อย่างที่ทราบกันว่าในร่างกายของคนเราแบ่งเลือดได้ 4 หมู่ คือ เอ (A) บี (B) โอ (O) และ เอบี (AB) การแบ่งดังกล่าวเรียกว่า ระบบกรุ๊ปเลือดเอบีโอ (ABO) ซึ่งเรามักได้ยินบ่อยๆ ว่าเลือดแต่ละกรุ๊ปสามารถบ่งบอกลักษณะนิสัย ความสามารถ ทั้งยังมีทฤษฎีการกินอาหารตามกรุ๊ปเลือดเพื่อประโยชน์ทางโภชนาการ หรือแม้แต่โยงเข้ากับเรื่องของดวงหรือโชคชะตา (ตามความเชื่อของแต่ละคน)
กรุ๊ปเลือด หรือหมู่โลหิต (blood groups) คือการแบ่งเลือดของมนุษย์เป็นหมู่ตามสารชีวเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นและปรากฏอยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง เรียกว่า แอนติเจน (antigen) หรือสารก่อภูมิต้านทาน
ลักษณะเฉพาะในเลือดแต่ละกรุ๊ปบอกอะไรเรากันแน่
ลักษณะเฉพาะของแอนติเจนในกรุ๊ปเลือดมีความเก่าแก่พอๆ กับพัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ สมมุติฐานว่าด้วยการเกิดกรุ๊ปเลือดอาจเรียกได้ว่า ‘การกลายพันธุ์’ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์กระจายกันไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก เมื่อพวกเขาเผชิญสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน จนเกิดโรคร้าย ภูมิอากาศ จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปวิถีทางที่แตกต่างกันจนเกิดแอนติเจนโดยเฉพาะขึ้น ลักษณะเฉพาะนี้สืบต่อทางสายเลือดและทำให้เลือดต่างหมู่ไม่สามารถเข้ากันได้ อีกทั้งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างรุนแรง ความรู้เรื่องกรุ๊ปเลือดเป็นประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้ป่วยเสียเลือดและต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างฉุกเฉินด้วยการถ่ายเลือด แต่กว่ามนุษย์จะเข้าใจข้อเท็จจริงนี้อย่างลึกซึ้ง ก็ต้องรอถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20
บรรพบุรุษของมนุษย์ตระหนักถึงความสำคัญของเลือดมาตั้งแต่ยุคบรรพกาลแล้ว เพราะเมื่อเกิดการเสียเลือดจำนวนมาก มักนำไปสู่ความตาย เป็นเวลากว่าพันปีที่มนุษย์ครุ่นคิดและพยายามลองผิดลองถูกในการถ่ายเลือดแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกรุ๊ปเลือด จึงไม่แปลกที่คนสมัยโบราณคิดเรื่องการถ่ายเลือดจากคนสู่คนเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 แพทย์หลายคนในยุคนั้นเริ่มรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการถ่ายเลือด แม้โอกาสสำเร็จ 50 : 50 ไม่ต่างจากการคลำทางกลางความมืด แต่พวกเขามาถูกทางแล้ว มนุษย์ควรได้รับเลือดจากมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น
มีงานวิจัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเลือดของมนุษย์ พบว่าตัวหลักคือแอนติเจนและแอนติบอดี (antibody) แอนติเจนบนผิวเม็ดเลือดแดงมีอยู่ 2 ชนิด คือ แอนติเจนเอ (A antigen) และแอนติเจนบี (B antigen) หากร่างกายไม่มีแอนติเจนชนิดใดชนิดหนึ่งข้างต้นจะสร้างแอนติบอดีมาต่อต้านแอนติเจนแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนจึงคุ้นเคยกับกรุ๊ปเลือดของตนเองเท่านั้น นับว่าเป็นพัฒนาการของวงการแพทย์อย่างมาก ทำให้มนุษย์เข้าใจเรื่องการถ่ายเลือดตามกรุ๊ปเลือดอย่างถ่องแท้ และช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จนสามารถแจกแจงแยกแยะสารแอนติเจนและแอนติบอดีของกรุ๊ปเลือดแต่ละหมู่ ได้ดังนี้
กรุ๊ปเลือด A คือคนที่มีสารแอนติเจน A บนผิวเม็ดเลือดแดงและไม่มีสารแอนติเจน B จึงสร้างสารต้านต่อแอนติเจน B (anti B) เน้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ลดอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต
กรุ๊ปเลือด B คือคนที่มีสารแอนติเจน B บนผิวเม็ดเลือดแดงและไม่มีสารแอนติเจน A จึงสร้างสารต้านแอนติเจน A (anti A) เหมาะกับเนื้อสัตว์ ธัญพืช ผัก ผลไม้ ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน และอาหารประเภทนม เนย ไข่
กรุ๊ปเลือด AB คือคนที่มีทั้งสารแอนติเจน A และสารแอนติเจน B บนผิวเม็ดเลือดแดงและไม่สร้างสารต้านทั้งสองชนิด
กรุ๊ปเลือด O คือคนที่ไม่มีทั้งสารแอนติเจน A และสารแอนติเจน B บนผิวเม็ดเลือดแดง จึงสร้างสารต้านทั้งแอนติเจน A และแอนติเจน B (เป็นที่มาของการเปลี่ยนจาก C เป็น O ) ควรกินอาหารแบบมังสวิรัติเป็นหลัก เนื้อสัตว์ เนย นม ไข่ ได้บ้างในปริมาณน้อย
กรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือดจึงเป็นเครื่องหมายทางชีวภาพที่แตกต่างกันของแต่ละคน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดเมื่อต้องได้รับการรักษาพยาบาล และมีความสัมพันธ์กับอาหารที่กินเข้าไปอย่างที่บางคนเชื่อ แต่ไม่ใช่ตัวแปรหรือสิ่งบ่งชี้เกี่ยวกับอุปนิสัย พฤติกรรม
แม้ “การกินอาหารตามกรุ๊ปเลือด” เป็นเทรนด์ซึ่งมีผู้คนให้ความสนใจไม่น้อย แต่สิ่งที่ควรปฏิบัติควบคู่ไปกับการกินก็คือ การละและเลิกพฤติกรรมต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงจะมีสุขภาพไม่ดี เช่น กินข้าวไม่ตรงเวลา เคี้ยวข้าวไม่ละเอียด หรือกินอาหารรสจัดอยู่เป็นประจำ
ทั้งนี้เนื่องจากการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องหมู่เลือด จึงไม่ค่อยมีใครสนใจข้อห้ามหรือคำแนะนำว่าควรกินตามทฤษฎีนี้
คุณสุวิมล สุธีโสภณ ต้นตำรับอาหารแนว blood type cuisine แห่งร้านชื่อ Vista Kitchen ชั้นที่3 อาคารวีรสุ ถนนวิทยุ เป็นผู้ที่ศึกษาและทดลองกินอาหารตามกรุ๊ปเลือดมานานกว่า 3 ปี เธอบอกว่ากินแบบนี้ไม่ทรมานตัวเองจนเกินไป ขณะที่กินอาหารแนวอื่น อาจจะทำให้เรารู้สึกเครียดเพราะความอยากกิน แต่วิธีนี้เพียงแต่เรากินของที่ห้ามให้น้อยลง และกินของมีประโยชน์ให้มากขึ้น ผลพลอยได้คือน้ำหนักลด โรคปวดตามข้อค่อยๆ หายไป
ปัจจุบัน ร้าน Vista Kitchen ชั้น 3 ของอาคารวีรสุ เป็นร้านเดียวซึ่งใส่ใจในอาหารที่เหมาะสมกับลูกค้าตามกรุ๊ปเลือด
อ้างอิง:
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์กุลวรา กิตติสาเรศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (สืบค้นวันที่ 10 มกราคม 2566), มารู้จักหมู่เลือดกันเถอะ ตอนที่ 1. (ออนไลน์)
- Dariush D Farhud and Marjan Zarif Yeganeh, National Library of Medicine (retrieved Jan 9, 2023), A Brief History of Human Blood Groups. (Online)
- health.gov.mt (retrieved Jan 9, 2023), History of Blood. (Online)
- ดร.พญ.ณิชชา ไพรัตน์ กินอาหารตามกรุ๊ปเลือด (Eat Right for Your Blood Type)
คอลัมน์: กินแกล้มเล่า
เรื่อง: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี
ภาพ: อินเทอร์เน็ต