ช่วงสองเดือนที่ผ่านมาหลังจาก สปป.ลาวเปิดพรมแดนระหว่างประเทศอีกครั้ง ชาวไทยต่างหลั่งไหลไปเที่ยวกันแน่นขนัด จนเป็นเหตุให้ตั๋วรถไฟหายาก และเกิดปัญหาความแออัดขึ้นตั้งแต่นครหลวงเวียงจัน วังเวียง จนถึงหลวงพระบาง “ไขคำข้ามโขง” เคยเขียนเล่าถึงศัพท์ภาษาบนรถไฟลาวแล้วครั้งหนึ่ง แต่เมื่อได้เดินทางจริง ยังมีคำลาวอีกมากมายตามสองข้างทางที่น่าเรียนรู้ และชมความงามของทิวทัศน์ธรรมชาติเมืองลาวผ่านหน้าต่างรถไฟลาวจีนควบคู่กันไป
ເຂົ້າໄຮ່ เข้าไฮ่ คือ ข้าวไร่ ตามเส้นทางรถไฟที่ต้นไม้ใบหญ้าถูกโค่นทิ้งหรือถางออก สามารถพบเห็นต้นข้าวเขียวขจีอยู่เต็มเนินเขา บางส่วนเป็นนาขั้นบันไดที่มีการกักน้ำและทำคันนาลดหลั่นสวยงาม แต่หลายส่วนก็เป็นต้นข้าวแตกกออยู่บนเชิงผาเชิงภู ต้นข้าวประเภทหลังนี้เรียกว่าเข้าไฮ่ หรือ ข้าวไร่ เป็นวิธีปลูกข้าวแบบดั้งเดิมของชนชาติไทย-ลาว ก่อนจะรู้จักระบบการทำนาแบบหว่านกล้าดำนา ซึ่งแทบไม่ค่อยเห็นในประเทศไทยแล้ว
ມັນຕົ້ນ มันต้น คือ มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลรักษาและนำมาใช้ประโยชน์โดยตากแห้งบดเป็นแป้งทำอาหารเก็บรักษาได้นาน เกษตรกรตามชนบทห่างไกลมักปลูกในฤดูแล้งหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว
ເຂົ້າສາລີ สาลี คือ ข้าวโพด ต่างจากภาษาไทย คำว่าสาลีนี้เป็นภาษาบาลีแปลว่าข้าว เดิมหมายถึงข้าวเจ้าข้าวเหนียวทั่วไปที่มีเมล็ดกิน ปรากฏในลิลิตโองการแช่งน้ำว่า “กินสาลีเปลือกปล้อน” ต่อมาเมื่อมีการนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศ จึงพลอยเรียกข้าวโพดว่าสาลีด้วย ดังที่ปรากฏในเพลงกล่อมเด็ก เช่น วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ปลูกข้าวโพดสาลี แต่ที่ข้าวสาลีในภาษาไทยได้แปรความหมายเป็นข้าวที่ใช้ทำแป้งขนมปังหรือ wheat ไปเมื่อไหร่ไม่ทราบ ส่วนในภาษาลาวยังเก็บความหมายที่แปลว่าข้าวโพดไว้อยู่ ข้าวโพดนี้มักเห็นปลูกตามแนวภูเขาตลอดสองข้างทาง และเมื่อเข้าหน้าแล้งก็จะเกิดปัญหาการเผาไร่ข้าวโพดเป็นฝุ่นควันพิษที่น่ากังวล
ຫິນແຫ່ หินแห่ คือ ลูกรัง ตามสองข้างทางรถไฟลาว-จีน มักพบทางหินแห่ คือทางลูกรังคู่ขนานกันไป แม้แต่หน้าสถานีรถไฟปลายทางที่บ่อเต็น ก็เป็นทางลูกรังฝุ่นแดงจนถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้าด่านสากลจึงเป็นทางคอนกรีต
ສາງ สาง คือ โกดังหรือคลัง เป็นคำโบราณใช้เรียกที่เก็บของ ในภาษาไทยใช้คำว่า ฉาง เช่น ฉางข้าว ยุ้งฉาง แต่ภาษาลาวหมายความถึงอาคารที่เก็บของทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สางน้ำมัน สางตู้ คือคลังเก็บน้ำมันและลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ที่อยู่ตามแนวรถไฟ
ດ່ານພາສີ ด่านพาสี คือ ด่านศุลกากร ที่ปลายทางของรถไฟลาว-จีน มีด่านพาสีสากน คือ ด่านศุลกากรระหว่างประเทศตั้งอยู่เป็นจุดเชื่อมต่อชายแดนลาว-จีน ภาษาลาวที่ใช้ในรัฐการมีความคล้ายคลึงกับภาษาไทย แต่ใช้คำที่ง่ายกว่ามาก เช่น ภาษีศุลกากร ภาษาลาวใช้ว่า พาสีกับด่าน
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข