ปลาหมอคางดำ หรือปลานิลกลายพันธุ์

-

“ปลาหมอคางดำระบาดหนัก ออกประกาศจับ ชวนชาวบ้านแจ้งพิกัด รวมพลังล่าปลาหมอคางดำ เตือนพบในทะเลแล้ว” …ภัยพิบัติของสัตว์น้ำต่างถิ่น เอเลียนสปีชีส์ (alien species) อย่าง ‘ปลาหมอคางดำ’ (blackchin tilapia) ที่กำลังระบาดไปนับ 10 จังหวัดทั่วประเทศไทย ได้กลายเป็นวาระแห่งชาติอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจะต้องรีบดำเนินการแก้ปัญหา

การระบาดของปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำจากทวีปแอฟริกา ที่มีลักษณะภายนอกคล้ายกับพวกปลานิลและปลาหมอเทศ ได้ก่อความเสียหายต่อผลผลิตในบ่อเพาะเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาของเกษตรกร รวมถึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เนื่องจากมันเป็นปลา 3 น้ำ ซึ่งอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำและป่าชายเลน รวมถึงน้ำทะเล สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำ และขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้พบระบาดในแหล่งน้ำหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสมุทรสาคร

ลักษณะเด่นของปลาหมอคางดำอยู่ที่แต้มสีดำชัดเจนตรง ‘คาง’

ปลาหมอคางดำ แม้ดูเผินๆ คล้ายปลาหมอเทศ แต่ก็มีลักษณะเด่นคือมักมีจุดสีดำขนาดใหญ่ตรงคาง  ส่วนสีของลำตัวอาจผิดแผกกัน เป็นสีเงิน สีน้ำเงินอ่อน สีเหลือง สีดำบ้าง ขึ้นกับสีของแหล่งน้ำที่มันอาศัย ปลาหมอคางดำสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยใช้เวลาฟักไข่เพียง 4-6 วัน มันจึงเพิ่มจำนวนเป็นหมื่นเป็นแสนตัวได้ ในระยะเวลาเพียงแค่ 4-5 เดือน แถมยังเป็นปลาที่กินจุและกินแหลก ชอบกินทั้งแพลงก์ตอนพืช ตัวอ่อนสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นลูกกุ้ง ลูกปู ลูกปลา ฯลฯ จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ถ้ามีปลาหมอคางดำหลุดเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้ง ก็จะกินลูกกุ้งจนหมดบ่อ ทำเอาเกษตรกรล้มละลายได้เลยทีเดียว

ถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำในปัจจุบันนั้น มักพบพวกมันแพร่กระจายอยู่ตามแม่น้ำลำคลองของจังหวัดต่างๆ ริมชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย คือทางด้านทิศตะวันออกของอ่าวไทย ตั้งแต่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ จนถึงระยอง จันทบุรี และทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ ตั้งแต่สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช จนถึงสงขลา ผู้คนจึงกังวลกันมากว่าถ้าพวกมันระบาดในทะเลสาบสงขลา คงจะเกิดวิกฤติร้ายแรงกับสัตว์น้ำตามธรรมชาติและระบบนิเวศของนั่นอย่างแน่นอน

ชาวบ้านสามารถจับปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่ระบาดได้เป็นจำนวนมาก

ปลาหมอคางดำไม่ได้เพิ่งมาระบาดเมื่อไม่กี่ปีนี้ แต่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รายงานการระบาดของพวกมันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 – 2555 แล้ว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมาก จนพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำในท้องถิ่นร่อยหรออย่างรวดเร็ว และประชาชนก็ไม่สามารถประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงกุ้งปลาได้อีกต่อไป แถมการกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่นั้นให้หมดสิ้น ก็เป็นไปได้ยากเพราะมีจำนวนมากมายมหาศาล กรมประมงจึงต้องออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 ประกอบด้วยปลาเอเลียนสปีชีส์ 3 ชนิดพันธุ์ คือ ปลาหมอคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ ถ้าใครฝ่าฝืนลักลอบเพาะเลี้ยง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ

พอกระแสความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำแพร่สะพัดไปในสังคมไทย ก็เกิดข่าวลือแปลกๆ ตามมาหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น มีคนสงสัยว่าอาจมีปลาลูกผสมระหว่างปลาหมอคางดำกับปลานิล แล้วกลายพันธุ์จนเป็น ปลานิลคางดำ เนื่องจากไปทอดแหในบ่อที่เลี้ยงไว้ แล้วได้ปลาตัวอ้วนกลมดูคล้ายปลานิล ไม่ได้ผอมยาวหัวโตเหมือนปลาหมอคางดำตรงเคยเห็น แต่มันมีสีดำที่คางด้วย เลยกังวลถ้าหากเป็นปลากลายพันธุ์จริงๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูแล้ว จะพบว่าปลาตัวนั้น แม้ดูอ้วนกลมคล้ายปลานิล ก็ไม่มีลวดลายจุดสีขาวและเส้นสีดำตัดขวางลำตัวและหาง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของปลานิลแต่อย่างใด หรือพูดกลับกันได้ว่า ที่จริงมันก็คือปลาหมอคางดำนั่นแหละ แค่มันกินอาหารไปมาก จนเติบโตอ้วนท้วนสมบูรณ์ ตัวใหญ่จนคนไม่คุ้นตา ข้อมูลเกี่ยวกับปลาหมอคางดำในทวีปแอฟริกาที่เป็นแหล่งกำเนิด ปรากฏว่า ถ้าได้รับอาหารอุดมสมบูรณ์ ก็จะเจริญเติบโตดีจนมีความยาวเฉลี่ยถึง 8 นิ้ว และตามสถิติตัวที่ยาวสุดนั้นยาวถึง 11 นิ้วเลยทีเดียว มันจึงกลายเป็นปลาอาหารอีกชนิดหนึ่งของคนในท้องถิ่น

ปลานิลแม้มีลักษณะคล้ายปลาหมอคางดำ แต่เป็นคนละสกุลกัน

ส่วนการที่จะเกิดลูกผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลาหมอคางดำกับปลานิลนั้น ก็เป็นไปได้ยาก ต้องพยายามผสมเทียมในห้องปฏิบัติการและได้ลูกผสมเป็นจำนวนน้อยมาก อีกทั้งไม่เคยมีรายงานว่าพบในธรรมชาติ เนื่องจากแม้พวกมันจะดูคล้ายคลึงกัน แต่ก็เป็นคนละชนิดพันธุ์ (species) คนละสกุล (genus) กล่าวคือ ปลานิลอยู่ในสกุล Oreochromis ส่วนปลาหมอคางดำอยู่ในสกุล Sarotherodon อีกทั้งพฤติกรรมการฟักไข่และดูแลลูกปลาก็แตกต่างกันด้วย ปลานิลเพศเมียมีพฤติกรรมดูแลไข่และลูกปลาตัวอ่อน แต่ปลาหมอคางดำเพศผู้กลับทำหน้าที่ดูแลไข่และตัวอ่อน

คำถามอีกข้อก็คือ ทำไมเราไม่เรียก ‘ปลาหมอคางดำ’ ว่า ‘ปลานิลคางดำ’ ตั้งแต่แรกเลยล่ะ มันก็อยู่ในวงศ์ปลาหมอสี (family Cichlidae) เหมือนกันมิใช่หรือ คำตอบคือชื่อ ‘ปลานิล’ เป็นชื่อเฉพาะ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานเมื่อปี พ.ศ. 2509 สำหรับพันธุ์ปลาหมอสีที่มาจากแม่น้ำไนล์ (คือ Nile tilapia และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า O. niloticus) ซึ่งทรงรับการถวายจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น (ขณะทรงเป็นมกุฎราชกุมาร) ไม่เหมือนกับ ‘ปลาหมอเทศ’ (คือ Mozambique tilapia หรือ O. mossambicus) ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาและอยู่ในวงศ์ปลาหมอสี แต่มีรูปร่างคล้ายปลาหมอไทย ซึ่งเป็นสัตว์น้ำท้องถิ่นไทยเราและอยู่ในวงศ์ปลาหมอ (family Anabantidae)

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีมติที่จะเร่งแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ด้วยวงเงินงบประมาณถึง 450 ล้านบาท เพื่อระงับวงจรการระบาดของพวกมันให้ได้ ภายใน พ.ศ. 2570 ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ผลจริงตามแผน ก่อนที่ปลาเอเลียนสปีชีส์นี้จะแพร่กระจายไปทั่วประเทศไทย จนยากแก่การแก้ไขเยียวยา


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

ภาพ: อินเทอร์เน็ต

 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!