ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง – Bee Learning Center

-

“นักสืบเสาะ” ฉบับนี้ขอพาทุกคนมารู้จักเรื่องราวของ “ผึ้ง” แมลงตัวเล็กๆ ที่เราอาจไม่รู้ว่ามันมีความสำคัญต่อระบบนิเวศมากกว่าที่คิด ผ่าน Bee Learning Center (BLC) ศูนย์ให้ความรู้เกี่ยวกับผึ้งแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย

ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง
Bee Learning Center ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง

ดร.ชามา อินซอน อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้รับผิดชอบศูนย์ฯ ให้ความรู้เรื่องของผึ้งว่า พืชดอกหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นไม้ป่าหรือภาคการเกษตรจำเป็นต้องได้รับการผสมเกสรในการขยายพันธุ์ ถึงแม้ต้นไม้บางชนิดจะมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่จำเป็นต้องให้สัตว์อื่นช่วยผสมเกสร ผึ้งคือหนึ่งในนั้น มีหน้าที่ช่วยพาละอองเรณูจากดอกหนึ่งไปเจอเกสรตัวเมียของอีกดอกหนึ่งเพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิสนธิ (fertilization) จนติดเมล็ดและพัฒนาเป็นผล การผสมข้ามต้น (ไม่ได้มาจากต้นเดียวกัน) จะยิ่งทำให้พืชเกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ความสำคัญของความหลากหลายทางพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตนั้นๆ คือ เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงใดขึ้น เช่น เกิดโรคระบาด สภาพอากาศอุณหภูมิความชื้นไม่เหมาะสม สายพันธุ์ที่แข็งแกร่งก็จะสามารถอยู่รอดได้ เรียกว่าการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ซึ่งจะช่วยให้สายพันธุ์เหล่านั้นไม่สูญพันธุ์

Bee Learning Center ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง

แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ แต่ผึ้งก็มีความสำคัญมากในระบบนิเวศ ดังคำกล่าวของไอน์สไตน์ “ถ้าผึ้งหายไปจากโลกของเรา มนุษย์เราก็จะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 4 ปี” ต่างประเทศจึงตระหนักถึงความสำคัญนี้ ทว่าในประเทศไทย แม้เราจะเป็นสังคมเกษตรกรรม แต่ก็มีวิธีการเพาะปลูกและขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีอื่นๆ ผึ้งจึงถูกมองในแง่การเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจเพื่อน้ำผึ้งมากกว่าในแง่แมลงผสมเกสร “ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง” จึงก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์สำคัญ 2 ประการคือ หนึ่ง “เผยแพร่ความรู้” สำหรับคนทุกเพศทุกวัยให้สำนึกถึงความสำคัญของผึ้งในแง่แมลงผสมเกสรมากขึ้น สอง “สร้างเครือข่ายพันธมิตร” กับกลุ่มคนทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรม อีเวนต์ และการประชุมต่างๆ เพื่อก่อประโยชน์ในการส่งต่อข้อมูลและพัฒนางานวิจัยร่วมกัน

ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง ได้รับการสนับสนุนการก่อตั้งโดยบริษัทไบเออร์ (ไบเออร์ เอจี, ประเทศเยอรมนี) ตั้งอยู่บริเวณอาคารวิจัยกีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านถนนวิภาวดีรังสิต (อยู่ในพื้นที่ด้านหลังของสวนกล้วยไม้ระพีสาคริก) มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว แบ่งการให้ความรู้ออกเป็นโซนต่างๆ ดังนี้

โซนที่หนึ่ง นิทรรศการ (exhibition) แสดงข้อมูลว่าผึ้งในระบบนิเวศมีมากกว่า 3 หมื่นชนิดทั่วโลก มีตัวอย่างแมลงจริงแบ่งกลุ่มตามหลักด้านกีฏวิทยาว่าอยู่ในวงศ์หรือตระกูลใด และภาพประกอบบนผนังที่มีความสวยงาม ดึงดูดความสนใจ

โซนนิทรรศการ

โซนที่สอง สังเกตวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผึ้ง ผึ้งเป็นแมลงสังคม มีพฤติกรรมให้เรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกันด้วยการเต้น (ภาษาของผึ้งเพื่อบอกทิศทางแหล่งอาหาร) วงจรชีวิตของแต่ละช่วงวัย ลักษณะของแต่ละวรรณะ หน้าที่ของผึ้งงาน ผ่านการชมคลิปวิดีโอพร้อมด้วยคำอธิบายของวิทยากร ไฮไลต์ของโซนนี้คือ observation hype ซึ่งเป็นรังผึ้งจริงๆ ที่ตั้งอยู่ด้านนอก และมีอุโมงค์ให้ผึ้งมุดขึ้นมาในตู้กระจกภายในอาคาร ผู้เยี่ยมชมจะได้เห็นถึงการเก็บเกสร การนำน้ำผึ้งมาไว้ในรัง การสื่อสารด้วยการเต้น

observation hype
การเลี้ยงผึ้งเชิงการค้า

 

 

