หนังที่พูดถึงเทคโนโลยีปัจจุบันมักนำเสนอด้านมืด เช่น ซีรีส์ Black Mirror หรืออนาคตที่น่าหวาดกลัวเมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีคุกคามมนุษย์ เช่น การคุกคามของหุ่นยนต์หรือ AI
แต่ Brave Father Online คือหนังที่นำเสนอด้านน่ารักและอบอุ่นใจของเทคโนโลยี
อากิโอะเคยมีช่วงวัยเด็กที่สนิทสนมกับพ่อ พ่อพาเขาไปซื้อเครื่องเกมมาเล่นที่บ้านและเกมแรกที่ซื้อมาคือ Final Fantasy เขากับพ่อเล่นเกมด้วยกัน ช่วยกันฝ่าด่านจนเหลือแค่การไปพิชิต Boss แต่ในระยะหลังพ่อของเขามีภารกิจที่ต้องรับความผิดชอบมากขึ้น เลยไม่ค่อยมีเวลามาเล่นเกมกับเขา ความสนิทสนมก็ลดลงจนกลายเป็นความห่างเหิน
เวลาผ่านไปสิบปี เขาเรียนจบแล้วทำงาน ระยะห่างระหว่างเขากับพ่อก็ยิ่งไกลกันจนเขาไม่รู้ว่าจะคุยกับพ่อเรื่องอะไร แล้ววันหนึ่งพ่อก็ตัดสินใจออกจากงานก่อนเกษียณโดยไม่มีใครทราบสาเหตุ เมื่ออยู่บ้านเฉยๆ เขาจึงเกิดความคิดที่จะสื่อสารกับพ่อเหมือนครั้งยังเด็กคือสื่อสารผ่าน “เกม”
เกมปัจจุบันต่างจากเกมเมื่อสิบกว่าปีก่อน เพราะเกม Final Fantasy ที่เขาซื้อมาเป็นเกมออนไลน์ซึ่งผู้เล่นสามารถพูดคุยกันผ่านตัวละครที่ตัวเองออกแบบไว้ในเกม ผู้เล่นจึงไม่รู้ว่าเขากำลังคุยกับใครที่เป็น “ตัวบุคคลจริง”
พ่อของอากิโอะมีเวลาว่างทั้งวันเลยยอมเล่นเกมที่ลูกซื้อให้ แต่ช่วงแรกยังงุนงง เล่นไม่เป็น ต้องคอยปรึกษาลูกเป็นระยะๆ พ่อไม่รู้เลยว่าในเกมที่กำลังเล่นอยู่นั้น อากิโอะเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งที่เข้ามาคอยช่วยเหลือพ่ออยู่
แล้วทั้งคู่ก็เริ่มพูดคุยกันมากขึ้นผ่านเกม
ในชีวิตจริง อากิโอะกับพ่อแทบไม่พูดคุยเรื่องปัญหาหนักอก ส่วนใหญ่ได้แต่ถามสารทุกข์สุขดิบสั้นๆ ประกอบกับบุคลิกของพ่อซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นจริงจังที่ไม่ค่อยแสดงออก อากิโอะจึงยิ่งไม่กล้าปรึกษาเรื่องส่วนตัว เช่นเดียวกับพ่อที่เวลามีปัญหาอะไรก็เก็บงำไว้คนเดียวมาตลอด
แต่เมื่อทั้งคู่คุยกันผ่านเกม เราก็จะเห็นทั้งคู่เปิดเผยปัญหาในใจ
เช่น อากิโอะมีปัญหาการทำงานเรื่องการนำเสนอสินค้า แต่เมื่อพูดคุยกับพ่อ เขาก็ได้รับคำแนะนำอันกลั่นจากประสบการณ์ของพ่อให้เขาไปประยุกต์ใช้
ในขณะที่ปัญหาของพ่อคือยึดติดกรอบความคิดของการเป็นผู้นำครอบครัวแบบคนยุคก่อน และคาดหวังว่าคนที่จะเป็นแฟนของลูกสาวควรมีทัศนคติต่อชีวิตการทำงานเช่นเดียวกับตัวเอง ซึ่งเป็นกรอบของคนรุ่นก่อนที่จริงจังกับงานมากกว่าคนรุ่นใหม่ ต่อให้แฟนของลูกสาวเป็นคนขยันทำงานแต่ก็ไม่ผ่านการประเมินจากพ่อของอากิโอะ จนเกิดปัญหาทะเลาะกันระหว่างพ่อกับลูกสาว
แต่เมื่อพ่อได้เพื่อนใหม่ในเกม รวมถึงได้พูดคุยกับลูกชาย (ซึ่งเขาไม่รู้ว่าเป็นลูก) เขาก็ปรับเปลี่ยนตัวเองในหลายด้านๆ เพื่อเข้าใจคนต่างวัยต่างยุคสมัยมากขึ้น
