บันไดไม้รัก: ความรักทำให้เกิดทุกข์ แต่การรับมือความทุกข์ก็ต้องใช้ใจที่มีความรัก

-

เมื่อครั้งที่เขียนถึงนวนิยายเรื่อง  พญาไร้ใบ ของ “กฤษณา อโศกสิน”  ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า “ตัวละครหลายตัวและเรื่องราวอีกหลายประเด็นน่าจะนำไปเขียนขยายเป็นพญาไร้ใบ ตอนที่ 2 ได้สบายๆ” ทั้งนี้ ขอสารภาพว่าตอนนั้นจำไม่ได้เลยว่า มีตอนต่อของ พญาไร้ใบ  ชื่อว่า บันไดไม้รัก  ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2546  บัดนี้สำนักพิมพ์แสงดาวได้นำพญาไร้ใบ และบันไดไร้รัก มาจัดพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ 2  ดังนั้นเมื่อได้อ่านภาคต่อแล้ว  จึงขอเขียนถึงบันไดไม้รัก เพื่อให้การกล่าวถึงนวนิยายเล่มนี้ครบสมบูรณ์

ประเด็นที่ “กฤษณา อโศกสิน” นำมาขยายให้ละเอียดขึ้นคือเรื่องราวของเด็กเร่ร่อนไร้บ้าน  รัดใช้บ้านเรือนไทยของคุณพิกุลและคุณพิกันที่ซื้อด้วยเงินมรดกจากคุณพู่กลิ่น แม่บุญธรรม  ตั้งเป็นมูลนิธิสร้างสมช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน  โดยมีครูอาสาและอาสาสมัครเป็นผู้ดูแล  รวมทั้งมีครูอาสาซึ่งทำงานภาคสนามส่งเด็กที่มีปัญหาร้ายแรงต้องแก้ไขเข้ามาอยู่ในความอนุเคราะห์ของมูลนิธิด้วย  เนื้อหาส่วนนี้เป็นข้อมูลดิบซึ่งหากปราศจากฝีมือของนักเขียนที่จะขัดเกลา  เลือกสรร ปรุงใหม่และแทรกข้อมูลในตัวเรื่องให้ถูกจังหวะแล้ว  ก็มักจะทำลายคุณค่าทางวรรณศิลป์ของนวนิยายเรื่องนั้นๆ ให้ด้อยลง  ในนวนิยายหลายเรื่องที่ใช้ข้อมูลเชิงสารคดี  ผู้เขียนมักจะ “ยัดเยียด” ข้อมูลใส่ปากตัวละคร หรือพรรณนารายละเอียดยืดยาวแบบเสียดายข้อมูล  จึงทำให้เนื้อหาตอนนั้นขาดรสอารมณ์  ขาดสัมผัสของพลังสะเทือนใจ  เมื่ออ่านเรื่องบันไดไม้รัก  พบว่า “กฤษณา อโศกสิน” นำเสนอข้อมูลเชิงสารคดีเข้ากับความเป็นบันเทิงคดีได้แนบเนียนเป็นเนื้อเดียวกันอย่างน่าชื่นชม  ตัวละครเด็กเร่ร่อนที่ถูกกระทำหลายแบบหลายกรณี  เช่น เด็กถูกพ่อแม่ทุบตี  เด็กถูกคนในครอบครัวข่มขืน  เด็กถูกมอมเมาด้วยยาเสพติด  โสเภณีเด็ก  เด็กขี้ขโมย  เด็กที่เป็นลูกของพ่อแม่ติดเหล้ายาและเป็นโรคเอดส์  เด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า  เด็กที่มีจิตใจกระด้างและพฤติกรรมก้าวร้าว  เด็กที่ฆ่าตัวตาย ฯลฯ ทยอยกันเข้ามาแสดงภาพในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ทิ้งอารมณ์เศร้าสลดไว้ให้ผู้อ่านยาวนานเมื่อได้รับรู้ว่า เด็กน่าสงสารเหล่านี้ตกอยู่ในขุมนรกที่ซุกซ่อนอยู่ในหลืบของกรุงเทพมหานคร เมืองสวรรค์

