สำนักพิมพ์ Bloom หนังสือที่ช่วยเยียวยาจิตใจ

-

ในวันที่จิตใจอ่อนแอ หากมีเพื่อนสักคนที่คอยอยู่เคียงข้าง ไม่ทิ้งเราไปไหน คงทำให้ผ่านพ้นวันคืนเลวร้ายได้ไม่ยากเย็น แต่ใช่ว่าเราจะโชคดีเช่นนั้นเสมอไป ดังนั้นหากวันใดที่เรามองหาใครไม่เจอ อย่างน้อยที่สุดให้หนังสือเป็นเพื่อนร่วมทาง ร่วมทุกข์ไปกับเราก็ยังดี สำนักพิมพ์ที่จะแนะนำในคอลัมน์ ถนนวรรณกรรม นี้ มีชื่อว่าสำนักพิมพ์ Bloom (บลูม) ซึ่ง ‘มิตสึ’ ปิยะนัฐ ลักษมีพงศ์ เป็นบรรณาธิการ มีปณิธานในการผลิตหนังสือที่ช่วยเยียวยาจิตใจ เตือนสติ ฝ่าฟันคืนวันอันยากเข็ญ พร้อมกับเติบโตไปด้วยกัน ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็จะเป็นเพื่อนที่คอยเคียงข้างนักอ่านอยู่เสมอ

 

 

สำนักพิมพ์บลูมก่อตั้งได้อย่างไร

ในยุคปัจจุบันที่คนเรามีปัญหาด้านจิตใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมาจากหลายปัจจัยทั้งปัญหาชีวิต การงาน สังคม โรคภัย ถาโถมอย่างไม่ทันตั้งตัว กลายเป็นความเครียดสั่งสม เราจึงอยากทำหนังสือที่ช่วยเยียวยาและปลอบประโลมใจอย่างเป็นกันเองให้แก่ผู้อ่าน เพราะการอ่านเป็นการใช้เวลากับตัวเอง ช่วยสื่อสารกับจิตใจได้เป็นอย่างดี โดยมุ่งเน้นช่วงวัยที่กำลังค้นหาตนเอง ผู้ที่ต้องการกำลังใจในการก้าวสู่เส้นทางที่เลือกเดิน

สำนักพิมพ์บลูมเป็นสำนักพิมพ์ในเครือนานมีบุ๊คส์ ก่อตั้งโดยคุณ ‘รุ่ง’ สุวพันธ์ ชัยปัจชา ผู้เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านั้น และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจของคนปัจจุบัน ฟันฝ่าอุปสรรคทางจิตใจ และสร้างรอยยิ้มเล็กๆ ในแต่ละวันสำหรับก้าวสู่วันข้างหน้า ตามสโลกแกนหรือคำขวัญของสำนักพิมพ์ “มิตรทางตัวอักษร พร้อมเคียงข้าง เติบโต และเบ่งบานไปด้วยกัน”

ก่อตั้งมานานแค่ไหน

จะครบรอบ 1 ปีในเดือนมิถุนายนครับ

 

ที่มาของชื่อสำนักพิมพ์คืออะไร

คำว่า “Bloom” หรือ “เบ่งบาน”  หมายถึง การเจริญเติบโต การเปลี่ยนสถานะจากต้นกล้ากลายเป็นดอกไม้ ช่วงเวลาอันสำคัญนี้ เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยประคองจิตใจให้ผ่านอารมณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง ให้เบ่งบานสวยงามตามความพยายามและความคาดหวังของผู้อ่านทุกคน อีกทั้งชื่อบลูมยังจำง่าย ความหมายอ่อนโยน และเป็นกันเองต่อจิตใจ

แนวหนังสือของสำนักพิมพ์เป็นแบบไหน

เราเน้นหนังสือที่คอยปลอบประโลมใจผู้อ่านในหลากหลายรูปแบบ ทั้งหนังสือภาพพร้อมด้วยบทความฮีลใจ แนวจิตวิทยาอ่านง่ายที่มีหัวข้อแตกต่างกัน เพื่อเข้าถึงปัญหาจิตใจของกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวางขึ้น ระยะแรกนี้เราเน้นหนังสือแปลเป็นหลัก แต่อนาคตวางแผนไว้ว่าจะต้องมีหนังสือจากนักเขียนไทยให้ได้อ่านกันด้วยครับ

