เมื่อไม่นานนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปงานเสวนาที่พูดถึงการใช้โซเชียลมีเดียในวัยรุ่น ซึ่งหยิบยกข้อมูลจากหนังสือที่เขียนขึ้นโดยนักมนุษยวิทยาคือ Why We Post ส่องวัฒนธรรมโซเชียลมีเดียผ่านมนุษยวิทยาดิจิทัล และ It’s Complicated: The Social Lives of Networked Teens เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต งานดังกล่าวจัดโดยสสส. ร่วมกับผู้จัดพิมพ์หนังสือดังกล่าว และนั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ได้รู้จักกับ Bookscape สำนักพิมพ์ที่ไม่เพียงทำหนังสือเพื่อขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้แก่คนไทย แต่ยังพยายามต่อยอดความรู้นั้นด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งการขบคิดให้เกิดขึ้นด้วย
ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ บรรณาธิการบริหาร คือผู้ที่จะนำเราไปรู้จักกับสำนักพิมพ์แห่งนี้ให้ดียิ่งขึ้น
จุดเริ่มของสำนักพิมพ์
Bookscape ก่อตั้งมาได้ประมาณปีครึ่งแล้ว จริงๆ เราเป็นทีมเดียวกับสำนักพิมพ์ Openworlds หลังจาก Openworlds เลิกกิจการ บางส่วนไปทำสำนักพิมพ์อื่น บางส่วนก็มาทำ Bookscape ผู้บริหาร Bookscape คือผู้บริหารเดียวกับ Openworlds ผลงานของเราส่วนหนึ่งเป็นการรีปริ๊นท์หนังสือของ Openworlds อีกส่วนเป็นหนังสือที่ออกใหม่ในชื่อ Bookscape ออกมาได้สัก 20 เล่มแล้วค่ะ
เหตุใดจึงใช้ชื่อ Bookscape
ชื่อนี้เหมือน landscape หรือภูมิประเทศ เราอยากสร้างพื้นที่ความรู้ ซึ่งมาจากหนังสือหลากหลายแนว ทั้งด้านการเมือง สุขภาพ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และพื้นที่ความรู้นี้ก็ไม่จบแค่ในหนังสือ แต่ยังต่อยอดเกิดเป็นกิจกรรมต่างๆ ต่อไป
ยังคงสานต่อแนวหนังสือเดิมจาก Openworlds หรือไม่
ยังสารต่อแนวเดิม แต่อาจขยายขอบเขตให้กว้างขึ้น เช่น การพูดถึงประเด็นร่วมสมัยอย่างเล่ม Why We Post และ It’s Complicated ซึ่งเกี่ยวกับการใช้อินเตอร์เน็ตของวัยรุ่น หรืออาจขยายประเด็นเดิมให้กว้างขึ้น ทั้งนี้ยังคงรักษา spirit อย่าง Openworlds ให้คงอยู่ คือทำหนังสือความรู้ ซึ่งมีทั้งความรู้พื้นฐานและความรู้สมัยใหม่ที่อยากให้คนไทยได้อ่าน และเราอยากทำหนังสือความรู้ให้ดูเซ็กซี่ ถ้าพูดถึงหนังสือวิชาการอาจดูจริงจังน่าเบื่อ ในขณะที่บางเล่มก็สนุกมาก เราพยายามคัดเลือกหนังสือที่เล่าความรู้ให้อ่านสนุกด้วย
หนังสือส่วนมากเป็นหนังสือแปล มีหนังสือไทยบ้าง เช่น Global Change ของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ China 5.0 ของอาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร อย่างที่กล่าวไว้ เราเน้นความรู้สองประเภทคือ ความรู้พื้นฐาน เรารู้สึกว่าประเทศไทยยังขาดหนังสือความรู้ที่เป็นแก่นของเรื่องนั้นๆ เช่น ความรู้เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ตัวอย่างหนังสือที่เราทำเช่นชุดความรู้ฉบับพกพา เป็นหนังสือชุดความรู้ของ Oxford เขาให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาเขียนเป็นเล่มเล็กๆ เวลานักศึกษาเปิดเทอมจะมาหาซื้ออ่านอยู่เรื่อยๆ เป็นความรู้ที่อยู่ทุกยุคทุกสมัย ส่วนอีกประเภทคือความรู้ที่เป็นประเด็นใหม่ๆ ซึ่งเราอยากชวนสังคมมาขบคิดร่วมกัน เหมือนเรื่องวัยรุ่นกับการใช้อินเตอร์เน็ต
กลุ่มคนอ่านของสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไหน ต้องมีความรู้ในระดับหนึ่งเลยหรือไม่
ไม่ขนาดนั้นค่ะ เด็กมัธยมก็มี ถ้าคุณสนใจจริงๆ ย่อมอ่านได้ หนังสืออาจมีระดับความยากง่ายแตกต่างกันบ้าง แต่พวกประวัติศาสตร์ อาหาร ทำนองนี้สามารถอ่านได้ทุกเพศทุกวัย
ขึ้นชื่อว่าหนังสือวิชาการ หนังสือความรู้ ขายยากไหมในหมู่นักอ่านไทย
ตอนนี้คนอ่านเริ่มสนใจมากขึ้น แน่นอนว่ามันขายยากกว่าวรรณกรรม และยังมีบางกลุ่มที่คิดว่าเข้าไปอ่านในอินเตอร์เน็ตก็ได้เหมือนกัน แต่หนังสือมีลักษณะของการครุ่นคิดตาม ด้วยจังหวะที่ช้ากว่าการเลื่อนหน้าจอไปเรื่อยๆ เราคนทำก็อยากทำให้คนไม่ทิ้งหนังสือ แล้วเราทำตั้งแต่ออกแบบหนังสือ คิดคำโปรยปก เราคิดหลายตลบกว่าจะเขียนโปรยปกแต่ละอันเพื่อดึงจุดเด่นของหนังสือ เรียกให้คนสนใจ รวมถึงการโปรโมทต่างๆ การทำกิจกรรมต่อยอด ทั้งหมดเพื่อเรียกให้คนมาซื้อ
กิจกรรมต่อยอดที่ Bookscape จัดขึ้นมีอะไรบ้าง และมีผลในการดึงดูดให้คนสนใจหนังสือมากขึ้นหรือไม่
ถ้าจำไม่ผิดกิจกรรมของเราน่าจะเริ่มตั้งแต่เล่ม A Little History of Literature เราอยากให้มีประเด็นต่อยอดจากหนังสือ จึงเชิญผู้ที่สนใจในประเด็นเหล่านั้นมาพูดคุยกัน ต่อยอดชุมชน หลังจากนั้นเริ่มมองหาความร่วมมือ บางเล่มเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ก็ไปคุยกับคณะเศรษฐศาสตร์ หรือเกี่ยวกับการศึกษาก็ไปคุยกับคณะครุศาสตร์ ส่วนที่ร่วมมือกับสสส. เริ่มตั้งแต่เล่ม Creating Innovators คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก โครงการนี้มีทั้งหมด 8 เล่ม จัดไปแล้ว 3 เล่ม กระแสตอบรับโอเคมาก ตอนเราจัด Why We Post กับ It’s Complicated พอคนฟังได้ทราบถึงประเด็นที่มีในเล่ม เขาก็สนใจไปอ่านต่อเพื่อขบคิด และเมื่อเราจัดงานเรื่องจิตวิทยาเด็ก แค่โปรโมทก็มีคนตอบรับอย่างล้นหลาม ถามหาอยากซื้อหนังสือกันหลายคน จริงๆ มันช่วยส่งเสริมกัน บางคนอ่านแล้วแต่อยากฟัง อยากแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนอื่น บางคนยังไม่ได้อ่านก็ขอมาลองฟังก่อน เป็นการกระตุ้นให้อยากศึกษาต่อยอดเพิ่มเติม
ปัจจุบันนี้การที่สำนักพิมพ์เริ่มออกไปเจอนักอ่านมีความสำคัญมากน้อยอย่างไร
