ไม่มีอะไรในโลกที่เกิดขึ้นโดยไม่มีบุญคุณ

-

เพื่อนๆ ในกลุ่มคุยกันเรื่องการให้เงินทุนแก่นักศึกษาเรียนดีแต่ยากจน ลงขันกันเพื่อให้เด็กเรียนจบ

ก็เป็นเรื่องน่ายินดี น่าอนุโมทนา

ทำให้นึกถึงตัวเองสมัยเรียนคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ผมก็ต้องขอทุนการศึกษาเป็นค่าหน่วยกิต

เวลานั้นค่าเล่าเรียนที่จุฬาฯ หน่วยกิตละ 25 บาท ถ้าลงวิชาเทอมละ 20 หน่วยกิต ก็ตก 500 บาท

เงินไม่กี่ร้อยบาทต่อเทอมนี้ดูเหมือนไม่มาก แต่หามาด้วยความยากลำบาก เพราะพี่ๆ ช่วยกันส่งเสียให้เรียนต่อ ให้เงินมาคนละร้อยสองร้อยต่อเดือน ต้องรู้จักกินอยู่อย่างประหยัด ถึงเวลาจ่ายค่าเทอมแต่ละที ก็เหนื่อยใจ

โชคดีที่คณะฯมอบทุนการศึกษาให้นิสิตที่ขาดเงิน ก็อาศัยเงินทุนเหล่านี้เรียนจนจบ

เงินทุนนี้บรรดารุ่นพี่ที่เรียนจบไปแล้วมอบให้คณะฯ เพื่อให้มอบต่อให้นิสิตที่ไม่มีเงินเรียน

ก็ขอกราบขอบพระคุณเจ้าของทุนย้อนหลัง

ชาตินี้ไม่ลืมบุญคุณ

ไม่เพียงบุญคุณของเจ้าของเงิน แต่ยังมีบุญคุณของประชาชนด้วย

บุญคุณของประชาชน?

 

…………………………..

 

หลายคนอาจไม่เคยคิดว่า การเรียนหนังสือจบชั้นมหาวิทยาลัยในเมืองไทยไม่ได้แค่ใช้เงินค่าเล่าเรียนที่เราจ่าย แต่ใช้เงินประชาชนด้วย เพราะมหาวิทยาลัยจำนวนมากต้องพึ่งพาเงินจากรัฐ ซึ่งมาจากภาษีประชาชน

อาจารย์แทบทั้งหมดก็เรียนจบมาอย่างนี้ และหากทำงานในมหาวิทยาลัยรัฐ ก็กินเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชน

หากไม่มีเงินภาษีประชาชนช่วย ค่าหน่วยกิตตอนนั้นคงไม่ใช่ 25 บาท และการเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐก็คงเป็นเรื่องเกินวาสนา

ดังนั้นการเรียนหนังสือจึงไม่ใช่ “ฉันมีเงินจ่าย ไม่มีอะไรค้างกัน”

มันมีบุญคุณของประชาชนและบุญคุณของแผ่นดินด้วย

ว่าก็ว่าเถอะ ถ้าเรามองโลกกว้างๆ ไม่เพียงแต่เรื่องการเรียนหนังสือเท่านั้น ทุกๆ เรื่องในชีวิตล้วนเกี่ยวข้องกับบุญคุณของคนอื่น ผู้ที่เราไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว หรือมองไม่เห็นรอยเชื่อมของความเกี่ยวข้อง

แทบไม่มีอะไรในโลกที่เกิดขึ้นโดยไม่มีบุญคุณ ทุกเรื่องราวเกี่ยวร้อยกัน

ไม่จุดใดหรือจุดหนึ่งในชีวิต เราจะเชื่อมโยงกับคนอื่น และรับบุญคุณของคนอื่นโดยที่เราไม่รู้ และอาจสร้างบุญคุณให้คนอื่นเช่นกัน

มีเงินซื้อข้าวกินไม่ได้แปลว่าไม่มีหนี้บุญคุณต่อชาวนา มีเงินซื้อผักผลไม้ ก็เป็นหนี้บุญคุณคนปลูก ถ้าชาวนาไม่ทำนา คนปลูกผักหันไปทำอย่างอื่น เราก็ตาย

ดังนั้นเวลากินข้าว ก็ควรระลึกถึงบุญคุณของคนปลูกข้าวด้วย

 

 

คนไข้หลายคนเมื่อรักษาหายจากโรคแล้ว นำของขวัญไปให้หมอ เพราะซาบซึ้งที่หมอช่วยรักษาให้พ้นความทรมานหรือช่วยชีวิต

มองในมุมหนึ่ง ถ้าคิดว่า “เราจ่ายค่ารักษาแล้ว ไม่มีบุญคุณต่อกัน” ก็ไม่ผิด แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง เราก็รู้สึกว่า การรักษามากกว่าแค่ ‘บริการ-ชำระค่าบริการ’

นั่นคือความรู้สึกผูกพันซึ่งอยู่เหนือบริการ

นั่งรถเมล์หรือแท็กซี่ ถึงแม้เราจ่ายค่าโดยสาร ก็ควรกล่าวคำขอบคุณที่เขาขับรถให้ มันทำให้โลกงามขึ้น ทั้งโลกของเราและของคนอื่น

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ เราต้องพึ่งพาคนอื่นเสมอ

หนี้บุญคุณเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มหายใจ

บุญคุณมีอยู่ทุกจุด

อาหารทุกคำที่เรากินเป็นหนี้บุญคุณธรรมชาติ

ดังนั้นเมื่อเราปีกกล้าแข็งขึ้น ก็ช่วยเหลือรุ่นน้องต่อไป

ผมทำโครงการเติมหัวใจใส่ห้องสมุดกว่าสิบห้าปีแล้ว เป็นโครงการผลิตหนังสือบริจาคเข้าห้องสมุดทั่วประเทศ ถือว่าเป็นการทดแทนบุญคุณสังคมที่เคยช่วยเรามา

ถ้าเราไม่รู้สึกว่าเราเกิดมาด้วยความรักและบุญคุณ เราก็จะดำเนินชีวิตแบบ ‘กระด้าง’ และอาจขาดความงามของชีวิต

การมองโลกว่า มนุษย์เกื้อกูลกันทำให้เราไม่มองทุกอย่างในชีวิตเป็นเรื่องกำไรขาดทุน แต่เป็นสายโซ่ของเหตุการณ์ที่เกี่ยวร้อยทุกอย่างเข้าด้วยกัน

มันเป็นทัศนคติที่ชี้ว่าคนคนหนึ่งแตกต่างจากอีกคนอย่างไร

และนี่ก็ทำให้คนคนหนึ่งเห็นโลกไม่งาม และอีกคนหนึ่งมองเห็นความงามของชีวิต

 


คอลัมน์ ลมหายใจ

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!