รัดผู้อุทิศตนเพื่อดูแลเด็กที่ถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลา 3 ปี  พบว่าเป็นเรื่องยากลำบากสุดแสน  รัดยอมรับว่าเจตจำนงส่วนหนึ่งของการตั้งมูลนิธิเป็นการล้างบาปซึ่งตนคงได้กระทำไว้ในภพชาติที่ผ่านมาจึงถูกแม่ทิ้ง แม้จะได้รับการอุปการะจากผู้ใหญ่ใจดี  แต่รัดก็มีชีวิตที่ไร้สุขทั้งกายและใจ  เพราะถูกรังเกียจ รังแก เหยียดหยามและทวงบุญคุณ ส่วนอีกเหตุผลหนึ่ง เป็นเพราะเขาเห็นใจและเข้าใจเด็กที่ไม่อาจพึ่งใครได้แม้แต่พ่อแม่  รัดจึงมุ่งมั่นช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนโดยให้ที่อยู่ที่กิน  มีครูชี้แนะและเป็นเพื่อน มีหมอคอยดูแลรักษาทั้งทางกายและทางใจ เป็นการช่วยกอบกู้ฟื้นฟูชีวิตที่อับปางให้กลับคืนมาใหม่  การดูแลเด็กที่มีบาดแผลฉกรรจ์ในจิตใจต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างสูง  รัดจบการศึกษาด้านจิตเวช  เขาพบว่าทฤษฎีกับการปฏิบัติแตกต่างกันมาก เพราะปัญหาของเด็กเหล่านี้มีความซับซ้อนละเอียดอ่อนแตกต่างกันไป  เขาจึงคาดหวังผลเพียงแค่ให้โอกาสเด็กไร้บ้านได้พัฒนาตนเอง

 

 

ในขณะที่รัดช่วยเหลือเกื้อกูลเด็กด้วยใจเมตตา  สิ่งที่รัดได้รับนอกจากความสุขใจ ก็คือการรักษาใจของตัว  เพราะรัดเป็นคนที่มีบาดแผลฉกรรจ์ในใจ  การขาดความรักทำให้เขาไม่เชื่อใจใคร ไม่เชื่อความรัก  กลัวว่าจะเจ็บปวด  และก็เหมือนคนทั่วไปที่กลัวว่าคนอื่นจะรู้ว่า “ป่วยใจ” รัดจึงไม่กล้าเปิดใจ ไม่มีคู่คิด ไม่มีคนให้ปรึกษาหรือระบายความในใจ  ต้องเก็บกดปมด้อยไว้  รัดเลยกลายเป็นคนไม่กล้ารัก  ดังนั้น  การทำงานช่วยเหลือเด็กไร้บ้านไร้รักเหล่านี้จึงเหมือนกับเป็นการฟอกใจของรัด  ขัดเกลาปมด้อย  และเรียนรู้จักตัวเองให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

นอกจากความรักเด็กด้อยโอกาสอันเป็นความรักที่มีต่อผู้อื่นและสังคมโดยรวมแล้ว  บันไดไม้รัก  ไม่ทิ้งความเป็นนวนิยายรักหลายเส้าที่สืบเนื่องมาจาก พญาไร้ใบ   ในภาคต่อนี้ผู้เขียนเพิ่มตัวละครเอกอีกหนึ่งตัว  ดังนั้น ผู้หญิงที่มีบทบาทในชีวิตของรัดจึงมี 3 คน  คือ มะเดหวี  สุมทอง และข้าวใหม่

บันไดไม้รักเปิดเรื่องด้วยการเดินทางไปอินเดีย  เป็นการเปิดเรื่องที่มีความหมาย  ไม่ใช่การแทรกสารคดีท่องเที่ยวให้คนอ่านเพลินๆ อย่างหนึ่งเป็นการเปิดตัวข้าวใหม่  หมอด้านจิตเวชผู้มีประสบการณ์ของการขัดเกลาใจป่วยของตนเพราะกลัวความรักมาแล้ว จากการมีพ่อผู้ใช้อำนาจเข้มงวด  มีแม่ผู้อ่อนแอ  และเธอหลงรักผู้ชายที่แต่งงานแล้ว  หลังจากผ่านขั้นตอนของการรักษาใจด้วยศาสตร์ทางจิตเวช  ข้าวใหม่ใช้ชีวิตให้มีความสุขอย่างสมดุล  ทำงานจริงจัง  เที่ยวเตร่ สัมผัสและรู้สึกทุกสิ่ง แต่ไม่คิดมาก ไม่เข้มงวดกับชีวิต อย่างที่เธอบอกว่า “เพราะฉันกล้า  แล้วก็ให้โอกาสตัวเองตลอดเวลา  …ให้โอกาสสิ้นสุดและให้โอกาสเริ่มต้น” (หน้า 29)  ข้าวใหม่ไม่เพียงเข้ามาช่วยงานมูลนิธิเพราะต้องการช่วยเหลือเด็กที่ยากไร้ขาดพร่อง หากแต่ยังเห็นว่ารัดเป็นกรณีศึกษาที่เธออยากช่วยให้เขาหลุดพ้นจากหลุมพรางแห่งชีวิต  นั่นคือการกลัวความรัก ซึ่งทำให้เขาขังใจไว้กับอดีตอันเจ็บปวด  ไม่ยอมปล่อยวางแล้วมุ่งหน้าไปสู่อนาคตด้วยความกล้าหาญและเชื่อมั่น

นอกจากนี้ การเปิดเรื่องด้วยภาพของประเทศอินเดียที่มีความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างคนรวยกับคนจน  ระหว่างคนวรรณะสูงกับคนวรรณะต่ำ ยังมีนัยยะของการนำเสนอข้อคิดเรื่องความไม่เท่าเทียมที่มนุษย์กำหนดขึ้นเพื่อกดขี่กันเอง  สภาพของคนยากจนในอินเดียทำให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่ามนุษย์ต้องเผชิญความทุกข์แสนสาหัสอย่างไร  และไม่เพียงคนยากไร้ที่มีทุกข์   แม้คนร่ำรวยก็เผชิญความทุกข์อีกแบบหนึ่ง ทัชมาฮาล อนุสรณ์แห่งความรักของจักรพรรดิชาห์ ชะฮัน ที่สร้างให้พระมเหสีมุมตัช  มะฮัล ผู้ล่วงลับ  นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความรักอันท่วมท้นใจแล้ว  ยังเป็น “หยาดน้ำตาบนแก้มของกาลเวลา”  คือสัญลักษณ์แห่งความทุกข์อันท่วมทับใจด้วย  การเปิดเรื่องด้วยความทุกข์ของผู้ยากไร้ในอินเดียจึงเป็นการนำไปสู่การเสนอความตั้งใจของรัดที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของเด็กเร่ร่อนไร้บ้านไร้รัก  และเรื่องราวของทัชมาฮาล  ซึ่งตรงกับพระพุทธวัจนะว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก เป็นทุกข์  หรือความทุกข์จากความรัก  ก็เป็นการเกริ่นนำให้แก่เรื่องราวความรักของรัดผู้กักขังตนเองไว้ในกรงของความเจ็บปวด  จนกระทั่งวันหนึ่งจึงยอมคลายกุญแจขังใจของตนและพร้อมจะก้าวขึ้นสู่บันไดรักที่มีข้าวใหม่อยู่เคียงข้างเป็นเพื่อนร่วมทางและร่วมทุกข์