และในตอนท้ายเขาก็รู้ว่าเขาไม่ได้เผชิญปัญหาทั้งหลายเพียงลำพัง แม้เขาไม่อยากให้คนอื่นต้องพลอยเดือดร้อนเมื่อรับรู้ปัญหาส่วนตัวของเขา แต่มิตรสหายและครอบครัวกลับไม่คิดเช่นนั้น พวกเขาต้องการอยู่เคียงข้างแล้วช่วยกันเอาชนะปัญหาที่พ่อเผชิญ
ก็เหมือนกับในเกมที่ตัวละครแค่ตัวเดียวไม่สามารถฝ่าด่านหรือเอาชนะ Boss ได้ เว้นแต่เกิดการร่วมแรงร่วมใจ
Brave Father Online อาจจะมีกิมมิคอยู่ที่การเล่นเกมเพื่อสานสัมพันธ์ แต่แก่นของเรื่อง “การสื่อสาร”
ในอดีตมนุษย์ทำได้แค่การสื่อสารแบบเผชิญหน้า ต่อมาเรียนรู้การใช้สัญลักษณ์เช่นสัญญาณควัน แล้วพัฒนามาเป็นจดหมาย และโทรศัพท์เพื่อเป็นสื่อกลางเพิ่มความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร แต่เมื่อถึงยุคอินเตอร์เน็ตมีการปฏิวัติการสื่อสารในหลายมิติที่ไม่ใช่แค่ความรวดเร็ว
รูปแบบหนึ่งของการปฏิวัติการสื่อสารด้วยเทคโนโลยี คือการที่เราสามารถสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่ไม่ยึดติดกับตัวจริง เปลี่ยนได้ตั้งแต่หน้าตาจนถึงเพศสภาพหรือสปีชีส์ เช่น สร้าง avatar หรือรูปที่ถูกใจแทนตัวตนของเรา หรืออย่างในหนังเราก็สามารถออกแบบรูปร่างหน้าตาของเราเป็นตัวละครในเกม
และเมื่อเราปกปิดตัวตนแท้จริงในการสื่อสารได้อย่างแนบเนียน ก็เกิดปัญหาคือมีการหลอกลวงและอาชญากรรมออนไลน์มากมายขึ้น
แต่ใน Brave Father Online กลับนำเสนอด้านบวก คือแสดงว่าการปกปิดตัวตนโดยมีเกมเป็นสื่อกลางนั้นช่วยให้คนสามารถเปิดเผยตัวตนหรือความรู้สึกนึกคิดได้มากขึ้น จากปกติที่อาจมีเรื่องอีโก้หรือภาพลักษณ์ซึ่งตัวเองต้องการยึดมั่นไว้ทำให้ไม่กล้าแสดงออกเต็มที่
อย่างเช่นตัวละครพ่อที่มีบุคลิกแบบคนนิ่ง มีมาด ไม่พูดมาก ไม่แสดงอารมณ์ ยึดมั่นในคุณค่าแมนๆ แบบสมัยก่อนที่หัวหน้าครอบครัวต้องรับภาระเรื่องต่างๆ ไว้ลำพัง แต่เมื่อเขากลายเป็นตัวละครในเกม เขายังมีความกุ๊กกิ๊ก สนุกสนานแบบเด็กๆ แล้วก็ช่างพูดช่างจ้อผิดกับตัวจริงที่ลูกชายเจอทุกวัน
เกมจึงเป็นสื่อกลางที่ช่วยละลายพฤติกรรมและเป็นเครื่องมือบำบัดปัญหาความสัมพันธ์ของสองพ่อลูก ประโยชน์ของเทคโนโลยีนั้นหากนำมาใช้ให้ถูกทางก็ทำให้โลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เข้าใจว่าคนเรามีความแตกต่างหลากหลาย แล้วก็นำไปสู่การปรับตัวเข้าหากัน
แล้วถ้าพ่อแม่มีเวลาให้ลูก สังเกตลูกในขณะเล่นเกม จะพบว่าหลายคนมีจุดเด่นที่เขาใช้ในเกมซึ่งเราอาจไม่เห็นในชีวิตจริง เช่น ทักษะการบริหารทรัพยากร การวางแผนยุทธศาสตร์ ฯลฯ หากสามารถต่อยอดโดยเอามาเชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตก็จะช่วยให้พ่อแม่พัฒนาลูกได้ในมุมที่กว้างขึ้นกว่าแค่เรียนรู้จากตำรา
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com)