ชื่อ “กล่องดำ” แต่ทำไมสีส้ม

-

โศกนาฏกรรมทางอากาศเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเครื่องบินของสายการบินไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์ รุ่นโบอิ้ง 737 เที่ยวบินที่ MU5735 ได้ตกลงทางตอนใต้ของประเทศจีน  ผู้โดยสาร พร้อมทั้งนักบินและลูกเรือ เสียชีวิตทั้งหมด นับรวมได้ 132 คน

ภาพวิดีโอของเครื่อง MU5735 ที่พุ่งตกลงกระแทกพื้นดินในแนวดิ่งเกือบ 90 องศา ได้กลายเป็นคำถามใหญ่ เพราะเกิดขึ้นได้ยากมากสำหรับเครื่องบินโดยสารสมัยใหม่ ที่มีการออกแบบโครงสร้างและระบบควบคุมการบินมาเป็นอย่างดี

โชคดีที่ในเวลาเพียงชั่วข้ามวัน เจ้าหน้าที่ของสำนักบริหารการบินพลเรือนแห่งประเทศจีนสามารถค้นพบกล่องดำ 1 ใน 2 กล่องได้ในบริเวณที่เครื่องตก และหลังจากนั้น 4 วันก็ค้นพบกล่องดำกล่องที่ 2 ฝังอยู่ในดินลึกถึง 1.5 เมตร แม้ว่าสภาพของกล่องดำทั้งสองดูเหมือนพังเสียหาย แต่หน่วยเก็บข้อมูลภายในนั้น น่าจะยังสมบูรณ์พอ เพื่อนำมาตรวจสอบวิเคราะห์เสียงที่บันทึกในห้องนักบิน และข้อมูลการทำงานของเครื่องบิน เพื่อหาสาเหตุการตกอย่างแปลกประหลาดของเครื่อง

แต่อีกเรื่องน่าแปลกใจสำหรับบางคนที่เห็นข่าว คือ ทำไมกล่องดำของเครื่องบิน ถึงเป็นสีส้ม ไม่ใช่สีดำอย่างที่คาด

 

กล่องดำกล่องที่ 1 ซึ่งค้นพบหลังจากเครื่องบินของสายการบินไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์ เที่ยวบิน MU5735 ตกในประเทศจีน

 

เครื่องมือที่เรานิยมเรียกว่า กล่องดำ (black box) นี้ จริงๆ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า เครื่องบันทึกการบิน (flight recorder) ซึ่งเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับบันทึกข้อมูลต่างๆ ติดตั้งเอาไว้ในเครื่องบิน เพื่อช่วยเหลือการสืบสวนสอบสวนในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางการบินขึ้น และจะต้องทาสีให้เป็นสีส้มสด ให้ทีมค้นหาสามารถเห็นได้ชัดเจนหลังเกิดอุบัติเหตุแล้ว

เครื่องบันทึกการบินเริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1939 ที่ศูนย์ทดสอบการบิน Marignane ในประเทศฝรั่งเศส ในยุคแรกนั้นยังเป็นเพียงแค่การใช้ม้วนฟิล์มถ่ายภาพ มาบันทึกภาพลำแสงเล็กๆ ที่เปลี่ยนไปตามการเอียงตัวของกระจกเงา เพื่อเก็บข้อมูลระดับเพดานบิน ความเร็ว ฯลฯ  ระบบนี้ถูกนำมาใช้จนถึงทศวรรษ 1970 เพราะมีข้อดีที่ม้วนฟิล์มนั้นทนทานและสามารถนำมาล้างดูได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องอ่าน แต่ก็มีข้อเสียที่ยังไม่อาจบันทึกเสียงในห้องกัปตันได้

ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทรวงการผลิตอากาศยาน แห่งประเทศสหราชอาณาจักร ให้มีความแข็งแรงสูง ได้พัฒนาเครื่องบันทึกการบินข้อมูลยังคงอยู่สมบูรณ์แม้เครื่องบินจะตกจนเกิดเพลิงไหม้ และเป็นต้นแบบของเครื่องบันทึกที่ใช้กันในปัจจุบัน ซึ่งใช้แผ่นทองแดงบางๆ เป็นตัวกลางในการเก็บข้อมูล  นอกจากนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องมือสำหรับบันทึกเสียงภายในเครื่องบิน ใน ค.ศ 1943 กองทัพอากาศสหรัฐได้ใช้เครื่องบันทึกเสียงแบบลวดแม่เหล็ก เก็บเสียงการสนทนาระหว่างลูกเรือเครื่องบิน B-17 ของตน ระหว่างภารกิจทิ้งระเบิดใส่กองทัพเยอรมัน แล้วนำมาออกอากาศให้ประชาชนฟังในอีก 2 วันต่อมา

 

เจ้าหน้าที่สำนักงานการบินพลเรือนกำลังเก็บกู้กล่องดำจากเครื่องบิน UPS Airlines เที่ยวบิน 1354 ที่ตก

