คำกล่าวของสตีฟ จ็อบส์ ที่ว่า “หนทางเดียวที่จะทำให้งานออกมายอดเยี่ยม นั่นคือการรักในสิ่งที่คุณทำ” อาจเปรียบได้กับผู้คนที่มีความฝันและค่อยๆ พยายามฝึกฝน บ่มเพาะความรู้ ความสามารถที่มีเรื่อยมา แม้อาจมีเรื่องยากให้ต้องฝ่าด่านไม่จบสิ้น หากแต่มีใจรัก ตั้งมั่นกับสิ่งที่ทำ ท้ายสุดก็จะผ่านพ้นและสำเร็จไปได้ด้วยดี
เซเปียนส์ ประวัติศาสตร์ฉบับกราฟิก
เขียนโดย ยูวัล โนอาห์ แฮรารี แปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ยิปซี ราคา 395 บาท
เป็นหนังสือภาพสี่สีที่ดัดแปลงจากงานเขียนอันลือชื่อของ ยูวัล แฮรารี เล่าถึงจุดกำเนิดและวิวัฒนาการของมนุษย์ซึ่งทุกวันนี้เหลือเพียงสายพันธ์เดียวคือโฮโมเซเปียนส์ และพาไปสำรวจความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ บทบาทของมนุษย์ในนิเวศวิทยา ตลอดจนการผงาดขึ้นมาของจักรวรรดิต่างๆ อย่างเข้าใจง่าย ได้ความรู้ เนื้อเรื่องน่าติดตาม แม้ว่าคุณไม่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ก็ไม่เป็นปัญหา
เด็กหญิงน้ำตาล
เขียนโดย โอลก้า โกรมาว่า แปลโดย ช้องนาง ปรีชาเจริญศิลป์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Library Terrace ราคา 320 บาท
วรรณกรรมแปลจากรัสเซีย เล่าเรื่องของเด็กหญิงผู้ผ่านประสบการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ร่วมกับมารดามาอย่างเข้มแข็ง การมีทัศนคติเชิงบวกและการอ่านทำให้เธอสามารถฝ่าฟันปัญหาต่างๆ ได้ ทั้งการพลัดพรากจากบิดา การโยกย้ายที่อยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า ความเจ็บป่วย หรือความขัดสนทางการเงินในขณะที่สงครามยังไม่จบ จนเธอตัดสินใจหางานทำเพื่อช่วยเหลือมารดาท่ามกลางบรรยากาศที่มีแต่ความเสี่ยง
ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว
เขียนโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Salmon Books ราคา 305 บาท
สารคดี 13 เรื่องจริงจากผู้คนหลายอาชีพที่เป็นภาพสะท้อนความเจ็บปวดและจิตใจของมนุษย์ ตั้งแต่ หญิงขายบริการ คนไร้บ้านรอบราชดำเนินกับการเผชิญวิกฤตโควิด-19 แรงงานพลัดถิ่น ชาวบ้านโดนรุกที่ดิน จนถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงและประเทศไทยที่ออกมาเรียกร้องบนถนน ด้วยความหวังอันแรงกล้าว่าสังคมในอุดมคติจะปรากฏเป็นจริงในวันข้างหน้า
Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง
เขียนโดย ปริพนธ์ นำพบสันติ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Broccoli ราคา 360 บาท
พบกับเบื้องหลังของเมืองในฝันอันแสนน่าอยู่อย่างในประเทศญี่ปุ่น ที่มีการออกแบบพัฒนาเมืองอย่างเข้าใจและใส่ใจ แยบคายในวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาจนกลายเป็นเมืองซึ่งทุกคนสามารถอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยแท้จริง เช่น ญี่ปุ่นรับมือภัยพิบัติอย่างไรให้เมืองไม่วิบัติ ระเบียบวินัยเริ่มต้นได้จากการออกแบบ อากาศดีสร้างได้ และทำไม่คนญี่ปุ่นถึงชอบปั่นจักรยานบนทางเท้า
คอลัมน์ซ เล่มต่อเล่ม
เรื่อง: วันใหม่