โซนที่สาม การเลี้ยงผึ้งเชิงการค้า ชนิดของผึ้งที่เราสามารถเลี้ยงและผลิตน้ำผึ้งได้ เช่น ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรงซึ่งเลี้ยงตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ผึ้งหลวงซึ่งสามารถเลี้ยงได้ที่ประเทศไทยเพียงแห่งเดียว (จังหวัดสงขลา) การเลี้ยงชันโรง (ผึ้งที่ไม่มีเหล็กไน) วิธีการเลี้ยงแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันไป มีการจัดแสดงอุปกรณ์การเลี้ยง เช่น กล่อง เฟรม ลัง ถังสลัดน้ำผึ้ง พร้อมทั้งมีหุ่นจำลองคนซึ่งสวมใส่ชุดเลี้ยงผึ้ง ไฮไลต์ของโซนนี้คือ backdrop ทุ่งทานตะวัน ให้ผู้เยี่ยมชมได้หยิบจับอุปกรณ์มาถ่ายภาพที่ระลึก

 

 

เมื่อเราได้น้ำผึ้งแล้ว โซนถัดมาจะเป็นโซนผลิตภัณฑ์ ว่าเราสามารถสร้างผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง เช่น น้ำผึ้ง เกสรผึ้ง นมผึ้ง (royal jelly) โซนนี้ช่วยไขข้อข้องใจในสิ่งที่หลายคนสงสัยว่า “จะแยกน้ำผึ้งแท้หรือน้ำผึ้งปลอมได้อย่างไร” โดยมีน้ำผึ้งแท้ๆ ให้ได้ชิมกัน เช่น น้ำผึ้งทานตะวัน น้ำผึ้งดอกลำไย น้ำผึ้งป่า น้ำผึ้งจากต่างประเทศ แต่ละชนิดก็มีสี กลิ่น รสชาติที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ซึ่งมีบรรจุภัณฑ์สวยงามทั้งจากในและต่างประเทศให้ผู้เยี่ยมชมได้ดูเพื่อการต่อยอดไอเดีย นำกลับไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง

โซนผลิตภัณฑ์

โซนระบบนิเวศ การเรียนรู้ว่าในแต่ละระบบนิเวศนั้น ผึ้งแต่ละชนิดอยู่กันอย่างไร เช่น รังที่อยู่บนต้นไม้สูงของผึ้งหลวง ผึ้งพันธุ์ที่เลี้ยงในกล่อง ชันโรงที่อยู่ในท่อนไม้ ต้นไม้ หรือใต้ดิน ระบบนิเวศเหล่านี้คือสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ทว่าหากเราไม่รู้จักธรรมชาติและการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น เราก็อาจจะเผลอทำร้ายมันโดยไม่รู้ตัว

โซนระบบนิเวศ

โซนสุดท้าย โซนนี้เน้นย้ำให้เห็นว่าผึ้งมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศในฐานะแมลงผสมเกสรอย่างไร กระบวนการทำงาน ขั้นตอนการถ่ายละอองเรณู แสดงข้อมูลผ่านชาร์ตภาพพร้อมด้วยคลิปวิดีโอ โดยมีเป้าหมายต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงสถานการณ์ทั่วโลกที่จำนวนประชากรผึ้งกำลังลดลง สาเหตุสำคัญเป็นเพราะขาดที่อยู่อาศัยและขาดแหล่งอาหาร จากปัญหาที่เกิดขึ้นทางศูนย์ฯ จึงริเริ่มโครงการ Bee Hotels ใช้วัสดุธรรมชาติวางไว้ในพื้นที่เพื่อ “ล่อ” ให้ผึ้งหลากหลายชนิดมาสร้างรวงรัง นอกจากนี้ยังมีโครงการ Feed a Bee เพิ่มพืชอาหารแก่ผึ้ง ให้ความรู้ว่าพืชในเมืองชนิดใดบ้างที่เป็นอาหาร แหล่งน้ำหวาน และเกสรให้ผึ้งได้ ส่วนใหญ่มักเป็นพืชผักสวนครัว ซึ่งทางศูนย์ฯ ให้ผู้เยี่ยมชมได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ด้วยการแจกเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวนำกลับไปปลูกที่บ้าน เมื่อมีดอก ผึ้งก็ได้ใช้ประโยชน์ เมื่อมีใบหรือผล คนก็ได้ใช้ประโยชน์ด้วย
หากคนเราหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศกันมากขึ้น พวกเขาก็จะตระหนักถึงการอนุรักษ์ ซึ่งไม่ได้จำกัดวงแค่การอนุรักษ์ผึ้งเท่านั้น แต่ตระหนักถึงทุกๆ ผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่จะเกิด ผลที่ตามมาก็คือคนเราจะใส่ใจระบบนิเวศรอบตัว ทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมน่าอยู่มากขึ้น

Feed a Bee

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้งได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ศูนย์ฯ เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. แม้ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดนี้ ทางศูนย์ฯ ก็ยังเปิดให้บริการ แต่มีการเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคด้วยการจำกัดจำนวนผู้เข้าชม ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ล่วงหน้าเพื่อระบุวันและเวลา ผ่านการสแกน QR code ได้

สนใจเข้าชม สามารถสแกน QR code

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและตารางกิจกรรมต่างๆ ที่เฟซบุ๊ก: Bee learning

https://www.facebook.com/bee.learning.39

 


คอลัมน์: นักสืบเสาะ
เรื่อง: กัตติกา ภาพ: ดร.ชามา อินซอน
All magazine มีนาคม 2564

กัตติกา

Writer

กองบรรณาธิการ เด็กโบราณคดีเอกไทย ผู้พ่ายแพ้ต่อแมวเหมียวและสิ่งมีชีวิตน่ารัก ชื่นชอบการดูหนังและสีเขียวแต่ดันมีเสื้อสีฟ้ามากกว่าเพราะคิดเอาเองว่าใส่แล้วสวย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!