 

ส่วนคำว่า “กล่องดำ” นั้น เกิดขึ้นในประเทศสหราชอาณาจักร ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกัน แต่ตอนแรกใช้เรียกการพัฒนาอุปกรณ์ลับในการช่วยบินของเครื่องบินรบ ไม่ว่าจะเป็นระบบวิทยุ เรดาร์ และเครื่องนำทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเครื่องบันทึกเสียง โดยบรรจุอยู่ในกล่องสีดำทึบไม่สะท้อนแสง และนำมาใช้งานในกองทัพอากาศ ก่อนถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้พลเรือนในภายหลัง จนถึงปี 1967 ที่หลายประเทศเริ่มกำหนดให้เครื่องบินโดยสารต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการบินและเครื่องบันทึกเสียงห้องนักบินไว้ด้วย แต่คำว่า “กล่องดำ” ก็ยังคงถูกใช้ต่อไป แม้ว่าความจริงมันจะเป็นกล่องสีส้มเรืองแสง

การที่เจ้าหน้าที่ของจีนค้นพบกล่องดำ 2 กล่องจากซากของเครื่อง MU5735 ที่ตกนั้น เนื่องจากกล่องดำจะประกอบด้วย 1. กล่อง FDR หรือเครื่องบันทึกข้อมูลการบิน (flight data recorder) ที่จะเก็บรวบรวมค่าพารามิเตอร์หลายสิบค่า เช่น ความเร็วลม ระดับความสูง ความเร่งในแนวดิ่ง น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ เป็นจำนวนหลายครั้งต่อหนึ่งวินาที ตลอดเส้นทางการบินของเครื่องบินลำนั้น หรือไม่เกิน 25 ชั่วโมง และ 2. กล่อง CVR หรือเครื่องบันทึกเสียงห้องนักบิน (cockpit voice recorder) ซึ่งเก็บเสียงเล็กเสียงน้อยทุกอย่างที่เกิดขึ้นในห้องนักบิน รวมทั้งเสียงการสนทนาระหว่างนักบินกับนักบิน และนักบินกับหอบังคับการบิน ในช่วงเวลา 2 ชั่วโมง (ก่อนที่จะมีการวนลูปบันทึกใหม่) ทั้งสองเครื่องนี้มักติดตั้งไว้ที่ส่วนหางของเครื่องบิน เพราะเป็นส่วนที่มีแนวโน้มจะได้รับความเสียหายจากเครื่องบินตกน้อยที่สุด

 

กล่องดำทั้งสองคือเครื่องบันทึกข้อมูลการบินและเครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน ซึ่งติดตั้งไว้ที่ส่วนหางของเครื่องบิน

 

ความแข็งแรงทนทานเป็นจุดเด่นสำคัญที่เรามักนึกถึงเวลาพูดถึงกล่องดำ กล่องนี้สร้างขึ้นจากเหล็กหรือโลหะพิเศษที่หนาสองชั้น โดยต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานต่างๆ แล้วไม่ให้ทำข้อมูลที่เก็บไว้ภายในเสียหาย เช่น ทนทานต่อการยิงให้พุ่งออกไปด้วยความเร็วสูง และปะทะเป้าหมาย ในอัตราความเร่งที่ 3400 เท่าของแรงโน้มถ่วง (3400 G) ต้องทนต่อการทะลุทะลวง ด้วยการปล่อยให้มวลน้ำหนักขนาด 227 กิโลกรัม ติดเข็มเอาไว้ แล้วปล่อยที่ความสูง 3 เมตรลงมากระแทกกับเครื่อง รวมถึงการทดสอบอื่นๆ เช่น ทนความร้อนได้ถึง 1100 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานพอสมควร ทนต่อการจมอยู่ในถังบรรจุน้ำทะเลอัดความดัน (จำลองเหมือนการจมอยู่ใต้น้ำทะเลลึก) และทนต่อการจมอยู่ในน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินเจ็ต ฯลฯ             นอกจากนี้ ในกรณีที่เครื่องบินตกในทะเล กล่องดำยังมีเครื่องส่งสัญญาณระบุตำแหน่ง ที่ส่งสัญญาณทุก 1 วินาที จากใต้น้ำลึกถึง 4 กิโลเมตร เป็นเวลา 30 วันก่อนแบตเตอรี่หมด ซึ่งทีมค้นหาจะใช้เครื่องหาสัญญาณ มาลากหาในน้ำได้

หวังว่าผู้เชี่ยวชาญจะสามารถดึงข้อมูลต่างๆ จากกล่องดำของเครื่อง MU5735 ได้เพียงพอจนเราทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะเหตุใดเครื่องบินจึงตกในลักษณะทิ้งดิ่งเช่นนั้น และจะเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางอากาศเช่นนี้อีกในอนาคต

 


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!