Becoming a Butterfly หนังสือที่อยู่เคียงข้างเด็กๆ ในวันที่ใจอ่อนแอ

-

Becoming a Butterfly การเดินทางของผีเสื้อหลากสี เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กที่พาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับนักจิตวิทยา การทำงานร่วมกันของนักจิตวิทยากับคนไข้ รวมทั้งโรคทางจิตเวชต่างๆ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและอบอุ่น ประพันธ์โดย เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยา เจ้าของเพจเฟซบุ๊กตามใจนักจิตวิทยา ผู้เขียนถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากวิชาชีพออกมาเป็นเรื่องราวของ “ลิซ่า” นักจิตวิทยาฝึกหัด กับเหล่าผู้ป่วยวัยเยาว์ที่เธอได้ดูแล  โดยหวังใจว่าหนังสือเล่มนี้จะคอยเป็นเพื่อนเคียงข้างเด็กๆ ในวันที่สับสน ว้าวุ่น ประสบปัญหาทางใจ เพื่อให้พวกเขาได้รู้ว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ส่วนนักอ่านผู้ใหญ่ก็สามารถร่วมทำความเข้าใจและอ่านสนุกได้เช่นกัน ด้วยคุณค่าของหนังสือเล่มนี้คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ หนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2564 ประเภทวรรณกรรมเยาวชน

 

 

อยากทราบเส้นทางการอ่านหนังสือของคุณเมริษาว่าเริ่มต้นได้อย่างไร

จริงๆ ต้องย้อนไปก่อนที่จะอ่านหนังสือออกด้วยซ้ำ คือคุณพ่อคุณแม่ชอบอ่านหนังสือให้ฟัง ไม่ใช่แค่นิทานสำหรับเด็กแต่เป็นหนังสือทุกประเภท หนังสือที่คุณพ่อคุณแม่สนใจอ่านเองก็มักจะอ่านให้เราฟังไปด้วย เราจึงสนใจหนังสือมาโดยตลอด พอเริ่มอ่านหนังสือได้เอง เวลาที่ครอบครัวไปห้างสรรพสินค้า เราจะขอไปขลุกอยู่ที่ร้านหนังสือดอกหญ้า อ่านหนังสือรอจนครอบครัวซื้อของเสร็จ และทุกครั้งที่เข้าร้านหนังสือจะได้เล่มใหม่กลับบ้านด้วยเสมอ คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยห้ามซื้อหนังสือเลย จำได้ว่าสมัยเด็กชอบหนังสือมากกว่าของเล่นเสียอีก

หนังสือเล่มแรกที่เลือกด้วยตัวเองและอ่านจบคือการ์ตูนโดราเอมอน หลังจากนั้นก็สนใจอ่านวรรณกรรมเยาวชนเรื่อยมา นักเขียนที่ชอบและเป็นแรงบันดาลใจในการอ่าน คือนักเขียนชาวอังกฤษชื่อว่า แจ็คเกอลีน วิลสัน เล่มแรกที่ได้อ่านคือ ล็อตตี้ รายงานนี้ฝีมือหนูเอง หลังจากนั้นก็อ่านทุกๆ เล่มของนักเขียนท่านนี้ ส่วนหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนและใช้ชีวิตนั้นมีหลายเล่มมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมเยาวชน เล่มที่ประทับใจที่สุดเป็นวรรณกรรมเยาวชนแปลของประเทศญี่ปุ่น ชื่อว่า เมื่อสวรรค์ให้รางวัลกับผม ได้เปิดมุมมองในการด้านจิตเวชในเด็กให้เรา

