ได้รับคำถามหลังไมค์จากทางบ้าน ในเพจเฟซบุค “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง” ถามมาว่า “ปลากะตัก ปลาชิ้งชาง ปลาจิ้งจาง ปลาฉิ้งฉาง ปลาไส้ตัน ปลาข้าวสาร จากข้อมูลที่ได้มา เขาว่าเป็นปลาชนิดเดียวกัน แล้วแต่ช่วงอายุของปลาและแหล่งที่อาศัย อันนี้เป็นจริงหรือเปล่าครับ ?” คำตอบที่หลายคนคงจะไม่ทราบกันคือ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงนะ !
ด้วยเหตุนี้ ในระยะหลัง เราถึงเห็นกระแสการรณรงค์ให้ไม่จับ “ปลาข้าวสาร” มากินเป็นอาหารกัน เพราะปลาข้าวสารนั้นอยู่ในช่วงที่ปลากระตักยังเป็นลูกปลา มันจะได้มีโอกาสเจริญเติบโตขึ้นเป็นปลากะตักตัวเต็มวัย
ปลากะตัก หรือปลาไส้ตัน เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญแก่มนุษย์ เพราะนอกจากนำไปประกอบอาหารตามปรกติแล้ว ยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลายอย่าง เช่น น้ำปลา ปลาป่น ปลาแห้ง น้ำบูดู และมีชื่อเรียกอื่นอีกมากมาย เช่น ปลากล้วย ปลาหัวอ่อน ปลาจิ้งจั๊ง ปลามะลิ ปลาหัวไม้ขีด ปลาเส้นขนมจีน ปลายู่เกี้ย ปลาเก๋ย ฯลฯ
ปลากะตักเป็นปลาทะเลขนาดเล็ก จัดอยู่ในวงศ์ปลาแมว (Engraulidae) เป็นปลาที่หากินตามผิวน้ำ อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ กระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตน่านน้ำอินโดแปซิฟิก ลำตัวเรียวยาว แบนข้าง มีสันหนามที่ท้อง มีแถบสีเงินพาดยาวตามลำตัว ปลากะตักในประเทศไทยมีขนาดเฉลี่ย 2–5 เซนติเมตร กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ทั้งแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ ปลากะตักยังเป็นอาหารสำคัญของสัตว์น้ำขนาดใหญ่กว่า เช่น แมวน้ำ โลมา วาฬ ฉลาม ฯลฯ
แต่ยังมีปลาทะเลอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งตัวเล็กมาก ขนาดพอๆ กับเมล็ดข้าวสาร จนชาวประมงเรียกว่า ปลาข้าวสาร หรือปลาสายไหม และเป็นที่นิยมจับมาแปรรูปกันเนื่องจากได้ราคาดี ชาวประมงจะออกเรือไปจับปลาข้าวสารในเวลาประมาณ 6 โมงเย็น โดยใช้อวนขนาดกลาง และมีตาของอวนที่ไม่ถี่มาก นำมาแปรรูปด้วยการต้มกับน้ำเกลือจนสุก แล้วเอาไปตากทิ้งไว้ให้แห้ง ก่อนที่จะคัดขนาดแล้วบรรจุใส่ถุง ขายได้ในราคากิโลกรัมละประมาณ 100-200 บาท หรือถ้าบรรจุกล่องส่งขายต่างประเทศ เช่น จีน หรือญี่ปุ่น ที่นิยมบริโภคเช่นกัน ก็จะได้ราคาสูงขึ้นมาก
คนไทยนิยมเอาปลาข้าวสารมาทอดกรอบ ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาล นำไปรับประทานกับข้าวต้ม นอกจากนี้ ยังมีการนำไปทอดเป็นไข่เจียว หรือทำเป็นยำปลาข้าวสาร ซึ่งมีคุณค่าทางอาหาร ทั้งแคลเซียมและโปรตีนจากเนื้อปลา
แต่ผลการศึกษาของกรมประมงเมื่อ พ.ศ. 2547 โดยสำนักงานประมงจังหวัดระยอง ได้พบว่า แท้ที่จริงแล้ว ปลาข้าวสารก็คือลูกของปลากะตักนั่นเอง กรมประมงจึงได้ออกมาตรการควบคุมการจับปลากะตักและปลาข้าวสาร
ที่ผ่านมา ชาวประมงมักเชื่อกันว่า ปลาข้าวสารเป็นปลาต่างชนิดกับปลากะตัก กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ร่วมกับตัวแทนชาวประมง อาจารย์จากสถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลลำดับพันธุกรรม หรือลำดับดีเอ็นเอ ระหว่างปลากะตักกับปลาข้าวสาร ผลการทดลองนั้นเห็นได้ชัดว่า ปลาข้าวสารคือตัวอ่อนของปลากะตักที่ยังโตไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ ดังนั้น กรมประมงจึงได้ขอให้ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือพวกอวนล้อมในการจับปลากะตัก ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของทางราชการอย่างเคร่งครัด คือ ขนาดตาของอวนล้อม ต้องไม่น้อยกว่า 0.6 เซนติเมตร เพื่อเป็นการอนุรักษ์ลูกปลากะตัก (ซึ่งก็คือ ปลาข้าวสาร) และสัตว์น้ำขนาดเล็กอื่น ๆ ไม่ให้ติดไปกับอวนของชาวประมง จนอาจจะส่งผลให้จำนวนปลากะตักในน่านน้ำไทยลดน้อยลง
