เขียดแลว กบทูด กบภูเขา เป็นชื่อของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกประจำถิ่นของไทย เป็นกบขนาดใหญ่อันดับสองของโลก และขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย มีการเรียกชื่อกบชนิดนี้แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ อาทิ เขียดแลว (ภาคเหนือ) มักกระจายพันธุ์อยู่ตามลำห้วยลำธารบริเวณภูเขาสูงในประเทศไทย เช่น แถบเทือกเขาตะนาวศรี จังหวัดที่พบมาก ได้แก่แม่ฮ่องสอน (ในอำเภอแม่สะเรียง ปาย ขุนยวม สบเมย) จังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี
(ในอำเภอสังขละ) และจังหวัดยะลา (ในอำเภอเบตง) มักพบกบทูดนอนหมอบอยู่ตามแอ่งหินริมลำธาร ตามพื้นริมน้ำที่มีความชื้นสูง และตามกอพืชที่มีน้ำขังแฉะเพื่อรอเหยื่อ
ปัจจุบัน กบทูด หรือ กบภูเขา หรือ เขียดแลว (Rana blythii) ตามธรรมชาติได้ลดจำนวนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของมันถูกทำลาย รวมถึงการถูกมนุษย์จับมาเป็นอาหารยอดนิยม ดังนั้นนอกจากการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์กบทูดจะเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์แล้ว ยังเป็นการเสริมแหล่งอาหารประเภทโปรตีนให้แก่ผู้บริโภคในอนาคตได้อีกด้วย ปัจจุบันมีการศึกษากบภูเขาเพื่อขยายพันธุ์และเพิ่มปริมาณ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถเลี้ยงกบภูเขาเป็นจำนวนมากได้ เนื่องจากมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ จึงไม่คุ้มค่าแก่การเลี้ยง
กบภูเขาขนาดใหญ่ที่เคยพบ ตัวยาวถึง 26 เซนติเมตร มักออกหากินในช่วงเวลากลางคืนและหลบซ่อนตัวตอนกลางวัน กินอาหารจำพวกไส้เดือน ตัวอ่อนของแมลง ลูกกุ้ง ลูกปลา และลูกปู เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะออกมาจากป่าดงดิบเพื่อผสมพันธุ์ในบริเวณลำธาร แล้วขุดหลุมเพื่อวางไข่ ในแต่ละหลุมมีไข่ประมาณ 700-1,500 ฟอง ไข่เป็นประเภทไข่จมไม่ติดวัตถุ มีลักษณะกลมใส สีขาว ขนาดใหญ่เฉลี่ย 4.1 มิลลิเมตร ตัวอ่อนจะฟักและโตเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ชาวบ้านมักออกหากบภูเขาในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อนำมาประกอบอาหารและจำหน่ายแก่ร้านอาหาร ราคากิโลกรัมละหลายร้อยบาท
ในอดีตเขียดแลวมีจำนวนมาก จัดเป็นอีกเมนูที่ชาวแม่ฮ่องสอนนำมาบริโภคเหมือนอาหารพื้นบ้านทั่วไป อีกทั้งยังได้รับความนิยมแพร่หลายตามร้านอาหารหลายแห่ง กระทั่งจำนวนลดลงอยู่ในภาวะล่อแหลมถึงขั้นอาจสูญพันธุ์ จนต้องรณรงค์ให้มีการหยุดจับเขียดแลวมาบริโภค เพราะปัจจุบันมีตัดไม้ทำลายป่าบริเวณถิ่นที่อยู่อาศัยของมัน และการจับกบภูเขามาบริโภคในฤดูผสมพันธุ์ รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ทำนองเดียวกันกบภูเขาเบตงเป็นกบที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณอันอุดมสมบูรณ์ มีน้ำหนักตัวละประมาณ 0.5-1.0 กิโลกรัม เนื้อกบภูเขาค่อนข้างขาวใสและนุ่มกว่าเนื้อกบนา มีไขมันสะสมน้อย จึงมีรสชาติดีกว่ากบนาเนื่องจากเนื้อเขียดแลวมีลักษณะเป็นลิ่ม รสชาติดี กระดูกอ่อน เหมาะกับการแปรรูปเป็นอาหารได้หลายเมนู อาทิ กบทอดกระเทียม ผัดเผ็ด ต้มยำ ฯลฯ ชาวจีนในเบตงนิยมนำกบเบตงมาผัด หรือทอดกระเทียมพริกไทย หรืออาจใช้เนื้อกบแทนเนื้อหมูใส่ในโจ๊ก หรือเรียกว่าโจ๊กกบ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงห่วงใยพสกนิกรชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนว่าจะขาดแคลนอาหาร