ทำไมถึงมาสนใจงานเขียนหนังสือ

ชอบการอ่านและการเขียนมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่ไม่เคยรู้สึกว่าเราเขียนได้ดีเลย จนกระทั่งได้พบกับอา ‘จุ้ย’ ศุ บุญเลี้ยง ตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คุณอาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องนักอยากเขียน ตอนนั้นคุณครูภาษาไทยนำงานเขียนของนักเรียนในชั้นเรียนให้คุณอาช่วยพิจารณา หนึ่งในงานเขียนที่คุณอาเลือกมาเป็นตัวอย่างตอนบรรยายเป็นงานเขียนของเรา เลยรู้สึกว่าเราก็เขียนได้นี่นา หลังจากวันนั้นก็ใช้ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการเรียน จนกระทั่งไปเรียนปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ ตอนนั้นอยากเขียนบันทึกและแบ่งปันประสบการณ์ให้คนรอบตัว จึงเปิดเพจเล็กๆ โดยเขียนเรื่องราวการเรียน การฝึกงาน และการท่องเที่ยวในอังกฤษ  แต่พอเริ่มทำงานก็หยุดไปสักพัก ก่อนกลับมาเปิดเพจอีกครั้ง ในครานี้เป็นเพจตามใจนักจิตวิทยา ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านจิตวิทยาแบ่งปันให้ผู้อ่านในเพจ เมื่อเพจเริ่มเป็นที่รู้จักก็มีสำนักพิมพ์ติดต่อมาว่าสนใจชักชวนให้เขียนหนังสือกับเขา นั่นเป็นจุดเริ่มต้น

 

หนังสือ Becoming a Butterfly เกิดขึ้นมาได้ยังไง

สมัยเด็กๆ หนังสือวรรณกรรมเยาวชนถือเป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตให้แก่เรา ไม่ว่าจะเป็นความกล้าหาญจากตัวละครที่ช่วยให้มีความกล้าเผชิญหน้าความกลัว คำพูดจากตัวละครที่แสนอ่อนโยนคอยปลอบประโลมยามท้อใจ และการออกไปผจญภัยเพื่อตามล่าความฝัน ตัวอักษรทุกตัวได้หล่อหลอมให้เราเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในทุกวันนี้ การเขียนหนังสือวรรณกรรมเยาวชนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ รุ่นต่อไป จึงเป็นหนึ่งในความฝันของเราไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังเกิดขึ้นจากความตั้งใจสามประการ

ประการแรก คือ ต้องการให้ผู้อ่านได้รู้จักและเข้าใจบทบาทของจิตแพทย์และนักจิตวิทยามากขึ้น

ทุกวันนี้การไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยายังเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าไม่ปกติ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วการไปพบผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนเวลาร่างกายเราป่วย เราก็ไปหาหมอเพื่อรับการรักษา ดังนั้นหากป่วยใจ เราก็ควรไปพบคุณหมอหรือนักจิตวิทยาเช่นกัน “ทุกคนป่วยได้ ความเจ็บป่วยไม่ได้เลือกอายุ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็สามารถเจ็บป่วยกันได้ทั้งนั้น ยิ่งรักษาเร็ว ความเจ็บป่วยจะไม่เรื้อรัง และโอกาสหายนั้นย่อมมีมากกว่า”

ประการที่สอง คือ ต้องการให้ผู้อ่านได้รู้จักและทำความเข้าใจกับโรคจิตเวชต่างๆ มากขึ้น การที่เราเป็นโรคจิตเวช ไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนบ้า โรคทางกายมีหลายโรคหลายอาการ โรคทางใจก็มีหลายโรคและหลายอาการเช่นเดียวกัน ในบางคนเป็นโรคจิตเวชเพราะติดตัวเขามาโดยกำเนิด (กรรมพันธุ์) ในบางคนเป็นโรคจิตเวชเพราะสภาพแวดล้อมกด ในบางคนเป็นโรคจิตเวชเพราะตัวเขามีแนวโน้มจะเป็นอยู่แล้ว ผนวกกับสภาพแวดล้อมที่เข้าไปซ้ำเติมพอดี และในบางคนอาจจะยังไม่เป็นโรคจิตเวช มีเพียงแค่อาการทางใจ เพราะตัวเขาประสบเหตุการณ์ที่กระทบใจเขา ด้วยเหตุนี้ ได้โปรดอย่าเหมารวมทุกคนที่มีโรคหรืออาการทางใจว่าเป็นคนบ้า และอย่าตีตราบุคคลที่มาพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาว่าเป็นคนอ่อนแอ เพราะคนเรามีวันที่เลวร้ายด้วยกันได้ทั้งนั้น บางคนผ่านมันไปได้ แต่บางคนยังผ่านไปไม่ได้ การมาพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ถือเป็นการเผชิญปัญหา ไม่ใช่การหนีปัญหา

ประการที่สาม คือ การแบ่งปันประสบการณ์การฝึกงานและทำงานของเราในฐานะนักจิตวิทยาฝึกหัด เราได้เรียนรู้บทเรียนอันมีค่ามากมายจากเคสทุกเคส และอาจารย์ที่ปรึกษา จึงอยากนำความทรงจำและประสบการณ์ต่างๆ มาบอกเล่าผ่านวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้

