การสัญจรทางน้ำก่อให้เกิดการใช้สำนวนไทยหลายสำนวนที่น่าสนใจ มีทั้งที่ใช้กันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ เช่นสำนวน “ถีบหัวส่ง” “บิดตะกูด” เป็นต้น
ถีบหัวส่ง
“หัว” แปลว่าส่วนของร่างกายเหนือคอขึ้นไป ในที่นี้หมายถึงหัวคน ขยายความหมายไกลออกไปว่า คือตัวตนของคน
โดยมากในชนบทใช้เรือเป็นพาหนะในการสัญจรทางน้ำ ทั่วไปในสมัยก่อนก็จะใช้เรือพาย เรือแจว อาจใช้เป็นการส่วนตัวหรือรับจ้างรับส่งผู้โดยสารก็ได้ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาขึ้นโดยใช้เครื่องยนต์เรียกว่าเรือยนต์ ในกรณีมีผู้โดยสารจะขึ้นจากเรือเมื่อถึงที่หมาย ผู้เป็นนายท้ายเรือก็จะเบนหัวเรือเข้าท่า ผู้โดยสารจึงขึ้นท่าด้านหัวเรือ โดยเท้าข้างหนึ่งก้าวขึ้นบนท่า ถ่างขาอีกข้างหนึ่งแล้วใช้เท้าถีบหัวเรือให้เบนออกจากท่า ซึ่งมีส่วนช่วยให้นายท้ายเรือนำเรือออกจากท่าและเคลื่อนไปข้างหน้าได้ตรงทาง ความหมายของ “ถีบหัวส่ง” ดังกล่าวมานี้สื่อความหมายตรงตามตัวอักษร ต่อมาจึงได้มีผู้นำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบที่มีนัยความหมายไปในด้านลบ
สำนวน “ถีบหัวส่ง” มีความหมายเปรียบว่าขจัดออกไปจากชีวิต จะเห็นว่าบางคนหลังจากได้รับผลประโยชน์สมปรารถนาจากผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว ก็จะไม่สนใจไยดีผู้นั้นอีกต่อไป ผลักไสให้ออกไปจากเส้นทางชีวิตของตน เช่น มารศรีพูดกับหลานสาวที่เดินร้องไห้ถือกระเป๋าเสื้อผ้าและข้าวของส่วนตัวเข้ามาในบ้านแล้วก้มลงกราบตน (หลังจากที่หนีตามไปอยู่กินกับชายคนรักโดยผู้ใหญ่มิได้รู้เห็น ฝ่ายชายก็มิได้มาสู่ขอแต่งงานตามประเพณี) ตอนหนึ่งว่า “เป็นไง ถูกเขาถีบหัวส่งมาละสิท่า จำเอาไว้เป็นบทเรียนนะ ถ้าเราไม่ให้เกียรติตัวเราเอง แล้วใครเขาจะให้เกียรติเรา ผิดพลาดไปแล้วไม่เป็นไร วันหลังต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี จะทำอะไรอย่าใช้อารมณ์พาไป ชีวิตจะมีตำหนิ”
บิดตะกูด
คำว่า “ตะกูด” บางคนพูดว่า “จะกูด” แปลว่าหางเสือเรือ เมื่อผู้ถือท้ายเรือบิดหรือเบนหางเสือเรือไปมาซ้ายขวาก็จะทำให้เรือเอียงไปเอียงมาแล่นไม่ตรงทาง ดังนั้นเมื่อมีผู้นำ “บิดตะกูด” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบหางเสือเรือกับลิ้นของคนซึ่งพลิกผันไปได้ จึงใช้ในบริบทที่เกี่ยวกับการพูด
สำนวน “บิดตะกูด” หมายถึงไม่พูดตรงๆ แต่พูดเลี่ยงไปเลี่ยงมา แต่บางครั้งก็มีทีท่าที่สื่อให้ผู้ฟังรู้ได้ว่าไม่ได้พูดความจริง ดังในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ ตอนพระอภัยมณีเรือแตก นางสุวรรณมาลีและสินสมุทรได้อาศัยโดยสารเรือนายโจรสุหรั่ง สินสมุทรถูกนายโจรมอมเหล้า แล้วนายโจรก็เข้าไปเกี้ยวนางสุวรรณมาลีขอร่วมอภิรมย์กับนาง โดยบอกว่าจะยกนางเป็นคู่ครองและจะเลี้ยงดูสินสมุทรเป็นอย่างดี นางสุวรรณมาลีเลี่ยงตอบไปว่าขอให้เรือถึงฝั่งก่อน การร่วมสมกันกลางทะเลไม่ดี เพราะมีตำราห้ามไว้ โจรสุหรั่งได้ฟังก็รู้ทันกล่าวว่า
โจรสุหรั่งฟังนางว่าช่างพูด บิดตะกูดเกเรทำเผลไพล่
จะพาเจ้าเข้าฝั่งก็ยังไกล อดอยู่ไม่ได้บอกจริงๆ
ทุกวันนี้ “บิดตะกูด” อาจมีผู้ใช้น้อย แต่ก็ยังมีใช้กันอยู่ เช่นเมื่อเด็กหนุ่มขออนุญาตแม่บอกว่าจะไปออกกำลังกาย แม่ก็อนุญาต แต่มารู้ภายหลังจากเพื่อนบ้านว่าจริงๆ แล้วลูกชายไปหาสาวน้อยที่เขาหมายปอง แล้วชวนกันไปเดินเล่นในสวนสาธารณะจนมืดค่ำ เมื่อกลับมาถึงบ้าน แม่จึงพูดตัดพ้อว่า “ทำไมไม่บอกแม่ตรงๆ ว่าจะไปหาหนูพิม แม่จะไปว่าอะไร วันหลังไม่ต้องพูดบิดตะกูดอย่างนี้” ลูกชายถามแม่ว่า “พูดบิดตะกูด” แปลว่าอะไร แม่บอกว่า “ก็พูดเลี่ยงๆ ไม่พูดตรงๆ น่ะสิ”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์