นอกจากคนไทยจะไม่ค่อยทราบกันว่าปลาข้าวสารเป็นลูกของปลากะตักแล้ว ยังไม่ทราบด้วยว่า “หมึกกะตอย” ที่เป็นลูกของหมึกกล้วย และ “ปูกะตอย” ที่เป็นลูกของปูม้า (สัตว์น้ำวัยอ่อนเหล่านี้ ได้ถูกจับมาจำหน่ายกันเป็นจำนวนมากมายในแต่ละปี) นั้นที่จริงคือปลาปูหมึกที่ยังไม่โตเต็มวัย และถูกจับไปกินเสียก่อนที่จะเติบโตและมีโอกาสขยายพันธุ์ แต่กลับเข้าใจผิดว่า นั่นเป็นชื่อของสัตว์น้ำสายพันธุ์ที่ตัวเล็ก
หรืออย่าง “ปลาทูแก้ว ปลาทูเล็ก ปลาทูมัน” ที่จริงก็คือลูกของปลาทู ฟักออกจากไข่แล้วว่ายไปอยู่กลางทะเล ก็ถูกเรืออวนล้อม ส่องไฟจับไปพร้อมกับปลากะตัก รวมถึงลูกปลาสำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปลาสาก ปลาอินทรี ปลาน้ำดอกไม้ เอามาตากแห้งขายเป็นถุงๆ อย่างน่าเสียดายโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะได้มา ถ้าปล่อยให้พวกมันเติบโตขึ้นเป็นตัวเต็มวัย
เคยมีตัวอย่างหนึ่งของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ.2551 ที่เคยนิยมใช้อวนตาถี่ จับลูกปลากันได้วันละหลายพันกิโลกรัมต่อครัวเรือน และต่อมา ผลกระทบของการจับลูกปลาไปจนหมด ได้ทำลายวงจรการขยายพันธุ์ของปลา จนเกิดวิกฤต ไม่มีปลาเหลือให้จับ ชุมชนจึงต้องมีข้อตกลงร่วมกันว่า จะไม่ใช้อวนที่มีตาขนาดเล็กมาจับปลาอีกต่อไป รวมไปถึงการเรียกร้องให้เข้มงวดกับเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ในการลากอวนจับปลาด้วย
การที่ลูกปลาและลูกสัตว์น้ำอื่นๆ ถูกจับไปขายเป็นจำนวนมาก ยังส่งผลเสียโดยตรงต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ปลาขนาดเล็กอย่างปลากะตักนั้น เป็นอาหารหลักของปลาอื่นๆ ที่ใหญ่กว่า เมื่อชาวประมงจับเอาปลาข้าวสาร (หรือลูกปลากะตัก) ไปขาย ก็จะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารขึ้นในท้องทะเล ปลาชนิดอื่นๆ เริ่มลดจำนวนลงด้วย และสุดท้ายก็เป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจย้อนกลับมายังชาวประมงเอง ทั้งที่ถ้าปล่อยให้ลูกสัตว์น้ำเหล่านี้เจริญเติบโตขึ้นอีกเพียง 6 เดือน ก็จะได้สัตว์น้ำโตเต็มวัยที่มีน้ำหนักมากขึ้น ราคาดี และไม่เกิดภาวะขาดแคลนในการบริโภค
เรื่องแบบนี้จะโทษแต่ชาวประมงเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ถูก ผู้บริโภคที่เป็นประชาชนทั่วไปควรมีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาด้วย ตั้งแต่การช่วยกันกระจายความรู้ จนถึงแก้ไขความเข้าใจผิดเรื่องชื่อของลูกสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัยเหล่านี้ ไม่ให้คิดกันไปเองว่าเป็นชื่อสายพันธุ์ใหม่ จากนั้นก็ช่วยกันไม่ซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อนอีกต่อไป วิธีนี้จะช่วยกำหนดทิศทางการทำประมงของไทยได้อีกวิธีหนึ่ง
ภาพประกอบ 1 ปลาข้าวสาร ซึ่งนิยมนำมารับประทานกับข้าวต้มนั้น ที่จริงเป็นลูกของปลากะตัก
ภาพประกอบ 2 ปลากะตักใหญ่ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Indian anchovy เป็นปลาทะเลขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stolephorus indicus
ภาพประกอบ 3 ปลากะตักสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์อาหารได้หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหมักเป็นน้ำปลา
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ / เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์