จึงได้มีพระราชเสาวนีย์แก่กรมประมงให้พัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรด้วยการเพิ่มประชากรเขียดแลวเพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติและเป็นอาหารของประชาชนในโครงการธนาคารอาหารชุมชน (FOOD BANK) ตามพระราชดำริ ปัจจุบันกรมประมงได้เริ่มดำเนินการศึกษาวิจัยเขียดแลวและประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี 2530 กระทั่งปัจจุบันสามารถผลิตลูกเขียดแลวได้มากกว่า 50,000-100,000 ตัว ต่อปี แล้วนำไปปล่อยให้เติบใหญ่ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ และประสบความสำเร็จขยายพันธุ์ได้มากกว่า 5 แสนตัว แหล่งอาศัยของเขียดแลวอยู่ในป่าต้นน้ำ เมื่อครั้งธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ประชากรของเขียดแลวมีจำนวนมาก ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวนำมาบริโภคกันอย่างไม่บันยะบันยัง จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
ทั้งนี้การแพร่กระจายพันธุ์ของเขียดแลวตามธรรมชาติในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอยู่เกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นที่สูงตามภูเขาที่มีลำธาร ยิ่งถ้าเป็นแหล่งที่มีความชื้นและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติก็จะพบว่าเขียดแลวมีขนาดใหญ่มาก น้ำหนักตัวประมาณ 500 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม ตามความสมบูรณ์ของแต่ละพื้นที่ (สมัยก่อนเคยมีผู้พบเขียดแลวน้ำหนักถึง 5 กิโลกรัม) ต่อมาเมื่อความสมบูรณ์ของธรรมชาติค่อยๆ ถูกทำลาย ขนาดของเขียดแลวเลยเล็กลงด้วย เขียดแลวเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้ช้าและยาก เพราะลูกที่มีอายุตั้งแต่ 1 เดือน มักไม่ยอมกินอาหารประเภทเคลื่อนไหวอย่างลูกจิ้งหรีดหรือหนอนนก ดังนั้นจึงมีขนาดเพียง 1 เซนติเมตร ซึ่งต่างจากกบนาทั่วไปที่อายุเท่ากันแต่มีขนาดใหญ่เป็นนิ้วแล้ว ตลอดเวลาการเลี้ยงประมาณ 15 เดือน เขียดแลวมีอัตรารอดกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ มีน้ำหนักเฉลี่ย 30-37 กรัม มีความยาวเฉลี่ย 10 เซนติเมตร พออายุ 1-2 ปี ก็มีน้ำหนักเพียง 100 กรัม จึงยังเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ไม่ได้ ต่างจากกบทั่วไปที่มีอายุเพียง 3-4 เดือน ก็สามารถเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ได้แล้ว จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการส่งเสริมเลี้ยงเขียดแลวในเชิงพาณิชย์ เพราะใช้เวลาเลี้ยงนานเกินไป อย่างไรก็ตาม ถ้าหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เขียดแลวก็นับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งดังเช่นกบชนิดอื่นซึ่งเกษตรกรเลี้ยงจนมีเกษตรกรประสบความสำเร็จ
อ้างอิง
-van Dijk, P.P. & Iskandar, D. (2004). “Limnonectes blythii”. IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.1.
-กฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
– เทคโนโลยีการประมง
-ส่วนวิจัยอุตสาหกรรมแห่งชาติและสัตว์ป่า กรมป่าไม้
–http://siamensis.org/species_index?nid=3062#3062–Species%20:%20Limnonectes%20blythii
คอลัมน์: กินแกล้มเล่า
เรื่อง: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี