Biblio (บิบลิโอ้) เป็นสำนักพิมพ์น้องใหม่ ก่อตั้งในปี 2020 หลังฟอร์มทีมและเปิดออฟฟิศได้เพียงหนึ่งเดือนก็ต้องเจอกับการล็อคดาวน์กิจการร้านค้าต่างๆ เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ณ เวลานั้นสำนักพิมพ์มีทางเลือกอยู่สองทาง คือ ชะลอการออกหนังสือและเฝ้าดูสถานการณ์ หรือลุยไปข้างหน้าแม้อยู่ในภาวะไม่ปกติ Biblio เลือกที่จะเดินหน้าและออกหนังสือเล่มแรก ตามมาด้วยเล่มสองและสาม ในเวลาหนึ่งปี Biblio ออกหนังสือมากถึง 15 เล่ม และยังแบ่งภาคเป็นสองสำนักพิมพ์ย่อยคือ Bibli และ Being ด้วยผลงานอันโดดเด่นจึงกลายเป็นสำนักพิมพ์ที่น่าจับตามอง ถึงแม้ Biblio จะเป็นน้องใหม่ในวงการหนังสือ แต่กลุ่มผู้ก่อตั้งหาใช่หน้าใหม่ไม่ เพราะพวกเขาเคยทำสำนักพิมพ์ในเครือโมโนมาก่อน นำทัพโดย จีระวุฒิ เขียวมณี
คุณตัดสินใจอย่างไรเมื่อรู้ว่าไม่ได้ไปต่อกับงานที่เก่าและต้องเริ่มต้นใหม่
เมื่อรู้ว่าบริษัทปรับโครงสร้างและยุบแผนกหนังสือ ผมมีเวลาเพียงอาทิตย์กว่าๆ เกือบสองอาทิตย์ในการตัดสินใจว่าจะทำยังไงต่อดี เราเห็นว่าหนังสือในแบบที่เราทำมาตลอดห้าปียังมีกลุ่มคนที่อยากอ่านอยู่ มีโอกาสด้านการตลาด เราจึงชวนเพื่อนที่ทำงานร่วมกันมาเปิดสำนักพิมพ์ใหม่ เป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ดูเป็นมิตรกับคนอ่าน และสามารถแสดงวิสัยทัศน์ในการทำหนังสือของเราได้เต็มที่ กล่าวคือเป็นตัวของตัวเองเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ และเมื่อเรามองภาพรวมของวงการหนังสือ เราเห็นว่าคนยังอ่านหนังสืออยู่แค่ลดปริมาณการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ลง และพ็อกเก็ตบุ๊คยังไปต่อได้ เพียงแต่ความท้าทายของเราคือต้องทำหนังสือให้แม่นยำขึ้น
แม่นยำหมายถึงอะไร
ในยุคที่ยังมีพื้นที่ให้แก่สิ่งพิมพ์ทุกประเภทนั้น สังเกตว่าเราซื้อแม็กกาซีนเดือนละหลายเล่ม แล้วยังซื้อพ็อกเก็ตบุ๊คน่าอ่านด้วยอีก แต่ปัจจุบันผู้อ่านอาจไม่มีกำลังซื้อสิ่งพิมพ์เท่าเมื่อก่อน จึงเลือกเฉพาะคอนเทนต์ที่เหมาะกับเขา คำว่า “แม่นยำ” ที่ผมกล่าวถึงคือเมื่อพฤติกรรมการเลือกซื้อเปลี่ยนไป เราจะทำยังไงให้หนังสือของเราตอบสนองความสนใจ ความต้องการของผู้อ่านได้ เราจึงต้องอ่านเทรนด์ของคนยุคนี้ให้ออก เขาสนใจอะไร นิยายแนวไหนกำลังได้รับความนิยม เช่น นิยายเกาหลีกำลังมาแรง จนหลายสำนักพิมพ์หันมาทำกัน นี่คือตัวอย่างของการอ่านเทรนด์ให้ขาดว่านักอ่านกำลังสนใจหนังสือแบบไหน
