นางเอกในนิทานวรรณคดีไทยหลายเรื่องมีคุณสมบัติพิเศษและมีชาติกำเนิดที่พิสดารผิดมนุษย์ เช่น นางกากี มีชาติกำเนิดจากดอกบัว นางปทุมวดี นางเอกเรื่องโสวัต นางปทุมก็เป็นนางฟ้าอุบัติในดอกบัว ฤๅษีนำมาเลี้ยงเป็นธิดาบุญธรรม ทั้งสองนางจุติจากนางฟ้ามีคุณสมบัติพิเศษคือกลิ่นกายหอมตลบอบอวลโดยไม่ต้องพรมน้ำอบน้ำหอมต่างจากสามัญมนุษย์
ก็แลนางผู้มีกายหอมและมีชาติกำเนิดพิสดารแต่ละนางมักมีบทบาทสำคัญ ได้รับการยกย่องนำชื่อมาเป็นเจ้าของเรื่อง เช่น กากี นางประทุม นางอุทัย เป็นต้น ต่างกับนิทานไทยส่วนมากที่พระเอกมีบทบาทเด่นอย่างไกรทอง สังข์ทอง แต่หากเรื่องใดพระเอกกับนางเอกมีบทเด่นทั้งคู่ก็อาจนำทั้งพระเอกนางเอกมาตั้งเป็นชื่อเรื่อง เช่น พระรถเมรี พระสุธนมโนห์รา
นางงามที่เป็นนางฟ้าจุติมาเกิดในดอกบัว คือ กากีและนางประทุมนั้น ฤๅษีได้นางมาอบรมเลี้ยงดูแต่ยังเป็นทารก จนรุ่นสาวจึงได้พบกับพระเอก แล้วแต่ละเรื่องก็ดำเนินไปอย่างออกรส นางงามต้องตกระกำลำบากสาหัส และจากชาติกำเนิดที่ไม่ธรรมดาของนาง ตอนจบนางก็สุขสมปรารถนาตามรูปแบบของนิทานไทย
นางงามจากกระบอกไม้ไผ่กลิ่นกายหอมฟุ้งโดยไม่ต้องใช้น้ำอบน้ำปรุง เป็นเรื่องละครที่สังคมไทยในอดีตคุ้นชินชื่นชอบ นางลืมตาดูโลกเห็นหน้าพ่อแม่ได้เพียง 7 วันก็ถูกจำกัดบริเวณให้เติบโตอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ มีพัฒนาการทั้งกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาด้วยตนเองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ จนโตเป็นสาวได้พบเนื้อคู่เป็นเจ้าชายรูปงาม ชาติกำเนิดของนางในนิทานมีว่า
ท้าววรกรรณ ครองเมืองปาตลี มเหสีชื่อนางบุษบง มีพระธิดาชื่อนางเกษณี มีรูปโฉมงดงาม ครั้นนางมีอายุได้ 16 ปี ท้าววรกรรณจึงเชิญทายาทกษัตริย์ร้อยเอ็ดนครมาให้นางเกษณีเลือกคู่ แต่นางไม่เลือกใคร พระบิดาจึงประกาศให้ราษฎรชาวเมืองมาประชุมให้นางเลือก พระอินทร์แปลงกายเป็นชายเข็ญใจไปร่วมพิธี ด้วยบุพเพสันนิวาส นางเกษณีรู้ว่าเป็นพระอินทร์แปลงจึงเลือกชายเข็ญใจ พระอินทร์นำนางไปอยู่ด้วยบนสวรรค์ จนนางตั้งครรภ์ถ้วนทศมาส จึงพานางมาคลอดยังแดนมนุษย์ ณ ป่าเวฬุวัน นางคลอดธิดาเป็นทารกรูปงาม “ขนานนามตามวงศ์เทวา ชื่อว่ายอพระกลิ่นยุพินพงศ์” ล่วงไปได้ 7 วัน พระอินทร์กับนางเกษณีจะต้องกลับเมืองฟ้า จึงนำนางยอพระกลิ่นใส่ไว้ในลำไม้ไผ่ ดังในบทละครเรื่องมณีพิไชย พระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ว่า