 

 

ที่มาของชื่อหนังสือ

ผีเสื้อ ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง ความหวัง และศรัทธา อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ (rebirth) เพราะผ่านวงจรชีวิตมากมาย ตั้งแต่ตัวอ่อน หนอนผีเสื้อ ดักแด้ และสุดท้ายเป็นผีเสื้อโบยบินอย่างสง่างาม เราจึงนำผีเสื้อมาแทนเคสต่างๆ รวมถึงตัวเอกของเรื่อง “ลิซ่า” ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาฝึกหัด ซึ่งออกเดินทางไปด้วย ในที่นี้คือการเดินทางของคนไข้ที่มีนักจิตวิทยาเคียงข้างตลอดการบำบัด จนสามารถกลับมายืนหยัดด้วยตัวเองอีกครั้ง ส่วนนักจิตวิทยาฝึกหัดก็ได้เรียนรู้ เติบโต และพร้อมที่จะออกไปเป็นนักจิตวิทยาเต็มตัว ดังนั้นชื่อภาษาอังกฤษ Becoming a Butterfly จึงหมายถึงคนไข้ที่พร้อมจะกลับไปใช้ชีวิตอีกครั้ง และนักจิตวิทยาฝึกหัดที่เติบโตเป็นนักจิตวิทยาเต็มตัว ส่วนชื่อภาษาไทย การเดินทางของผีเสื้อหลากสี คือคนไข้ที่มีหลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งภูมิหลัง อุปนิสัย อายุ ฯลฯ ต่างเติบโตไปด้วยกันกับนักจิตวิทยา

ทำไมถึงเลือกถ่ายทอดเป็นแนววรรณกรรมเยาวชน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เนื่องจาก “โรคจิตเวช” ยังเป็นเรื่องที่สังคมส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึง และยังไม่เข้าใจ การถ่ายทอดเนื้อหาส่วนนี้จึงออกมาในรูปแบบของวรรณกรรมเยาวชนที่แม้แต่เด็กยังอ่านและเข้าใจได้ ส่วนผู้ใหญ่ก็น่าจะอ่านและเข้าใจได้เช่นกัน นอกจากนี้เพื่อให้หนังสือทำหน้าที่เป็นเพื่อนสำหรับผู้อ่านวัยเยาว์ที่บางครั้งประสบปัญหาทางใจ เกิดความสับสน ความเศร้า และต้องการใครสักคนที่เคียงข้างและเข้าใจ เคสแต่ละเคสในหนังสืออาจจะทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าไม่ใช่ตนเองเท่านั้นที่เผชิญเรื่องราวเหล่านี้ ยังมีเด็กคนอื่นอีกที่เผชิญสิ่งเหล่านี้เช่นกัน ดังนั้นไม่เป็นไรเลยที่จะขอความช่วยเหลือเหมือนกับเคสเหล่านั้น

 

 

การถ่ายทอดเรื่องยากๆ อย่างโรคทางจิตหรือจิตวิทยาให้เด็กอ่านได้นั้น มีอุปสรรคในการเขียนบ้างไหม สิ่งที่ต้องระวังมีอะไรบ้าง

อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือทำอย่างไรให้เรื่องที่เข้าใจยาก เช่น กระบวนการบำบัด ตัวโรคบางโรค เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ ส่วนเรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ การตายของตัวละครในเนื้อเรื่อง และการบรรยายถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น

มีเกณฑ์อย่างไรในการคัดเลือกเคสในเล่ม

เคสที่เลือกมานั้นเป็นเคสที่เราเคยดูแลมาก่อน มีทั้งเคสที่เป็นโรคที่พบได้บ่อย และไม่ได้เป็นโรค แต่มีปัญหาจากการเลี้ยงดู รวมทั้งเคสที่เป็นโรคที่พบได้ยาก ทั้งนี้การเรียงลำดับจะเรียงจากเคสที่สะเทือนใจน้อยไปสู่เคสที่สะเทือนใจมาก และอาจจะมีเคสที่เบาคั่นไว้ระหว่างเคสที่หนักหน่วง ไม่ใช่เรียงจากความยากง่ายของเคส เพราะทุกเคสล้วนมีความซับซ้อน

ในวรรณกรรมเยาวชนการที่ตัวละครเสียชีวิตเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่สำหรับเรื่อง Becoming a Butterfly ซึ่งเป็นเคสจิตเวช จึงยากจะหลีกเลี่ยง ในฐานะนักเขียนรู้สึกถ่ายทอดลำบากไหม

เราเองต้องการถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นจริงผ่านรูปแบบภาษาวรรณกรรมเยาวชน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงไม่คิดว่าต้องหลีกเลี่ยงหรือไม่เขียนถึง แต่เราจะไม่บรรยายจนละเอียด ใช้สัญลักษณ์และการเปรียบเปรยมาช่วยในขณะที่บรรยายช่วงเวลาดังกล่าว

 

 

มีอะไรที่อยากสื่อสารถึงผู้อ่านผ่านผลงานชิ้นนี้

สำหรับผู้อ่านที่อาจประสบปัญหาทางจิตใจอยู่ เราต้องการส่งข้อความนี้ไปถึง “ไม่เป็นไรที่จะมีวันที่จิตใจอ่อนแอ เราทุกคนมีวันนั้นได้เสมอ แต่ถ้าหากเราไม่ไหว การขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่เราไว้ใจ และจากผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยา เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ”

สำหรับผู้อ่านที่อาจมีโอกาสช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ เราต้องการส่งข้อความนี้ไปถึง “แม้เราไม่สามารถช่วยเขาแก้ปัญหาได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ดีที่สุด คือการเคียงข้าง การรับฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่สั่งสอน โอบกอด ปลอบประโลม และในจุดที่เกินความสามารถของเรา สิ่งที่ดีที่สุดคือการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ”

มีเหตุการณ์ประทับใจระหว่างเขียนงานชิ้นนี้ไหม

นักวาดภาพประกอบของเล่มนี้ คือ คุณ ‘นิดา’ ชนิดา อารีวัฒนสมบัติ หรือ “Chubbynida” ซึ่งเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยม เราสองคนมองเห็นความสำคัญของปัญหาด้านจิตเวช และต้องการทำหนังสือเล่มนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม ตลอดการทำหนังสือเรามีการพูดคุย เพื่อให้คุณนิดาสามารถทำภาพประกอบได้ใกล้เคียงที่สุดกับเนื้อหาและบุคลิกของเคสแต่ละบท คุณนิดาใส่ใจและลงรายละเอียดทุกภาพ จึงทำให้หนังสือเล่มนี้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์

 

 

การเขียนให้อะไรแก่คุณบ้าง

การเขียนเปรียบเสมือนเสียงที่เปล่งผ่านปลายปากกา เป็นเสียงที่มีพลังและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนโลกทั้งใบหรือคนทุกคน ทว่าการเขียนสามารถเปลี่ยนโลกของใครบางคนได้ เพียงเท่านี้ก็คุ้มค่ามากพอแล้ว การเขียนจึงเป็นพลังใจ ทำให้ผู้เขียนได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความหมายด้วย

รู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับรางวัล 7 Book Awards

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตของเรา ดังนั้นการที่หนังสือเล่มนี้ได้รางวัล 7 Book Awards จึงรู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นมาถูกทางแล้ว รางวัลนี้เป็นหนึ่งในพลังใจที่สำคัญที่ทำให้เราเขียนหนังสือต่อไป

 

5

3 เล่มในดวงใจของเมริษา

  • บรัดเล่ย์ เด็กชายเกเรหลังห้องเรียน เขียนโดย หลุยส์ ซัคเกอร์

แรงบันดาลใจในการเป็นนักเล่นบำบัด การเป็นผู้ใหญ่ที่เด็กๆ เคารพ คือ ผู้ใหญ่ที่เคารพและให้เกียรติเด็กๆ ก่อน

  • โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง เขียนโดย คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ

แรงบันดาลใจในการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีสำหรับเด็กๆ เพราะไม่มีเด็กคนใดอยากเป็นเด็กไม่ดี ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องเป็นผู้ที่มองเห็นและมอบโอกาสในการเป็นเด็กดีให้แก่เด็กๆ

  • แฮร์รี่ พอตเตอร์ เขียนโดย เจ. เค. โรว์ลิง

หนังสือที่เต็มไปด้วยความหวัง ความกล้าหาญ มิตรภาพ และการเติบโต

 

 

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!