อธิบายแนวทางหนังสือของ Biblio หน่อย
พอมาเป็น Biblio เรายังคงแนวหนังสือซึ่งได้รับความสนใจอยู่ คือ หนังสือนิยายแปลจากฝั่งเอเชีย โดยแยกออกมาภายใต้ชื่อ Bibli (บิบลิ) เริ่มต้นจากนิยายของญี่ปุ่นไปสู่การลองตลาดใหม่ๆ เช่น เกาหลี ไต้หวัน จีน ซึ่งคนอ่านตอบรับดีมาก อีกประเภทคือ nonfiction หรือหนังสือความรู้ เราแยกย่อยออกเป็นสำนักพิมพ์ Being (บีอิ้ง) nonfiction ที่เราทำนั้นแตกต่างจากเทรนด์เดิมนิดหน่อย ปัจจุบันคนอ่านไม่ได้สนใจแล้วว่าจะรวยแบบพ่อต้องทำอย่างไร แต่ต้องการหนังสือแนวพัฒนาตนเองในเชิงจิตวิทยาหรือแนว self-help และต้องการความรู้ที่หลากหลายมากขึ้นทั้งประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และปรัชญา เพราะเจเนอเรชั่นวายเป็นกลุ่มที่ถูกเร่งให้โต ทุกคนต้องประสบความสำเร็จ คุณต้องรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้นะ ดังนั้นคนอ่านยุคนี้จึงต้องอ่านอะไรที่หลากหลาย รู้เยอะ รู้ลึก สำนักพิมพ์เองก็ต้องตามคนอ่านให้ทันว่า ณ ตอนนี้กำลังขาดองค์ความรู้แบบไหนอยู่บ้าง วาบิ ซาบิ เป็นเล่มแรกที่เราทำออกมา เป็นปรัชญาญี่ปุ่นซึ่งตอบโจทย์การตามหาเป้าหมายชีวิตของคนรุ่นใหม่ มีความใกล้เคียงกับวัฒนธรรมไทย จึงไม่ยากในการนำมาปรับใช้ Being ยังลองทำหนังสือประวัติบุคคลสำคัญอย่าง เลโอนาร์โด ดา วินชี เขียนโดย วอลเตอร์ ไอแซกสัน ผู้เขียนประวัติ สตีฟ จ็อบส์ มาก่อน เราจะได้เห็นมุมใหม่ที่ไม่เคยรู้โดยผ่านการเล่าเรื่องของเขา
นิยายแปลจากฝั่งเอเชียมีความน่าสนใจอย่างไร
เมื่อก่อนนิยายตะวันตกถือเป็นตลาดที่ใหญ่พอๆ กับตลาดเอเชีย แต่ช่วงหลังตลาดเล็กลงไป ในขณะที่ฝั่งเอเชียยังแข็งแรงอยู่ แนวที่ผมถนัดคือนิยายจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเหมือนเวลาเราอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น มันมีความเกี่ยวโยงกับวิธีคิดของคนไทย และวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็เป็นสิ่งที่คนไทยชื่นชอบ เราอยากไปเที่ยวญี่ปุ่น เราอยากเป็นเหมือนญี่ปุ่นในหลายๆ ด้าน ดังนั้นไทยกับญี่ปุ่นจึงมีความเกี่ยวพันกันมาตลอดไม่ว่าจากภาพยนตร์ การ์ตูน รวมถึงนิยายด้วย จึงไม่แปลกใจที่ช่วงสิบปีมานี้คนไทยเปิดรับนิยายญี่ปุ่นซึ่งครองพื้นที่ในร้านหนังสืออยู่ตลอด ส่วนทางฟากเกาหลีซึ่งเป็นน้องใหม่นั้น เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมป็อบของเกาหลีเข้ามาในไทยทั้งจากซีรีส์ หนัง เพลง แต่หนังสือซึ่งเป็นความเรียงยังมีน้อย เมื่อเห็นว่าคนไทยเปิดรับวัฒนธรรมเกาหลีมากขึ้น สำนักพิมพ์จึงเริ่มมองหาหนังสือดีๆ มาลองนำเสนอ แม้ไม่บูมเท่าของญี่ปุ่น แต่ถ้าเลือกมาถูกเล่มก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