๏ ครั้นสร่างโกสิตฤทธิไกร เห็นไม้ไผ่กอหนึ่งแน่นหนา
เป็นไม้ไผ่สีสุกอันโสภา ลำหนึ่งใหญ่กว่าไม้ทั้งกอ
ต้นโตสิบกำลำสล้าง ปล้องห่างห่างงามพริ้งจริงจริงหนอ
เรี้ยวรกปรกประดูลออ แขนงหน่อใบก้านตระการตา
ท้าวจึงอุ้มธิดายาใจ ใส่ปล้องไม้ไผ่พฤกษา
ทำด้วยบุญฤทธิ์กฤษดา อมราตั้งสัตย์์ปฏิญาณ
เดชะบารมีของข้า ได้สร้างมาแต่ก่อนเป็นแก่นสาร
จงช่วยรักษาพยาบาล นงคราญอย่าให้มีไภยัน
ใครมิใช่คู่ครองของธิดา ถึงจะมาเห็นไม้ลำใหญ่นั่น
จะเอามีดพร้าขวานเข้ารานฟัน อย่าให้ไม้สำคัญอันตราย
ถ้าใครเป็นคู่ครองของบุตรี ให้ฟันทีเดียวขาดเหมือนมาดหมาย
ทั้งสิงห์สาราสัตว์ที่แสนร้าย อย่ากล้ำกรายลูกข้าทำสาธารณ์ ฯ
พระอินทร์อธิษฐานว่า ใครที่ไม่ใช่คู่ครองของนางยอพระกลิ่น อย่าให้กล้ำกรายลำไม้ไผ่นั้นได้ แต่ “ถ้าใครเป็นคู่ครองของบุตรี ให้ฟันทีเดียวขาดเหมือนมาดหมาย” นางอยู่ในกระบอกไม้ไผ่จนโตเป็นสาว กล่าวถึง พระมณีพิไชย โอรสเจ้ากรุงศรีอยุธยาไปประพาสป่า เทวดาดลใจให้ได้พบเนื้อคู่ จึงตัดไม้ไผ่ลำนั้นได้นางยอพระกลิ่นเป็นชายา พากันกลับไปบ้านเมือง เกิดกรณีแม่ผัวลูกสะใภ้ เรื่องราวดำเนินไปอีกยาวไกล
นิทานเรื่องมณีพิไชย หรือที่ชาวบ้านครั้งกระโน้นรู้จักเล่าขานกันว่า ‘ยอพระกลิ่น’ เป็นที่มาของบทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ซึ่งทรงนำตอนท้ายของเรื่องตอน “พราหมณ์ยอพระกลิ่นขอมณีพิไชยไปเป็นทาส” บทสำหรับใช้เล่นละครที่กวีโบราณท่านแต่งขึ้นนั้น มักเลือกสรรตอนที่สนุกสนานเหมาะกับการเล่นละคร ไม่ได้แต่งเป็นกลอนบทละครทั้งเรื่อง
กลอนบทละครตอนต้นเรื่องมณีพิไชยก่อนที่จะถึงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 นั้น กรมหลวงภูวเนตร
นรินทรฤทธิ์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นภายหลัง เป็นบทสำหรับเล่นละครนอกซึ่งได้รับความนิยมเรื่องหนึ่ง กรมหลวงภูวเนตรฯ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าทินกร ทรงเป็นกวีเอกพระองค์หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระนิพนธ์บทละครชั้นเยี่ยมไว้หลายเรื่อง ได้แก่ มณีพิไชย สุวรรณหงส์ นางแก้วหน้าม้า เทวัญนางกุลา กล่าวกันว่านอกจากบทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 แล้ว ไม่มีบทละครของผู้ใดจะแต่งได้ดีกว่ากรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ทั้งสำนวนกลอนและกระบวนการเล่นละคร
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์