 

 

เลือกหนังสือที่จะนำมาแปลและตีพิมพ์อย่างไร

ผมชอบที่ทุกคนจดจำสำนักพิมพ์บลูมว่าเป็นหนังสือที่มีรูปลักษณ์น่ารักสดใส เข้าถึงง่าย และเป็นกันเอง ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของเรา หนังสือของเรามีหลากหลายแนวเพื่อให้ผู้อ่านสามารถเลือกได้ตรงกับปัญหาจิตใจของตนเอง หลักๆ หนังสือของเรามีแนวทางในการสื่อสารกับผู้อ่านทุกท่านอย่างตรงไปตรงมา เป็นกันเอง เหมือนพูดคุย ปรึกษา และปลอบโยนกันระหว่างเพื่อน

จุดเด่นอันแตกต่างจากสำนักพิมพ์อื่นคืออะไร

ความเป็นกันเอง เข้าถึงง่าย มีอิสระ ไม่ยัดเยียด เพราะเราไม่ได้เป็นแค่สำนักพิมพ์ แต่เรายังมองว่าตัวเองคือเพื่อนคนหนึ่ง เมื่อคุณมีปัญหาแบบนี้ๆ ฉันจะแนะนำคุณอย่างนี้ๆ คุณมีเรื่องทุกข์ใจแชร์ให้ฉันรู้ ส่วนฉันก็แชร์ปัญหาของฉันบ้าง เรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านตัวอักษรในเล่ม มีหลายคนที่จำหนังสือของบลูมได้จากชื่อหนังสือเหมือนกันครับ (ฮ่าๆ) แปลกแต่ก็สื่อสารตรงใจดี

 

มองตลาดของหนังสือแนวเดียวกันกับสำนักพิมพ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ผมมองว่าการมีหนังสือเยียวยาใจซึ่งอ่านง่ายด้วย ออกมามากขึ้นในช่วงเวลานี้จะช่วยให้ปลอบขวัญคนไทยมากขึ้น แต่ละเล่มก็มีแนวทางของตัวเองชัดเจน มีกลุ่มเป้าหมายที่อยากจะสื่อสารถึงแตกต่างกัน ล้วนเป็นหนังสือดีๆ ที่ส่งผลต่อจิตใจผู้อ่าน ยังมีอีกหลากหลายปัญหาด้านจิตใจที่รอคอยหนังสือที่เหมาะกับตัวเอง หนังสือแนวนี้จึงยังคงต้องไปต่อ และควรเปิดกว้างหลากหลายยิ่งขึ้น

ในช่วงเวลาที่ธุรกิจทั่วโลกโดนผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงวงการหนังสือ ทำไมถึงเลือกเปิดตัวสำนักพิมพ์ในช่วงเวลานี้

โลกปัจจุบันซึ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในระยะเวลาอันสั้น ปัญหาจิตใจเกิดขึ้นอย่างชัดเจน และกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการปลอบขวัญควบคู่ไปกับการใช้ชีวิต ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ร่างกายก็ไปต่อได้  ในเมื่อหนังสือคือสิ่งที่สื่อสารไปถึงจิตใจผู้อ่านโดยตรง และตอบโจทย์จิตใจที่ต้องการการเยียวยา ในฐานะสำนักพิมพ์นี่คือสิ่งที่ควรทำและต้องทำให้ได้

 

 

สิ่งที่ยากที่สุดของการทำสำนักพิมพ์คืออะไร

ด้วยความที่เราเป็นสำนักพิมพ์ใหม่ ทุกอย่างก้าวตามสัญชาตญาณ มีดีบ้าง พลาดบ้าง ยังอยู่ในระยะปรับตัว และหาพื้นที่อันเหมาะสมให้แก่ตัวเอง รวมถึงต้องสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพราะหนังสือจะช่วยขวัญหรือปลุกกำลังใจไม่ได้เลย ถ้าผู้อ่านหรือผู้ที่มีปัญหาไม่รู้ถึงการมีอยู่ของหนังสือเล่มนั้นในโลก ตอนนี้ช่องทางโซเชียลมีเดียมีความหลากหลายมากขึ้น การปรับตัวและการพัฒนาน่าจะเป็นเรื่องยาก และใช้เวลาที่สุด

สำนักพิมพ์มีแนวทางทำการตลาดอย่างไรบ้าง

หลักๆ คือพยายามอัปเดตโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง เพื่อสื่อสารสู่กลุ่มผู้อ่านโดยตรง รวมทั้งศึกษาช่องทางสื่อสารใหม่ๆ เพื่อปรับตัวเข้ากับกลุ่มผู้อ่านที่มีความหลากหลาย ในอนาคตจะมีแคมเปญต่างๆ อีกมากมาย อยากให้ทุกท่านติดตามกันนะครับ

 

 

วางแผนออกหนังสือบ่อยแค่ไหน และมีแผนเพื่ออยู่รอดในธุรกิจหนังสืออย่างไรบ้าง

ปัจจุบันการผลิตหนังสือมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก ดังนั้นการเลือกพิมพ์หนังสือสักเล่มจึงต้องพิจารณาว่ามีคุณค่าและได้ประโยชน์แก่ผู้อ่านมากน้อยแค่ไหน เราจึงเน้นที่คุณภาพหนังสือมากกว่าปริมาณ โดยเฉลี่ยจึงออกหนังสือประมาณเดือนละเล่ม คาดหวังว่าถ้าเราผลิตหนังสือดีๆ และมีคุณค่าในสายตากลุ่มเป้าหมาย จะเกิดการแชร์ต่อ แนะนำแบบปากต่อปาก เพื่อให้หนังสือของเราเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

สำนักพิมพ์ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรบ้าง

ผมว่าไม่มีบริษัทใดไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่ที่แต่ละบริษัทจะปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน บางบริษัทอาจฟื้นตัวได้ไว บางบริษัทอาจค่อยเป็นค่อยไป สำนักพิมพ์บลูมเริ่มต้นในช่วงรับมือและฟื้นตัวของโควิด-19 จึงวางแผนและปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมนิวนอร์มัลไปเรื่อยๆ ก้าวช้าสักหน่อย แต่อยากให้ทุกก้าวมั่นคงและน่าจดจำขึ้นเรื่อยๆ

 

3 เล่มที่สำนักพิมพ์บลูมอยากแนะนำ

  • โทษที วันนี้ชีวิตฉันสำคัญที่สุด

อีจินอี เขียน, กนกรัตน์ อรุณรัตนรุจรวี แปล

หลายคนมัดตัวเองไว้กับความคาดหวังของคนอื่น ไหลตามคำพูดของคนรอบตัวจนลืมความต้องการของจิตใจตัวเอง ภาพวาดนับร้อยพร้อมด้วยบทความเยียวยาใจสั้นๆ อ่านง่ายเล่มนี้จะช่วยให้เรารักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และทำเพื่อตัวเองมากยิ่งขึ้น “ถ้ามีเวลาไปใส่ใจคนอื่นละก็ เอาเวลามาใส่ใจตัวเองดีกว่า”

  • ที่จริงวันนี้ก็ดีนะ

นักเขียนคู เขียน, ธัชชา ธีรปกรณ์ชัย แปล

หนังสือภาพ 4 สีสวยงามบอกเล่าชีวิตของกระต่ายหูโตซึ่งเป็นตัวแทนของนักวาดที่สูญเสียการได้ยินและกำลังสูญเสียการมองเห็น หนังสือเล่มนี้จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่นักวาดจะถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้สึก และแรงบันดาลใจของตัวเองสู่นักอ่านทุกท่าน ก่อนที่โลกของเธอจะมืดมิดและเงียบงันไป

  • ฉันไม่ใช่ผู้ใหญ่ ฉันแค่อายุ 30

นีน่า คิม เขียน, กนกรัตน์ อรุณรัตนรุจรวี แปล

บันทึกประจำวันลายเส้นน่ารักฮีลใจ ผู้วาดหนังสือ พักให้ไหว ค่อยไปต่อ กับเรื่องราววัย 30 ที่ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แม้จะก้าวช้ากว่าคนอื่นสักหน่อย แต่เราก็มีความสุขในเส้นทางของเรา

หวังว่าจะมีหนังสือของสำนักพิมพ์บลูมสักเล่มที่ตรงใจของคุณและเป็นเพื่อนคอยปลอบขวัญอยู่เคียงข้างกัน Have a Booktiful Day! ครับ

 

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!