ย้อนไปในปี 1964 หรือสิบเก้าปีให้หลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด อุตสาหกรรมสิ่งทอกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรุนแรง กิจการจำนวนมากต้องปิดตัว ปรับโครงสร้าง หรือขายกิจการเพื่อกระเสือกกระสนเอาชีวิตรอด
ไม่เว้นแม้แต่โรงงานเสื้อผ้าอันเคยรุ่งโรจน์ของ ซีเบรี สแตนตัน (Seabury Stanton) ซึ่งแม้ว่าเพิ่งตัดสินใจควบรวมกิจการมาเมื่อราวสิบปีที่แล้ว แต่สุดท้ายก็จำเป็นต้องปิดสายพานการผลิตเกือบครึ่ง เพราะทนแรงกดดันทางปัญหาการเงินไม่ไหวอีกต่อไป
นักลงทุนหนุ่มอายุสามสิบสี่ปีคนหนึ่งกำลังจับจ้องบริษัทดังกล่าวด้วยความสนใจ แม้ว่าโรงงานสิ่งทอขนาดเล็กในรัฐโรดไอแลนด์ดูจะมีแนวโน้มในอนาคตที่ไม่งดงามนัก แต่สิ่งที่กิจการมีอยู่นั้นสำคัญมากคือสินทรัพย์ที่จับต้องได้ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นงบการเงินหรือโรงงานอุตสาหกรรม อาคาร ที่ดิน อุปกรณ์การผลิต รวมถึงเสื้อผ้าคงคลังทั้งหลายสามารถตีเป็นตัวเลขได้ และเมื่อคำนวณด้วยวิธีสินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิ (net current asset per share) แล้ว ราคาหุ้นก็มีมูลค่าถูกเหลือเกิน
นักลงทุนผู้ชาญฉลาดใช้บริษัทเพื่อการลงทุนของตนเข้าซื้อหุ้นไว้มาเป็นจำนวนมาก เพราะคิดว่าราคาที่ซื้อขายในตลาดหุ้นนั้นมองโลกในแง่ร้ายเกินไป และเขาน่าจะเจรจากับบริษัทให้ประกาศซื้อหุ้นคืนได้ในราคาที่เหมาะสม หุ้นราคาต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิมากมักเป็นเป้าหมายของนักลงทุนแบบแอ็กทิวิสต์ (activist investor) ที่จะซื้อธุรกิจมาเพื่อแยกกิจการและขายสินทรัพย์ออกไปเพื่อหากำไร แรงจูงใจเรื่องการซื้อหุ้นคืนเพื่อพยุงราคาและป้องกันการโจมตีเพื่อควบคุมบริษัทจึงไม่ใช่เรื่องฝันเฟื่องเกินไปนัก
ซีเบรี สแตนตัน รับปากรับคำทางโทรศัพท์กับนักลงทุนคนผู้นั้นว่า บริษัทจะประกาศซื้อหุ้นคืนในราคา 11.50 ดอลลาร์ต่อหุ้น นั่นนับเป็นข้อตกลงที่ดี เพราะเขามีต้นทุนราคาหุ้นอยู่ประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อหุ้น ผลตอบแทนดังกล่าวมากพอที่จะทำให้เขาตัดสินใจขายหุ้นคืนให้กิจการจนหมด แต่เมื่อบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืนจริง ราคาสำหรับการทำคำเสนอซื้อหุ้นต่อผู้ถือหุ้นทั่วไปกลับอยู่ที่ 11.375 ดอลลาร์ต่อหุ้น
ตัวเลขดังกล่าวทำให้เขาไม่พอใจเป็นอย่างมาก นอกจากไม่ยอมขายหุ้นคืนให้แก่กิจการคืนตามที่วางแผนไว้แต่ต้นแล้ว นักลงทุนหนุ่มคนนั้นกลับเริ่มต้นซื้อหุ้นของบริษัทอย่างบ้าคลั่ง จนกระทั่งเขากลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของกิจการ คือประมาณ 25% ของหุ้นทั้งหมด
นักลงทุนผู้ชาญฉลาดประกาศขับไล่ ซีเบรี สแตนตัน ผู้ที่เบียดบังราคาหุ้นของเขาไป 0.125 ดอลลาร์ต่อหุ้น ปัญหาใหม่และใหญ่จึงได้เริ่มต้นขึ้น เพราะเขาเป็นนักลงทุน หากแต่ไม่ได้มีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจอย่างจริงจังมาก่อนเลย
“นี่คือหุ้นที่โง่บรมเท่าที่ผมเคยซื้อมา”