Biblio เลือกใช้การตลาดวิธีใดบ้าง
เรามองว่าช่องทางการขายผ่านหน้าร้านยังสำคัญและเป็นรายได้หลักของสำนักพิมพ์ทั่วไป เพียงแต่ปัจจุบันมีส่วนเสริมคือช่องทางออนไลน์และการขายแบบพรีออร์เดอร์ ในปีที่ผ่านมาเราทำยอดขายจากการพรีออร์เดอร์ไว้สูง เราเปิดพรีออร์เดอร์เกือบทุกเล่ม ทว่าสิ่งที่เราปรับเปลี่ยนจากที่ทำงานเก่าคือ เราไม่พรีออร์เดอร์ผ่านช่องทางของเราฝ่ายเดียว เรายินดีให้ร้านหนังสือที่เป็นพันธมิตรกับเราทุกร้านได้ร่วมเปิดพรีออร์เดอร์ผ่านช่องทางของเขาด้วย มองในแง่กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เท่ากับเรามีพื้นที่สื่อมากขึ้น แต่การเก็บช่องทางการพรีออร์เดอร์ไว้เฉพาะเราคนเดียวนั้นผมมองว่าไม่ใช่วิธีที่จะสนับสนุนให้วงการหนังสือไปรอด ถ้าพ่อค้าแม่ค้าไม่ได้หนังสือไปขายแล้ววงการนี้จะเกื้อกูลกันได้อย่างไร ทั้งนี้เมื่อเปิดพรีออร์เดอร์เป็นประจำผู้อ่านก็เกิดภาพจำ และรอลุ้นว่าหนังสือเล่มใหม่ของเราจะมีอะไรเป็นของแถมพิเศษ ซึ่งผ่านการคิดให้เกี่ยวโยงกับหนังสือ สมมติเราทำสมุดโน้ตก็ต้องมีความหมายซ่อนอยู่ เมื่ออ่านหนังสือจบแล้วจึงจะเข้าใจ
นอกจากกลยุทธ์การตลาดแล้ว Biblio วางแผนออกหนังสือไว้อย่างไร
ข้อดีของการที่เราทำงานบริษัทใหญ่มาก่อนทำให้เรารู้จักการวางแผนระยะยาว ถ้าคุณอยากทำแบรนด์ให้อยู่รอด คุณต้องรู้ว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรที่เป็นต้นทุนคงที่ แล้วเราต้องสร้างรายได้เท่าไหร่เพื่อซัพพอร์ตต้นทุนนั้นได้ ถึงเราจะเป็นสำนักพิมพ์เล็กแต่วิธีการทำงานของเราเป็นระบบตามแบบบริษัทขนาดกลาง มีการวางแผนเป็นไตรมาส ข้อดีของการมีแผนงานชัดเจนคือเวลาเราไปคุยกับร้านเชนสโตร์ เขาสามารถประมาณการยอดขายได้ และเห็นว่าเราไปไกลได้แค่ไหนในแต่ละไตรมาส นอกจากนี้แผนงานยังช่วยกระตุ้นให้เราตั้งใจทำงาน อย่างไรก็ตามเราสามารถยืดหยุ่นได้ ไม่ถึงขั้นเคี่ยวกรำให้ได้ยอดตามเป้า เพราะการทำหนังสือเป็นความรื่นรมย์ ถ้าความรื่นรมย์หายไปคนทำงานก็ไม่สนุก
สิ่งที่ทำให้ Biblio โดดเด่นและต่างจากสำนักพิมพ์อื่นคืออะไร
ถ้ามองว่าอะไรที่ทำให้เราจูนกับคนอ่านในช่วงปีที่ผ่านมาได้ น่าจะเพราะเราค่อนข้างให้ความสำคัญในการเลือกหนังสือ โดยมุ่งหวังตอบโจทย์ความรู้สึกของคนอ่าน เช่น นิยายแปลตอบโจทย์จินตนาการของคนอ่าน พาเข้าไปสู่อีกโลกหนึ่ง โลกของ Bibli ที่เราสร้างนั้นเป็นโลกซึ่งคนอ่านเข้าถึงได้ง่ายจริงๆ เราพยายามเลือกนิยายที่มีทั้งความอบอุ่นหัวใจ ความใส่ใจในความเป็นมนุษย์ และเรื่องราวความรักที่มีมิติซับซ้อนขึ้น เพื่อให้เข้ากับความสัมพันธ์ของคนในยุคปัจจุบันนี้ Bibli จึงเป็นโลกของนิยายฟีลกู๊ดซึ่งคนอ่านอาจไม่เคยพบที่ไหน และในส่วนหนังสือประเภท nonfiction ของ Being เราก็มุ่งตอบโจทย์เรื่องความรู้ ความอยากพัฒนาตนเองของคนอ่าน
คุณมองว่าตลาดนิยายแปลเอเชียแข่งขันกันดุเดือดขนาดไหน
ตอบแบบไม่โลกสวย การทำสำนักพิมพ์ก็คือธุรกิจ ฉะนั้นเมื่อคุณทำแล้วบูมย่อมมีคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตลาดเดิมหรือรายใหม่ พอเขาเห็นว่าหนังสือประเภทนี้ขายได้ก็ลงมาแข่งขัน แต่ผมว่าเป็นเรื่องดีนะที่แต่ละสำนักพิมพ์ต่างพยายามหาหนังสือน่าสนใจ ตลาดก็คึกคัก คนอ่านได้อ่านหนังสือหลากหลาย ที่จริงวงการหนังสือแม้จะเป็นคู่แข่งในทางธุรกิจกัน แต่เวลาเราเจอกันก็เหมือนเพื่อนพี่น้อง วงการนี้ไม่ได้ใหญ่โต เราจึงรู้จักกันหมด เวลาใครออกหนังสือใหม่ คนอื่นๆ ก็ช่วยสนับสนุน เพราะไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่อยู่ได้ แต่ทุกคนในวงการต้องอยู่ได้ด้วย
ปัจจุบันคนอ่านพิถีพิถันกับคุณภาพของหนังสือตั้งแต่กระดาษ ภาพปก การเย็บเล่ม แต่ราคาหนังสือก็เป็นข้อถกเถียงกันว่าสูงเกินไปหรือไม่ คุณมีความเห็นอย่างไร
ความเห็นของผมคือต้นทุนของแต่ละสำนักพิมพ์ไม่เหมือนกัน ถ้าคุณเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ มีโรงพิมพ์ของตัวเอง หรือมีทุนสนับสนุนในรูปแบบบริษัทมหาชน หรือหุ้นส่วนมีเงินลงทุนเยอะ คุณก็สามารถทำหนังสือราคาต่ำได้ ผมมองว่าแต่ละสำนักพิมพ์มีต้นทุนไม่เท่ากัน จึงขึ้นกับแต่ละสำนักพิมพ์ว่าจะตั้งราคาเท่าไหร่เพื่อให้อยู่ได้ เคยมีดราม่าว่าทำไมหนังสือไทยหรือหนังสือแปลราคาแพงขึ้น ผมยอมรับว่าราคาสูงขึ้นจริงแต่สมเหตุสมผล แน่นอนว่าส่วนโปรดักชั่น ราคากระดาษ ราคาลิขสิทธิ์ ทุกอย่างแพงขึ้น ต้นทุนจึงสูงขึ้น แต่ว่าเราพยายามเพิ่มมูลค่าด้วยความประณีตของหนังสือ เพื่อให้คนอ่านรู้สึกคุ้มค่ากับจำนวนเงินที่จ่ายไป และเห็นว่าหลายๆ เล่มราคาสามสี่ร้อยถึงห้าร้อยบาท แต่ขายได้หมด เพราะนักอ่านรู้สึกคุ้มค่า ทั้งนี้เรารู้กันดีว่าหนังสือไม่ใช่สินค้าที่สามารถบวกกำไรเพิ่มสามสี่ร้อยเท่าเหมือนธุรกิจเสื้อผ้า ถ้าเราบวกเพิ่มขนาดนั้นคงไม่มีใครซื้อไหว หนังสือจึงเป็นสินค้าที่บวกกำไรน้อยที่สุดแล้ว
