ประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีนมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแสดง พิธีกรรม รวมถึงข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ นักสืบเสาะ ฉบับนี้ขอพาผู้อ่านไปรู้จักเก่าแก่ชุมชนซึ่งเป็นแหล่งขายสินค้าที่ใช้ในประเพณีจีน เช่น ไหว้พระจันทร์ เชงเม้ง สารทจีน ฯลฯ ปัจจุบันจึงมีการจัดทำพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นห้องนิทรรศการเพื่อรำลึกและสืบทอดประวัติของชุมชนไว้ในชื่อว่า “บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย”
บ้านเก่าเล่าเรื่อง ตั้งอยู่เลขที่ห้อง 32 ตรอกเจริญกรุง 23 ใกล้กับวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) และไม่ไกลจาก MRT สถานีวัดมังกรฯ เดิมห้องที่จัดแสดงงานเป็นที่อยู่อาศัยของนักแสดงงิ้ว
ศิริณี อุรุนานนท์ (เล็ก) แห่งคณะทำงานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเจริญไชย เล่าถึงประวัติพื้นที่ชุมชนเจริญไชยว่า รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินพร้อมตึกแถวในย่านเจริญไชยให้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธุ์ ดังปรากฏหลักฐานในพระราชหัตถเลขานั้นแสดงให้เห็นว่า ตึกแถวเหล่านี้มีอายุกว่าร้อยปีแล้ว และยังมีความคงทนแข็งแรง มีการใช้งานทั้งแบบที่อยู่อาศัยและร้านค้า ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ (ซึ่งก่อตั้งโดย ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร) และมีม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นประธานมูลนิธิฯ
ช่วงที่เกิดโครงการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ชาวบ้านชุมชนเจริญไชยเคยเกือบถูกเวนคืนพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินวัดมังกร คนในชุมชนจึงร่วมใจกันจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเจริญไชยขึ้น เพื่อคัดค้านการเวนคืนพื้นที่ และห้องนิทรรศการบ้านเก่าเล่าเรื่องฯ ก็ได้รับจัดตั้งโดยกลุ่มอนุรักษ์ฯ เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นมาอันช้านานของพื้นที่แห่งนี้ซึ่งควรหวงแหนและอนุรักษ์ไว้ และยังเป็นการส่งสารสู่คนภายนอกว่า หากทุบทำลายตึกแถวร้อยปีและไล่ผู้คนในชุมชนให้ออกไป แล้วจะรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒธรรมของชุมชนได้อย่างไร
คุณเล็กพาเรานำชมห้องนิทรรศการและอธิบายถึงส่วนจัดแสดงต่างๆ ได้แก่ ร้านหมอดู เป็นการจำลองร้านหมอดูเก่าแก่ในชุมชน ซึ่งเจ้าของร้านเสียชีวิต และไม่มีใครสืบทอดกิจการแล้ว ทายาทจึงมอบอุปกรณ์จริงให้พิพิธภัณ์จัดแสดง
นิทรรศการหลังม่านงิ้ว เป็นการระลึกถึงนักแสดงงิ้วผู้เคยอาศัยอยู่ที่แห่งนี้ สมัยก่อนคนที่ทำอาชีพเกี่ยวกับงิ้วอยู่ย่านนี้ทั้งหมด เพราะเยาวราชมีโรงงิ้วประมาณ 10 โรง จึงจัดแสดงเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น
นิทรรศการการจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์ จำลองการจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์แบบย่อ ถ้าเป็นแบบเต็มจะมีของสดสำหรับไหว้ด้วย ชุมชนเจริญไชยเป็นย่านที่ขายกระดาษสำหรับเทศกาลจีน กระดาษไหว้เจ้าจึงมีรูปแบบ
หลากหลายตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปีตามเทศกาลที่เปลี่ยนไป และกระดาษของเทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นกระดาษที่สวยที่สุด
ห้องรวมรูปถ่ายเก่าของคนในชุมชนเจริญไชย เป็นรูปของแต่ละบ้านซึ่งทางคณะทำงานกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ขอก๊อปปี๊ แล้วนำมาแขวนแสดงไว้เพื่อระลึกถึงอดีตของชุมชน
นอกจากนั้นยังมีโคมกระดาษแก้วซึ่งแขวนประดับไว้กลางห้องจัดแสดง เป็นงานออกแบบของนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร สื่อเรื่องราวชุมชนในอดีต ลวดลายโคมก็จะสับเปลี่ยนตามการออกแบบของนักศึกษาแต่ละรุ่น ณ ตอนนี้เป็นโคมที่เขียนคำว่า “ชุมชนเจริญไชย” ด้วยภาษาไทยแต่ใช้ฟอนต์คล้ายตัวอักษรจีน
สำหรับผู้ที่สนใจอยากไปเที่ยวชม ซึมซับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ห้องนิทรรศการบ้านเก่าเล่าเรื่องฯ ที่นี่เปิดบริการทุกวัน 9.00-16.00 น. แต่ถ้าต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ต้องนัดหมายล่วงหน้าก่อน คุณเล็กทิ้งท้ายว่าช่วงนี้ทางห้องนิทรรศการของดการใช้สถานที่กิจกรรมต่างๆ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ค่ะ
บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย
ที่อยู่: ห้องเลขที่ 32 ซอยเจริญกรุง 23 (ตรอกเจริญไชย) ถนนเจริญกรุง-พลับพลาไชย เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพมหานคร
เบอร์โทรศัพท์: 08-1567-1142 , 08-3187-8633 , 08-1567-1142 , 08-1308-0784
ค่าเข้าชม: ไม่เก็บค่าเข้าชม
คอลัมน์ : นักสืบเสาะ เรื่อง : เบญญาภา มีกำเหนิด