บ่นเป็น ‘หมีกินผึ้ง’ เชียว

-

สำนวนไทยซึ่งมีที่มาจากวรรณคดียังมีอีกมาก แม้บางสำนวนอาจไม่มีผู้ใช้ในปัจจุบันแต่ก็น่าสนใจที่จะเขียนถึงเพื่ออนุรักษ์ไว้ ในฉบับนี้ขอเสนอสำนวน “หมีกินผึ้ง” และ “ลัดนิ้วมือเดียว”

 

หมีกินผึ้ง

หมีเป็นสัตว์ป่าที่มีขนหนายาว ขึ้นต้นไม้ได้ หมีมีหลายชนิด เรียกชื่อตามลักษณะรูปร่าง เช่น หมีควาย (คงเป็นเพราะตัวใหญ่เหมือนควาย) เป็นต้น หมีกินอาหารได้หลากหลายทั้งสัตว์และพืชตามฤดูกาล มันชอบกินรังผึ้ง กินทั้งตัวผึ้ง ตัวอ่อนผึ้ง และน้ำผึ้ง เวลากินก็จะมีเสียงงึมงำ ส่วนบรรดาผึ้งที่แตกรังก็บินส่งเสียงดังหึ่งๆ อยู่รอบตัวหมี แต่เนื่องจากมีขนหนายาว เหล็กในของผึ้งจึงไม่สามารถทำอะไรมันได้

วรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย มีตอนที่พรรณนาป่าหิมพานต์ในชมพูทวีปไว้ตอนหนึ่งว่า “…ถัดนั้นไปมีป่าไม้นารีผล แลว่าลูกไม้นั้นงามนัก ดั่งสาวอันพึ่งใหญ่ได้ 16 ปี แลฝูงผู้ชายได้เห็นก็มีใจรักนัก ครั้นว่าหล่นตกลง ฝูงนกกลุ้มกิน[1]ดั่งหมีกินผึ้ง…”

ได้มีผู้นำ “หมีกินผึ้ง” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบให้หมายถึงเสียงดังที่เกิดจากการบ่น เช่น เมื่อเชษฐ์กลับเข้าบ้าน ได้ยินเสียงภรรยาบ่นพึมพำขณะรื้อค้นลิ้นชักโต๊ะวางโทรทัศน์ ก็ถามว่า “กำลังหาอะไรอยู่เหรอ บ่นเป็นหมีกินผึ้งเชียว”

ลัดนิ้วมือเดียว

ในพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิพระร่วงของพระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงบรรดาคนที่อยู่ในนรกโลกันต์ซึ่งเป็นแดนอยู่นอกกำแพงจักรวาล จึงไม่มีแสงสว่างส่องเข้าไปถึงว่า “… แลในโลกันตนรกนั้นมืดนักหนา ฝูงสัตว์ซึ่งได้ไปเกิดในโลกันตนรกนั้นดั่งนั่งหลับตาอยู่เมื่อเดือนดับนั้นแล…” คือจะไม่มีใครเห็นกัน ยกเว้นเฉพาะเวลาที่พระโพธิสัตว์ลงมาปฏิสนธิ ประสูติ ตรัสรู้ ตรัสเทศนา และเสด็จปรินิพพานเท่านั้น แต่พวกเขาก็จะเห็นกันได้เพียงชั่วเวลาอันแสนสั้น ดังข้อความที่ว่า “…อันว่าเขาแลเห็นกันดั่งนั้นก็ดี บมิได้เห็นอยู่นาน แลเห็นเร็วประมาณดีดนิ้วมือเดียวไส้ เห็นปานดังสายฟ้าแมลบ[2]คาบเดียวไส้…” แล้วโลกันตนรกก็จะกลับมืดไป

ในวรรณคดีเรื่องพระมาลัยคำหลวง พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรมีสำนวน “ลัดมือเด็ดเดียว” อยู่ในตอนที่กล่าวถึงพระมาลัยลงไปโปรดสัตว์นรกว่า ท่านใช้เวลาแสนสั้นในการเดินทางไปถึงแดนนรกด้วยฤทธิญาณ “…ครั้งหนึ่งจราหรรเห็จ ลัดมือเด็ดเดียวดล นรกายลบทันนาน ด้วยฤทธิญาณจำเรอญ…”

ส่วนใน “สมุดมาลัย” ซึ่งเดิมรวมอยู่ในสมุดพระธรรมที่ชื่อ “พระธรรมเจ็ดคัมภีร์ย่อแลสมุดมาลัย” นั้น ภายหลังเจ้าจอมพิศว์บุตรีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ได้นำสมุดมาลัยฉบับที่ท่านผู้รู้ได้ชำระต้นฉบับแล้วมาจัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2454 มีกล่าวถึงตอนที่พระมาลัยออกบิณฑบาตความว่า มีชายยากจนนำดอกบัวงามแปดดอกมาถวาย พระมาลัยจึงเหาะด้วยฤทธิ์ขึ้นไปถึงสวรรค์ในเวลาอันรวดเร็วเพื่อนำดอกบัวไปไหว้พระเจดีย์จุฬามณี “…เมื่อนั้นพระเถรมาลัย จึงรับเอาดอกไม้ ทั้งแปดดอกงามมีสี จึงเหาะด้วยฤทธิ์พิธี ถึงพระเกษเจดีย์ ขณะลัดนิ้วมือเดียวบมินาน ดอกอุบลทั้งแปดอันบาน เธอถวายในสถาน ทั้งแปดทิศเปนบูชา…”

จะเห็นว่าจากสามสำนวนข้างต้น มีที่ยังคงได้ยินใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ สำนวน “ลัดนิ้วมือเดียว” ซึ่งใช้ในความหมายเปรียบว่าไม่นาน (คือเปรียบกับระยะเวลาสั้นๆ ที่งอนิ้วมือแล้วดีดออก) เช่น เมื่อสองหนุ่มเดินไปได้เกือบครึ่งชั่วโมงแล้ว ชายก็ถามชาติว่าต้องเดินอีกนานเท่าไรจึงจะถึงบ้านของชาติ ชาติหัวเราะตบไหล่เพื่อนแล้วพูดว่า “ไม่นานหรอก อีกแค่ลัดนิ้วมือเดียวก็ถึงแล้ว”

 

[1]กลุ้มกิน = รุมกินกันชุลมุนวุ่นวาย

[2]สายฟ้าแมลบ = สายฟ้าแลบ


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!