ปี 2021 Biblio วางแผนงานอะไรไว้บ้าง
ในส่วนของ Bibli ค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว ในปีนี้ยังมีนิยายแปลที่จะออกต่อเนื่อง แต่ Being เนื่องจากปีที่ผ่านมากำลังคนยังน้อย จึงไม่สามารถออกหนังสือได้มากเท่าที่ต้องการ ปีที่แล้วเราออกได้ 4 เล่ม ปีนี้ตั้งเป้าออกหนังสือมากกว่าเดิม 2-3 เท่า และเราตั้งใจขยายไลน์ใหม่อีก 2 แบรนด์ หนึ่งคือนิยายแปลตะวันตกแนวระทึกขวัญและแฟนตาซี โดยใช้ชื่อ Beat ที่แปลว่าจังหวะ หมายถึงจังหวะการเต้นของหัวใจที่มีทั้งตอนตื่นเต้นและสบาย หนังสือกลุ่มนี้ยังมีที่น่าสนใจอีกหลายเล่มซึ่งรอการนำเสนออยู่ สองคือนิยายออนไลน์ โดยใช้ชื่อ Bili เรามองไปถึงนิยายออนไลน์ของจีนหรือนิยายวายจากจีน เกาหลี หรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้อ่านจำนวนไม่น้อย เราอยากลองเจาะกลุ่มนี้บ้าง เน้นทางออนไลน์ แต่อนาคตอาจพิมพ์เป็นเล่มเพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการ
059
3 เล่มที่ Biblio อยากแนะนำ
- The Stolen Bicycle จักรยานที่หายไป
เขียนโดย: อู๋หมิงอี้
นวนิยายไต้หวันเข้ารอบ longlisted รางวัล The Man Booker International Prize 2018 การเดินทางตามหาพ่อและจักรยานที่หายไปเมื่อ 20 ปีก่อนของเสี่ยวเฉิง ทำให้เขารู้จักใครต่อใครที่เกี่ยวโยงกันด้วยจักรยานโบราณ สงคราม และ “กรรมชะตา” ในสังคมที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และความทรงจำของมนุษย์ยุคสงครามโลก
- The Why Café คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง
เขียนโดย: John P. Strelecky
หนังสือที่กระตุ้นให้คุณค้นหาเป้าหมายในวันที่หัวใจหลงทาง ชายที่หมายมั่นเดินทางไปชาร์จแบตให้ตัวเอง แต่กลับหลงทางและเจอกับคาเฟ่ประหลาด ซึ่งไม่เพียงมีอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังมีคำถามเกี่ยวกับชีวิตซ่อนอยู่หลังเมนูด้วย
- The Mathematics of Love บวก ลบ คุณ ฉัน: ความน่าจะรักระหว่างเรา
เขียนโดย: Hannah Fry
หนึ่งในหนังสือจาก TED Books นักคณิตศาสตร์ขี้สงสัยที่อยากนำเสนอมุมมองความรัก โดยใช้คณิตเป็นแนวทาง เมื่อเธอพบว่าคณิตศาสตร์กับความรักสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ตั้งแต่โอกาสของการพบรักในแอปหาคู่ จนถึงเรื่องเซ็กซ์ หรือการประคองชีวิตหลังแต่งงาน