หญิงร้าย: สถานภาพของผู้หญิงไทยในระบบสังคมชายเป็นใหญ่

-

แค่เห็นชื่อเรื่องและหน้าปก  หนังสือชื่อ หญิงร้าย  ของ วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล ก็กระตุ้นให้เปิดเข้าไปอ่านเนื้อใน   หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เรื่อง “หญิงชั่วในประวัติศาสตร์ไทย: การสร้างความเป็นหญิงโดยชนชั้นนำสยามช่วงต้นรัตนโกสินทร์–พ.ศ.2477”  ซึ่งได้รับทุนจาก สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)

“หญิงร้าย”  ในที่นี้คือ ผู้หญิงที่โดนกฎระเบียบ จารีต และกติกาทางสังคม พิพากษาว่าพวกเธอมีความประพฤติที่ผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐานที่สังคมกำหนดไว้  จึงต้องถูกลงโทษ  อาจจะเป็นสถานเบา คือ โบยตี  จองจำ  ลดยศหรือตำแหน่ง  หรือสถานหนักคือประหารชีวิต  แล้วแต่กรณี

ความไม่เท่าเทียมทางเพศระหว่างหญิงกับชาย (และที่หนักมากกว่าคือความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิง-ชายกับคนข้ามเพศ) เป็นเหตุการณ์ธรรมดาวิสัยในสังคมโลกตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่มีการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ และเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคมไปมากแล้ว หากเท้าความถึงกำเนิดของมนุษย์สามคนแรก คือ อดัม (Adam)  ลิลิธ (Lilith) และ อีฟ  (Eva) ซึ่งปรากฏตำนานในคัมภีร์ไบเบิล ฉบับพันธสัญญาเดิมและคัมภีร์อรรถกถาทัลมุด จะมองเห็นแนวความคิด (concept) เรื่องความไม่เท่าเทียมกันของชายกับหญิงเป็นอย่างดี  อดัมเป็นมนุษย์ผู้ชายคนแรกที่พระเจ้าสร้างจากดิน  และพระเจ้าก็สร้างลิลิธจากดินเช่นกัน ให้เป็นภรรยาของอดัม  ลิลิธจึงเห็นว่าเธอมีศักดิ์ศรีเท่าอดัม และต้องการความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ลิลิธจึงต่อต้านการตกเป็นเบี้ยล่างทุกอย่างแม้กระทั่งท่าร่วมเพศที่ผู้หญิงอยู่ใต้ร่างของผู้ชาย  ลิลิธปฏิเสธ  ขัดขืน และสาปแช่งอดัม แล้วทิ้งเขาไปอยู่กับจอมปีศาจและให้กำเนิดลูกวันละ 100 ตน  เมื่ออดัมไปฟ้องพระเจ้า พระเจ้าลงโทษโดยฆ่าลูกๆ ของลิลิธ และบันดาลภรรยาคนใหม่ให้อดัมคือ อีฟ ซึ่งสร้างจากกระดูกซี่โครงของอดัม อีฟจึงยอมสยบอยู่ในอำนาจของอดัม

 

 

เรื่องราวของลิลิธปรากฏในตำนานโบราณหลายฉบับที่วาดภาพให้เธอเป็นจอมปีศาจ เป็นผู้หญิงสวยที่ยวนใจผู้ชายให้หลงในตัณหาราคะและยังชอบทำร้ายเด็กๆ อีกด้วย แต่หากตีความตำนานในเชิงสัญลักษณ์ตามแนวคิดสตรีนิยม  ลิลิธเป็นภาพแทนของการต่อต้านขัดขืนอำนาจของผู้ชาย เธอเป็นผู้นำในเรื่องความมีอิสรภาพ เสรีภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ และการยืนหยัดที่จะดำเนินชีวิตตามแนวทางของตน  ส่วนอีฟเป็นสัญญะที่ตรงกันข้าม เพราะเธอเป็นหญิงอ่อนแอ  และยอมรับการอยู่ในอำนาจบังคับกดขี่ของผู้ชาย ด้วยเหตุนี้ บางคนจึงกล่าวว่าการพยายามแก้ไขให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศไม่มีวันประสบผลสำเร็จได้ เพราะผู้หญิงเป็นเบี้ยล่างของผู้ชายมาตั้งแต่พระเจ้าสร้างมนุษย์แล้ว ดังนั้น ผู้หญิงที่ขัดขืน ละเมิดจารีต ก็จะถูกประณามว่าเป็น “หญิงร้าย

หนังสือหญิงร้าย  บอกเล่าเรื่องราวการสร้างภาพลักษณ์ของผู้หญิงในสายตาของผู้ชาย ผ่านคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา  กฎหมายตราสามดวง จารีตประเพณี  พระราชบัญญัติ  และสถาบันครอบครัว  โดยเน้นประเด็นเรื่องหญิงมีชู้ ซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็น หญิงชั่ว  หญิงร้าย หญิงแพศยา อันมีบันทึกกรณีที่เกิดเรื่องอื้อฉาวไว้เป็นลายลักษณ์อักษรถึงมูลเหตุ  คู่กรณี บุคคลเกี่ยวข้อง  และบทลงโทษตามกฎมนเทียรบาลหรือพระราชอำนาจ ซึ่งหมายความว่าน่าจะมีกรณีที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอีกจำนวนมาก  เรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้เหล่านี้เป็นกรณีศึกษาสำหรับคนรุ่นหลังผู้สนใจประวัติศาสตร์  กฎหมาย  แนวคิดสตรีนิยม  ระบบครอบครัวและโครงสร้างสังคมไทย

การกล่าวว่าผู้หญิงไทยมีอิสระ เสรีภาพ มากกว่าผู้หญิงชาติตะวันออกอื่นๆ  ยังมีความย้อนแย้งอยู่ เพราะแม้จะปรากฏทั้งในเอกสารประวัติศาสตร์และวรรณคดีว่าผู้หญิงสามัญมีอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นใหญ่ในครอบครัว  เนื่องเพราะสามีถูกเกณฑ์ไปรบหรือทำราชการ จึงไม่มีเวลาดูแลครอบครัว แต่หากเกิดปัญหาการละเมิดผิดศีลธรรมจริยธรรม  หญิงผู้เป็นภรรยาเหล่านี้จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเท่าเทียมกับสามี  ความคุ้มครองจากกฎหมาย  จารีต  ค่านิยม ทำให้สามีมี “อำนาจอิศระ” (supreme power)  เหนือภรรยา สามีเป็น “เจ้าของ” ส่วนภรรยาเป็นทรัพย์สินที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้  เช่นเดียวกับพ่อมี “อำนาจอิศระ” ในการขายลูกสาว  ดังเมื่อเกิดเหตุในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องอำแดงเหมือนทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาว่าพ่อแม่บังคับขืนใจให้แต่งงานกับนายภูทั้งที่ตนมีคนรักอยู่แล้วคือนายริด  นำไปสู่การมีประกาศพระราชบัญญัติลักษณลักพา และต่อมาเกิดเหตุทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ของอำแดงจั่นที่สามีนำเธอไปขายเป็นทาสโดยเธอไม่ยินยอม ก็มีประกาศพระราชบัญญัติเรื่องผัวขายเมีย บิดามารดาขายบุตร พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้แก้ไขสถานภาพของผู้หญิงให้ดีขึ้น ให้สิทธิความเป็นมนุษย์แก่ผู้หญิง พ้นจากอำนาจของสามีและพ่อ และล้มล้างวาทกรรมจากกฎหมายเก่าที่ว่า “หญิงเป็นชาย  ควายเป็นคน” ประกาศพระราชบัญญัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถือได้ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่พระราชทานสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคแก่ผู้หญิง นับว่าเป็นแนวคิดประชาธิปไตยทั้งๆ ที่สังคมไทยยังไม่ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยเลย

ถึงกระนั้นก็ตาม สิทธิ เสรีภาพ อิสรภาพ และความเสมอภาคมิใช่เกิดแก่ทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข ในยุคของสังคมศักดินา หญิงสูงศักดิ์หาได้มีอภิสิทธิ์เหนือหญิงสามัญไม่ ตรงกันข้าม หญิงสูงศักดิ์ต้องมี “หน้าที่” รักษาเกียรติยศของวงศ์ตระกูลทั้งของฝ่ายบิดามารดาและของฝ่ายสามีผู้มีบรรดาศักดิ์ หากทำผิดทางเพศไม่ว่าจะลอบรัก ลอบเป็นชู้ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดคดีอุกฉกรรจ์ของผู้หญิง หญิงสูงศักดิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ฝ่ายใน” ย่อมได้รับการลงโทษตามกฎมนเทียรบาลซึ่งเข้มงวดอย่างยิ่งในเรื่องการทำผิดทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นชู้ ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงขั้นมหันตโทษ เทียบเท่าเป็นกบฏ  ผู้กระทำความผิดต้องถูกประหารชีวิตอย่างทุกข์ทรมานด้วยวิธีการโหดเหี้ยมต่างๆ  เช่น  เสียบประจานบนขาหยั่ง  แทงด้วยหลาวจนตาย  ใส่ถุงหนังถ่วงน้ำทั้งเป็น  หรือทุบด้วยท่อนจันทน์แล้วถ่วงน้ำ

คำพูดที่ว่า “เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก”  คงไม่เกินเลยนัก  เพราะแม้ว่ามีการออกพระราชบัญญัติหลายฉบับเพื่อยกระดับสถานภาพของผู้หญิงในช่วงที่สังคมไทยยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการออกกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของผู้หญิงในช่วงที่สังคมไทยเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังเป็นปมปัญหาที่ขมวดแน่น  เพราะมีผู้ชายและผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า “หญิงดี” คือ หญิงที่สงบเสงี่ยมเจียมตน เป็นผู้ตาม มีความประพฤติดีงามโดยเฉพาะพฤติกรรมทางเพศ ผู้หญิงที่เป็นขบถต่อวาทกรรมนี้ถือว่าทำตัวท้าทายและต่อสู้กับอำนาจชายเป็นใหญ่ ในขณะที่ผู้ชายที่เป็นต้นเหตุไม่ค่อยถูกลงโทษรุนแรงนักไม่ว่าด้วยกฎหมาย จารีต หรือกฎสังคม ผู้หญิงกลับถูกลงโทษด้วยกฎ ระเบียบ จารีต  ถูกประณาม  ถูกประจานให้เจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในสังคมสมัยใหม่ แม้ค่านิยมสังคมจะเปลี่ยนเป็นพอใจในระบบครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว  แต่ครอบครัวแบบผัวเดียวหลายเมียยังมีอยู่ไม่น้อย หากมีเหตุทะเลาะเบาะแว้งจนถึงขั้นออกสื่อสังคม ผู้ที่ถูกลงโทษทางสังคมกลับเป็นผู้หญิงทั้งภรรยาหลวงและภรรยาน้อย ส่วนสามีตัวดียกเว้นไว้ ถือว่าเป็นคนมีเสน่ห์

อ่านหนังสือ ผู้หญิงร้าย ทำให้รับรู้เรื่องราวในอดีตที่เกิดแก่ผู้หญิงหลายสาเหตุหลายกรณี  ตราบใดที่ความเป็นหญิงทั้งดีและร้ายถูกสร้างจากมโนทัศน์ของผู้ชาย  ตราบนั้นผู้หญิงก็คงไม่มีวันหลุดพ้นจากหลุมพรางดังกล่าว ดังนั้นจึงน่าจะมีใครสักคนเขียนหนังสือ ผู้ชายเลว อีกสักเล่มให้อ่านเพื่อประเทืองอารมณ์


คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์

เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!