กล้วยเป็นผลไม้ที่คนทั่วโลกนิยมนำมารับประทานกัน ทั้งการนำเอาผลสุกมากินสดๆ โดยตรง เพราะมีรสหวาน อร่อย รสหวาน มีกลิ่นหอม และการนำเอามาแปรรูปเป็นขนมอื่นๆ หรือเป็นส่วนผสมของอาหาร แถมยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ หรือกล้วยชนิดพันธุ์อื่นๆ
กล้วยแต่ละชนิดอาจมีรสชาติแตกต่างกันบ้าง แต่มักมีสารอาหารคล้ายกัน กล้วยหอม 1 ผล ให้พลังงานราว 100 กิโลแคลอรี ซึ่งส่วนมากมาจากน้ำตาลที่มีอยู่ในผลกล้วยตามธรรมชาติ ทั้งยังอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินซี ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และโพแทสเซียม รวมถึงคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินซี และเส้นใยอาหารเพกติน (pectin)
ในเชิงประโยชน์ของกล้วยต่อสุขภาพนั้น พบว่ากล้วยช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลไม่ให้สูงเกินไป เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีกากใยอาหารพอเหมาะ จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค อย่างเช่น โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจ กล้วยยังทานแล้วอยู่ท้อง ให้พลังงานแก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี สารโพแทสเซียมที่พบในกล้วย ช่วยให้ร่างกายขับโซเดียมออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น ส่งผลให้ระดับความดันโลหิตลดลงด้วย เส้นใยอาหารในกล้วยยังช่วยลดอาการท้องอืดท้องเสีย เพราะเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่กลายเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ชนิดโพรไบโอติก (แบคทีเรียชนิดดี) ที่พบในลำไส้ ซึ่งช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย
แต่การรับประทานกล้วยมากเกินไป ก็มีผลเสียเช่นกัน เนื่องจากกล้วยเป็นผลไม้ที่ให้พลังงาน หากกินมากและขาดการออกกำลังกาย อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไป ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคประจำบางอย่าง ก็ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องปริมาณอันเหมาะสมที่จะรับประทานด้วย นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกินกล้วยดิบ เพราะกล้วยดิบยังมีส่วนประกอบเป็นแป้งมาก จึงย่อยยากกว่ากล้วยสุกที่แป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลแล้ว และเส้นใยอาหารเพกตินในกล้วยก็อาจไปดูดซึมน้ำหล่อเลี้ยงในลำไส้ อุจจาระเลยแข็งตัว จนเกิดอาการท้องผูกได้
สำหรับคนที่เป็นโรคกระเพาะหรือโรคกรดไหลย้อน การกินกล้วยตอนท้องว่าง อาจเกิดอาการจุกเสียดแน่นท้องได้ เนื่องจากมีกรดมากขึ้นในกระเพาะอาหาร แต่ถ้าเป็นคนที่มีร่างกายปรกติ ก็สามารถรับประทานได้โดยไม่เกิดผลเสียอะไร ไม่ได้เป็นอย่างเช่นที่มีการเตือนกันว่า “กินกล้วยตอนท้องว่าง จะไปเพิ่มระดับธาตุแมกนีเซียม-โพแทสเซียมในเลือด จนเป็นอันตรายแก่หลอดเลือดหัวใจ” ซึ่งความจริงแล้ว ต้องกินกล้วยมากถึง 55 ลูกต่อมื้อ ถึงจะมีผลเช่นนั้นได้
ส่วนกล้วยตากที่แปรรูปมาจากล้วยน้ำว้าสุก และบางคนแชร์ข้อมูลกันว่า “มีระดับน้ำตาลสูงถึง 64.1% มากกว่าในทุเรียนเกือบเท่าตัว” นั้น ที่จริงแล้วถ้าไม่ได้นำไปอบผสมกับน้ำผึ้ง กล้วยตากก็มีระดับของน้ำตาลประมาณ 15% เท่านั้น ไม่ได้มากมายอย่างที่แชร์กัน สามารถนำมาบริโภคได้ เพียงแต่ระดับของสารอาหารพวกวิตามินจะน้อยลง เนื่องจากเสื่อมสภาพเพราะตากแดด และต้องระมัดระวังในคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือด
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดๆ หรือพูดเกินจริงเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากกล้วย ตัวอย่างเช่น บอกว่า “การรับประทานกล้วย ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนได้ชะงัด เนื่องจากกล้วยอุดมด้วยสารไทรามีน (tyramine) และธาตุแมกนีเซียม เคยมีงานวิจัยบอกว่าผู้ป่วยไมเกรนที่มีอาการปวดหัวกำเริบ กว่าครึ่งหนึ่งนั้นมีปริมาณแมกนีเซียมในสมองลดลง” … ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย ไม่ได้มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ในการนำกล้วยมาใช้รักษาไมเกรน การรับประทานกล้วยที่แม้อุดมด้วยแมกนีเซียม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณของแมกนีเซียมในสมองเมื่อมีอาการปวดหัวไมเกรน แถมสารไทรามีนที่มีในกล้วยนั้น ยังกลับกลายเป็นสารที่ควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยไมเกรนบางรายด้วย
หรืออย่างการอ้างประโยชน์ทางสมุนไพรของกล้วย ด้วยการคิดค้นวิธี “ดื่มน้ำยางกล้วย โดยใช้ช้อนปักที่ลำต้นของกล้วยให้น้ำออกมา แล้วเอาไปดื่มกินรักษาโรคกระเพาะและกรดไหลย้อนได้” ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า ไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น เพราะไม่พบรายงานใดสนับสนุนว่าการดื่มน้ำยางกล้วยช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและกรดไหลย้อน และความจริงแล้ว ยากล้วยที่แนะนำและขึ้นทะเบียนยาสมุนไพรให้ใช้กันนั้น ทำจากผลกล้วยน้ำว้าห่าม นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง ชงน้ำดื่มเพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- หรือการกล่าวอ้างว่า “การทานกล้วยสุกจัด จะสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้” โดยอ้างอิงจากงานวิจัย พ.ศ. 2552 ของนักวิจัยญี่ปุ่นที่ระบุว่า กล้วยสุกจัดจะสร้างสาร TNF (tumor necrosis factor) ที่ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง ช่วยสร้างสาร CD4 เพิ่มภูมิต้านทานในร่างกายเรา “ให้กินกล้วยสุกที่มีผิวเหลืองและมีจุดดำๆ หลายๆ แห่ง วันละ 1-2 ใบ จะต้านไข้หวัดใหญ่ และโรคต่างๆ ทั้งยังเพิ่มเม็ดเลือดขาวมากกว่ากล้วยที่มีผิวเขียวถึง 8 เท่า” ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่ผิดความจริง เพราะกล้วยไม่มีสาร TNF แต่อย่างใด ส่วนในงานวิจัยนั้น เป็นการเอาสารสกัดจากผลกล้วย ไปลองฉีดในหนูทดลอง ซึ่งพบว่าสารจากกล้วยบางสายพันธุ์สามารถกระตุ้นให้หนูสร้างสาร TNF เพิ่มขึ้นได้ต่างหาก
ในทางตรงกันข้าม กลับมีคนตัดต่อทำคลิปวิดีโอสร้างความหวาดกลัวออกมา โดยบอกว่ากล้วยที่ทิ้งเอาไว้นานๆ จนเปลือกมีสีดำคล้ำนั้น เป็นเพราะ “มีหนอน หรือพยาธิ มีปรสิตฟักตัวอยู่ในเนื้อกล้วย” ซึ่งความจริงแล้ว ที่เปลือกกล้วยเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองแล้วเป็นสีน้ำตาลดำนั้น ก็เป็นไปตามธรรมชาติของการสุกของกล้วย ที่จะมีการสร้างฮอร์โมนชื่อ เอทิลีน (ethylene) เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างของสารประกอบในเนื้อและเปลือกของผลไม้ ให้เป็นสารที่มีสีเปลี่ยนแปลงไป พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแป้งในเนื้อของผลให้กลายเป็นน้ำตาล ผลไม้สุกเลยมีรสหวานขึ้นนั่นเอง
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
ภาพ: อินเทอร์เน็ต