สิ่งสำคัญน่าจะเป็นการเข้าใจคนอ่านมากกว่า คุณอาจทำงานอยู่ข้างหลังตลอดเวลา สื่อสารผ่านเฟซบุ๊กก็ได้ แต่ต้องเข้าใจกลุ่มคนอ่านที่สนใจหนังสือของเรา ไม่ใช่ทำส่งเดช โดยไม่รู้เลยว่าตอนนี้เขาสนใจเรื่องไหน อย่างร้านหนังสือ Readery เขาเลือกประเด็นที่รู้ว่าลูกค้าสนใจ หยิบยกมาเล่า ปัจจุบันแค่การพิมพ์หนังสือออกมาแล้วรอให้คนไปซื้อมันไม่พอแล้ว ต้องเข้าใจคนอ่านด้วย
นอกจากงานเสวนา มีทำการตลาดแบบใดอีก
มีทำกิจกรรมในเฟซบุ๊กบางครั้ง แต่ไม่เยอะมาก เช่นหนังสือ เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เราให้ผู้อ่านมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น คุณคิดอย่างไรเมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เคยมีประสบการณ์อะไรบ้างไหม เขียนมาเล่าให้เราฟังแล้วเราจะแจกหนังสือ ทำกันสนุกๆ เพราะทีมงานมีแค่ 5-6 คน ไม่สามารถโหมโปรโมทได้มาก พยายามหาประเด็นจากหนังสือที่คิดว่าน่าสนใจหยิบมาโพสต์ หยิบมาชวนคิดชวนคุย
สำหรับ Bookscape มีอุปสรรคอะไรในการทำงานบ้าง แล้วสามารถนำความสำเร็จจาก Openworlds มาสานต่อสร้างข้อได้เปรียบหรือไม่
คนส่วนมากไม่รู้ว่าเราเป็นทีมเดียวกับ Openworlds แล้วเราไม่คิดจะเอาความสำเร็จเก่ามาใช้ด้วย เพราะเราต้องการเติบโตในทางของเรา อย่างตอนแรกเริ่ม เราไม่สามารถเอายอดไลค์เพจเดิมย้ายมาเพจใหม่ได้ และก็ไม่ได้เขียนว่าพวกเรามาทำที่นี่นะ เพราะบางคนไปทำอย่างอื่นด้วย แต่แน่นอนว่ามันง่ายขึ้นแหละ เพราะมีคนรู้จักเรามาก่อนบ้างจาก Openworlds ทั้งนี้ด้วยทีมงานที่ลดจำนวนลง เราจึงต้องทำงานหนักขึ้น ทำทุกอย่างเอง แต่ก็นับเป็นข้อดีได้ เพราะเมื่อทีมงานน้อยคนก็ลดกระบวนการต่างๆ สื่อสารถึงกันง่ายขึ้น แล้วเราดูแลเองหมดทุกขั้นตอน เวลาขายหนังสือสามารถเล่าให้คนอ่านฟังได้ทุกเล่ม
ตั้งแต่ Openworlds ถึง Bookscape มองวงการหนังสือไทยเป็นยังไง มีการเติบโตขึ้นหรืออยู่ตัวแล้ว
คนมักบอกว่า วงการหนังสือจะตาย คนไม่อ่านหนังสือกันแล้ว แต่ส่วนตัวหรือคนรอบข้างไม่ได้คิดอย่างนั้น คิดว่าคนยังอ่านอยู่แต่เขาเลือกอ่านมากขึ้น บางคนคิดว่าออนไลน์จะกลายเป็นภัย แต่เชื่อว่าสุดท้ายคอนเทนต์ที่ดีจริงๆ ยังดึงให้คนกลับมาอ่าน ถ้าถามถึงเรื่องการขาย เราไม่ได้รู้สึกว่าซบเซาขนาดนั้น แค่ต้องตั้งใจมากขึ้น วางแผนแต่ละเล่มว่าควรออกมาแบบไหนเพื่อให้คนสนใจ คนอ่านฉลาดขึ้นด้วยแหละ ต้องรู้เทรนด์ว่าเขาสนใจอะไร เทรนด์น่ะเปลี่ยนไปเรื่อย อย่างเมื่อก่อนไม่ค่อยเห็นการอ่านหนังสือบอยเลิฟแพร่หลายขนาดนี้ หรือแนวปรัชญาของญี่ปุ่นที่ปัจจุบันกำลังมา
คนไทยเปิดรับหนังสือความรู้มากขึ้นไหม