มะเดหวี  เป็นผู้หญิงที่รัดรักฝังใจมาตั้งแต่เด็ก  แต่เธอกลับหลงรักปูนอย่างคลั่งไคล้  มะเดหวีนับถือรัดเป็นพี่ชายและหวังพึ่งพาให้เขาเป็นที่ปรึกษาเรื่องชีวิตรักลุ่มๆ ดอนๆ ของเธอกับปูน  รัดทั้งเจ็บทั้งแสบทุกครั้งที่รับรู้เรื่องเธอและหวังว่าความเจ็บปวดช้ำรักจนถึงที่สุดแห่งความอดทนของมะเดหวีจะเป็นบทเรียนให้เธอตัดใจเลิกราจากปูนได้เด็ดขาด  แต่เขาก็พบว่านั่นไม่อาจเป็นไปได้ กลับเป็นรัดที่ถึงที่สุดแห่งความอดทน เขาจึงได้ปลดเปลื้องพันธะหัวใจที่ยึดติดไว้เนิ่นนาน  ปล่อยมะเดหวีไปตามชะตากรรมที่เธอเลือกเอง  มะเดหวีเป็นผู้หญิงที่มีทั้งโชคและเคราะห์  เธอสวย รวย ครอบครัวดี มีการศึกษา ได้ทำงานที่ชอบและตอบแทนสังคม  แต่เธอกลับหลงผู้ชายที่รักตัวเองมากกว่ารักเธอ  ความไม่ลงตัวนี้ไม่ใช่ความผิดของใครทั้งสิ้น  มะเดหวีเป็นตัวอย่างของผู้ที่ยังปีนไม่พ้นหล่มแห่งความทุกข์ ดังคำพระที่ว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”

สุมทองเป็นตัวละครที่น่าสงสารที่สุด  ตั้งแต่ปรากฏตัวในเรื่องพญาไร้ใบ  จนถึงบันไดไร้รัก  สุมทองก็ยิ่งมีบทบาทน้อยลงจนแทบจะไม่มีตัวตน  สุมทองแอบรักรัดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิง  เธอจึงภักดีต่อรัดไม่เสื่อมคลาย  ส่วนรัดไม่อาจรักสุมทองได้เลย เพราะไม่ว่าเธอจะดีเพียงใด  แต่พ่อและพี่ชายของเธอเป็นผู้กลั่นแกล้งรังแกรัดมาตั้งแต่เด็กจนถึงลอบฆ่าเมื่อรัดได้รับมรดก  ความเจ็บแค้นนี้ฝังใจรัด  เขาจึงขับไล่คนอื่นออกจากบ้านจนหมด ยกเว้นสุมทองที่เขาอุปการะด้วยความเมตตา  ความทุกข์ความเจ็บช้ำจากการรักเขาข้างเดียวของรัดและสุมทองจึงเป็นประหนึ่งกระจกเงาสะท้อนภาพของกันและกัน  แต่กระนั้น รัดยังดีที่มีโอกาสตอบโต้มะเดหวีให้สะใจบ้าง  ส่วนสุมทองไม่มีโอกาสระบายออกทางใดเลย

ผู้หญิงทั้งสามคนจึงเป็นภาพเสนอของความรักสามแบบ  รักแบบทาสผู้จงรักภักดีอย่างสุมทอง  รักแบบหลงใหลไร้สติอย่างมะเดหวี  และรักแบบมีสติ รู้ตัว  รู้เท่า และรู้ทันอย่างข้าวใหม่ ความรักทุกแบบล้วนก่อทุกข์ปนสุข เราคงไม่สามารถเลือกได้ว่าจะพบความรักแบบใด  แต่ควรคำนึงว่า  ไม่ว่าจะรักแบบใดก็ต้องรักษาใจของเราไม่ให้ป่วย  ไม่เช่นนั้นก็จะจมอยู่ในห้วงทุกข์ตลอดกาล


คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์

เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!