจะเป็นแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจเล็กๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์และแสดงความเป็นตัวเองว่าต้องมีความอดทนมุ่งมั่น  ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แม้อากิโกะจะรู้สึกกดดันอยู่บ้างว่ารูปแบบการตกแต่งร้านและอาหารที่เธอขายจะตัดรอนสายสัมพันธ์กับเพื่อนๆ เก่าแก่ของแม่  เพราะต่างรสนิยมกัน  หรือทำให้ลูกค้าบางส่วนพากันไปอุดหนุนร้านเปิดใหม่เพราะรสอาหารจัดจ้านกว่า แต่ก็มีลูกค้าที่พึงพอใจในรสชาติอาหารและความสะอาดปลอดภัย  วัตถุดิบคุณภาพดีที่เธอปรุงด้วยใจทำให้ลูกค้ามาอุดหนุนเต็มร้านอย่างสม่ำเสมอ   อากิโกะโชคดีที่เธอมีชิมะจัง ผู้ช่วยทำงานในร้านเป็นคู่คิดและช่วยผ่อนแรง นับว่าเป็นมิตรภาพจากคนที่เพิ่งรู้จักและทำให้เธอพบเพื่อนแท้

ในระหว่างการเล่าเรื่องร้านอาหาร ผู้เขียนให้อากิโกะเล่าเรื่องทาโระแมวอ้วนคู่ใจและคู่กายของเธอด้วย  เมื่ออากิโกะเสร็จงานปิดร้านอาหารแล้ว  ทาโระก็จับจองเป็นเจ้าของเวลาของทาสแมวอย่างเต็มที่ ความผูกพันระหว่างอากิโกะกับทาโระจึงลึกซึ้งและเหนียวแน่นเสียยิ่งกว่าความผูกพันระหว่างอากิโกะกับแม่ เป็นความรักและมิตรภาพที่ถมช่องว่างแห่งความโดดเดี่ยวเดียวดายในชีวิตของอากิโกะจนเกือบเต็ม ดังนั้น  เมื่อทาโระตายจากไป โลกของอากิโกะจึงเหมือนถล่มทลาย เธอร่ำไห้ฟายน้ำตาอยู่กับถ่านเถ้าของอากิโกะเนิ่นนานเหมือนถอนหัวใจออกจากความทุกข์โศกไม่ได้เสียที

ในขณะที่เรื่องดำเนินไปอย่างเรียบๆ เรื่อยๆ  ด้วยประเด็นที่ตัวละครตั้งข้อสงสัยและค้นหาคำตอบของวิถีชีวิตที่ตนเลือกเดิน ผู้แต่งก็สร้างประเด็นขึ้นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งชวนให้ตามอ่านเพราะอยากทราบคำตอบเช่นเดียวกับตัวละคร อากิโกะมีปมในใจเรื่องที่เธอเป็นลูกนอกสมรส แถมพ่อของเธอยังเป็นพระที่มีภรรยาอยู่แล้ว (เรื่องตอนนี้ทำให้นึกถึงนวนิยายเรื่อง The Scarlet Letter  ของ นาแธเนียล ฮอว์ธอร์น (Nathaniel Hawthorne) ซึ่งเล่าถึงผู้หญิงแต่งงานแล้วเป็นชู้กับนักบวชหนุ่ม เธอจึงต้องสวมเสื้อปักอักษร A  เพื่อประกาศบาปของเธอไปตลอดชีวิต) อากิโกะไม่รู้เรื่องราวของพ่อนัก แม่ก็ไม่ได้บอกเล่าความจริงให้ฟัง หลังจากแม่ตาย มีพวกชอบยุ่งเรื่องของคนอื่นแจ้งข่าวยืนยันว่าพ่อของเธอที่เป็นพระนั้น เสียชีวิตแล้ว และมอบวัดให้ลูกชายดูแล พร้อมบอกที่ตั้งของวัดให้ด้วย ความรู้สึกของอากิโกะในขณะนั้นคือ  “…เริ่มรู้สึกเหมือนตัวเองเกิดมาจากคู่ชายหญิงไร้ศีลธรรมจอมลวงโลก” (หน้า 108) เธอจึงไม่ได้คิดจะตามหาพ่อเพราะคิดว่าในเมื่ออยู่มาได้กว่าห้าสิบปีโดยไม่รู้เรื่องนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างปัญหาขึ้นอีก  แต่แล้วจิตใต้สำนึกของคนที่เกิดมาไม่เคยเห็นหน้าพ่อก็พาเธอไปถึงวัดที่พ่อสร้างไว้จนได้ เธอได้พบกับผู้ที่คาดว่าจะเป็นพี่ชายและพี่สะใภ้ แต่เธอก็ไม่บอกให้ทั้งสองทราบว่าเธอเป็นใคร เพราะไม่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชีวิตคู่ของผู้มีน้ำใจดี กำเนิดของอากิโกะคลุมเครือ แต่การที่อากิโกะตามหาความจริงเกี่ยวกับพ่อผู้ให้กำเนิด ก็ทำไปตามสัญชาตญาณอยากรู้อยากเห็นมากกว่าอยากได้คำตอบจริงจัง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าข้อเท็จจริงว่าพ่อของเธอเป็นใคร เป็นอดีตเจ้าอาวาสหรือไม่  ไม่สำคัญเท่ากับการที่เธอได้สัมผัสหัวใจอ่อนโยน  และเปิดใจกว้างรับความสัมพันธ์ที่งดงามของผู้ที่อาจจะเป็นพี่สะใภ้และพี่ชายของเธอ อากิโกะได้ตระหนักว่าไมตรีจิตมิตรภาพ  แม้มาจากคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เช่น ภรรยาเจ้าอาวาสผู้อาจจะเป็นพี่สะใภ้   หญิงเกอิชานิรนามผู้มอบต้นไม้ให้เธอทั้งที่เพิ่งเห็นหน้ากัน  และชิมะจัง ผู้ช่วยทำงานร้าน ล้วนสร้างความอบอุ่นและเติมเต็มชีวิต

อีกทั้งทำให้เธอรับรู้ความรู้สึกของการที่  “มนุษย์สัมผัสมนุษย์”

หลังจากเธอเก็บตัวปิดใจมานาน

เมื่อทาโระจังสิ้นชีวิตแล้ว อากิโกะรู้สึกว่าชีวิตของเธอเดียวดายเพราะสูญเสียคนในครอบครัวไปหมดสิ้น เธอได้รับคำแนะนำให้ปลดเปลื้องความเศร้าออกมาเท่าที่ใจต้องการ  ไม่ต้องเก็บกดไว้  จนเธอค่อยๆ ผ่อนคลายและรู้สึกดีขึ้นเป็นลำดับ อากิโกะกลับมาหัวเราะขำขันกับสิ่งไร้สาระได้เหมือนเดิม และมุ่งมาดว่าจะไปตามหาแมวจรที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนทาโระจัง ในที่สุด อากิโกะเริ่มดำเนินชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง  แม้ไม่มีพ่อ  แม่  และทาโระ แต่เธอได้ตระหนักว่ามีเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมที่พร้อมให้ความรัก  กำลังใจ  และมิตรภาพอย่างบริสุทธิ์ใจ นวนิยายญี่ปุ่นเรื่องนี้ไม่ได้มีปมขัดแย้งเข้มข้น  แต่ให้ความรู้สึกใสสะอาดถึงชีวิตที่เรียบง่าย  รักษาจุดยืนหรือตัวตน  และเปิดใจกว้างแก่มิตรภาพของเพื่อนมนุษย์


คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์

เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!