ส่วนตัวรู้สึกว่าเพิ่มขึ้น เพราะเห็นมีหลายสำนักพิมพ์ที่ทำแนวนี้แล้วไปได้ดีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์เซเปียนส์ ซึ่งเป็นหนังสือที่หนามากนะ การที่คนซื้อหนังสือหนาขนาดนี้อ่านทำให้เห็นได้ว่า ถ้ามันดีจริงคนก็อยากรู้อยากอ่าน เป็นการทลายความคิดที่ว่ายาวไปคนไทยไม่อ่าน คนไทยอ่านไม่เกินปีละ 8 บรรทัด และเห็นได้ว่ามีสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือหลากหลายแนว เช่น แนวจิตวิญญาณ แนววิทยาศาสตร์ ให้คนได้มีทางเลือกในการอ่านมากขึ้น
คิดว่าสิ่งที่จะทำให้แวดวงธุรกิจหนังสือไทยอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้คืออะไร
ความร่วมมือร่วมใจกัน อย่างงานสัปดาห์หนังสือซึ่งเขาจะย้ายสถานที่ ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็พยายามหาวิธีกระตุ้น ยิ่งถ้าได้แรงสนับสนุนจากรัฐบาลน่าจะช่วยได้มากกว่านี้ ตอนนี้สำนักพิมพ์เล็กๆ ยังต้องช่วยตัวเองกันหนัก อย่างร้านหนังสือ ถ้าวางหนังสือถูกตำแหน่งก็ช่วยได้มาก อย่างหนังสือของเราเกี่ยวกับการศึกษาฟินแลนด์ แต่กลับถูกนำไปวางที่หมวดท่องเที่ยวเสียอย่างนี้ คิดว่าเราควรช่วยกันทั้งองคาพยพของวงการหนังสือ
3 เล่มที่อยากแนะนำของสำนักพิมพ์ Bookscape
- คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking โดย Bill Burnett and Dave Evans
เป็นเล่มขายดีมากของเรา คนเขียนนำวิธีคิดของนักออกแบบ คือการมองปัญหาก่อนออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น เก้าอี้มีไว้ทำไม เพราะการนั่งบนหินทำให้ปวดก้น เราจึงต้องการที่นั่งที่สบาย เป็นวิธีการมองและแก้ปัญหาอย่างตรงจุด อีกทั้งเอามาปรับใช้กับชีวิตเราได้ เช่น คุณเรียนจบแล้วอยากไปทางไหนต่อ ถ้าไม่ชอบสิ่งที่เรียนตอนนี้จะทำอย่างไร ชีวิตต่อไปจะเป็นอย่างไร และ Design Thinking คือชื่อวิชาที่สอนในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในเล่มมีกรณีศึกษาที่ผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์นำมาแชร์
- ซีรีส์ A Little History of –
ชุดนี้มีทั้งเรื่องวรรณกรรม ปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์ เขาเล่าปูพื้นในแต่ละหัวข้อ เช่น วิทยาศาสตร์ เขาเล่าว่านักวิทยาศาสตร์กว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง มีทั้งความสนุกและขั้นตอนการคิด
- It’s Complicated เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต โดย Danah Boyd
คนเขียนเป็นนักมนุษยวิทยาที่เข้าไปศึกษาการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่นเป็นเวลานับสิบปี เป็นการเปิดโลกทัศน์ของเรา เช่น เหตุใดวัยรุ่นถึงแชร์รูปน่าอายของตัวเอง นั่นแพราะเขาเลือกแชร์ก่อนที่จะโดนเพื่อนๆ แชร์ และเขาสามารถเขียนสเตตัสเองเพื่อกำหนดทิศทางของสาร เป็นวิธีป้องกันตัวเองอย่างหนึ่งของเขา