เขากล่าว และคนจำนวนมากก็อาจไม่ได้เห็นต่างนัก ผู้บริหารหน้าใหม่เริ่มต้นปรับปรุงบริษัทสิ่งทอที่แสนอืดอาดและอุ้ยอ้ายหลายอย่าง ตั้งแต่วางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อทำกำไรมากขึ้น หยุดกิจการในส่วนที่ไม่มีอนาคต แต่เขาก็เผชิญความยากลำบาก เพราะทุกภาคส่วนของกิจการเต็มไปด้วยพนักงานซึ่งเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ เขาไม่กล้าสั่งปิดกิจการฉับพลัน และปล่อยให้ทุกคนไปตายเอาดาบหน้า
สิ่งที่นักลงทุนผู้ชาญฉลาดทำคือการกระจายการลงทุนไปยังบริษัทอื่น เขาเริ่มต้นมองหากิจการที่ดี อุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ในปี 1967 เขาตัดสินใจเข้าซื้อกิจการประกันภัยของบริษัท The National Indemnity เป็นลำดับแรก
เขาดำเนินกลยุทธ์แบบนี้ ใช้เงินสดที่มีเข้าซื้อกิจการอื่น และปล่อยให้สายพานการผลิตสิ่งทอค่อยๆ ทยอยหยุดไป จนโรงงานสิ่งทอปิดกิจการได้สำเร็จในปี 1985 และบริษัทดังกล่าวก็กลายเป็นเครื่องจักรลงทุนอย่างสมบูรณ์
ถึงเขาจะเคยกล่าวว่า “นี่คือหุ้นที่โง่บรมเท่าที่ผมเคยซื้อมา” แต่บริษัทสิ่งทอที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจสิ่งทออีกต่อไป กลับให้ผลตอบแทนอย่างมหาศาล แน่นอนว่าทั้งหมดนั้นคลี่คลายอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกระแสเงินสดอิสระของกิจการที่เพิ่มขึ้น เขาและมิตรสหายได้เข้าซื้อกิจการชั้นยอดอีกเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาหลายสิบปีต่อมา ร้านขายช็อกโกแลต ร้านค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ บริษัทเงินทุน หัวหนังสือพิมพ์ชื่อดัง สาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ รวมทั้งบริษัทเครื่องบินส่วนบุคคล
จากข้อมูลถึงปัจจุบัน (ขณะเขียนต้นฉบับนี้) ราคาหุ้น A Share ของ เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 628,930.18 ดอลลาร์ต่อหุ้น ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2024 หรือเทียบเท่ากับผลตอบแทนประมาณ 5,240,954.83%
และนี่กลายเป็นการลงทุนระดับตำนานของโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาในแง่ที่ว่าหุ้นเติบโต กิจการมีรายได้ กำไรสุทธิ และกระแสเงินสดอิสระเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนราคาหุ้นก็เติบโตขึ้นอย่างมหาศาลเกินคาด
ชื่อของนักลงทุนผู้ชาญฉลาดคนนั้นคือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)
นักลงทุนผู้ครองตำแหน่งมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกในปี 2008 และยังคงรั้งตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับต้นของโลกเสมอมา เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ กลายสภาพจากสินทรัพย์ไร้ค่า สู่เครื่องผลิตกระแสเงินสดอย่างสมบูรณ์
ปัจจุบันหุ้นอดีตโรงงานสิ่งทอนี้ยังคงซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้แก่ผู้ถือหุ้นปีละหลายหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี
คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน
เรื่อง: ‘ลงทุนศาสตร์’