เห็ดเยื่อไผ่ เห็ดนุ่งกระโปรง

-

ในอดีต เห็ดเยื่อไผ่ นับเป็นหนึ่งในเจ็ดส่วนผสมของยาอายุวัฒนะที่จัดเป็นเมนูเสวยให้แก่ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิง เห็ดนี้ถูกส่งมาจากมณฑลยูนนาน ชาวจีนนิยมปรุงเป็นอาหารบำรุงร่างกาย ในตำรายาจีนเชื่อว่า ส่วนหมวกบนสุดของเห็ดเยื่อไผ่สามารถผลิตเป็นยาบำรุงเพศของม้า และช่วยให้ม้าผสมพันธุ์ได้ดีขึ้น ตามตำรายาจีนยังใช้เห็ดชนิดนี้เป็นยาบำรุงร่างกายเมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีอาการอ่อนเพลียเนื่องจากท้องเดิน รักษาโรคความดันโลหิตสูง ปัญหาเนื้อเยื่อมีไขมันพอกตับอักเสบ โรคที่เกี่ยวข้องกับไต ตา ปอด และเป็นหวัด นอกจากนี้ยังใช้ป้องกันการบูดเสียของอาหารจากจุลินทรีย์ (microbial spoilage) ได้

กลุ่มเห็ดต้นแยก
คลุมก้านเห็ดเป็นกระโปรง

สมัยหนึ่งมีคนไทยไปลองชิมที่ฮ่องกงรู้สึกแปลกลิ้นจึงเป็นผู้เริ่มต้นนำเข้ามาประกอบอาหารในประเทศ น่าจะเมื่อราว 40 -50 ปีก่อน (ผู้เขียนสันนิษฐานจากหัสนิยาย พล นิกร กิมหงวน โดย “ป.อินทรปาลิต” เขียนถึงอาเสี่ยกิมหงวนพ่อค้าผู้ร่ำรวยแห่งพาหุรัด มักจะพาเพื่อนเกลอไปดื่มกินที่ภัตตาคารหยาดฟ้าหรือห้อยเทียนเหลา ร้านอาหารจีนอันดับหนึ่งของประเทศไทยเราในตอนนั้น และกล่าวถึงเมนูหูฉลาม เป็ดย่าง ลูกชิ้นกุ้งผัดผักโสภณ ไข่ดันไก่น้ำแดง ฯลฯ แต่ไม่เคยเล่าถึงเห็ดเยื่อไผ่เลย) เมื่อแรกลองชิมในน้ำแกงที่ภัตตาคารจีนชั้นดี ก็รู้สึกว่าอร่อยแปลก เวลาเคี้ยวมีสัมผัสเหมือนฟองน้ำกรอบสากๆ จึงไปหาซื้อที่เยาวราช ตอนนั้นยังไม่มีผู้นำเข้า ต่อมาเริ่มพบมีขายเป็นเห็ดแห้งห่อเป็นมัดในราคาไม่แพงนัก เมื่อเอามาแช่น้ำให้พองตัวต้องตัดกระโปรงเห็ดที่รุ่ยร่ายทิ้ง เหลือแต่ส่วนต้น หั่นขนาดพอคำ ใช้ต้มในแกงจืดกับเครื่องยาจีนอื่นๆ เมื่อสุกมีกลิ่นจางๆ น้ำแกงมีรสชื่นใจ แล้วใช้ปรุง จนปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วประเทศ แม้กระทั่งร้านข้าวต้มพุ้ยมักมีในหม้อตุ๋นกับกระดูกหมูและเครื่องยาจีน ใส่ในโถเป็นชุดอุณหภูมิร้อนจัดแทบลวกปาก บางครั้งพบในภัตตาคารระดับหรูบางแห่งสร้างสรรค์เป็นรายการที่แตกต่าง เช่น ยัดไส้แอสพารากัสและเห็ดชิเมจินึ่งน้ำแดง เป็นต้น บางครั้งนิยมใช้ประกอบในสำรับช่วงกินเจ

เห็ดต้นเดี่ยวพร้อมเก็บเกี่ยว

ชาวจีนรู้จักนำเห็ดชนิดนี้มาใช้ประโยชน์เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อน เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการเพาะเลี้ยงเห็ด “เยื่อไผ่” ออกจำหน่ายไปทั่วโลก ใช้เป็นส่วนผสมในยา รวมทั้งเอาปรุงอาหาร ด้วยความเชื่อว่าสามารถลดคอเลสเตอรอล และป้องกันโรคต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าใช้เป็นส่วนผสมน้ำมันนวดแก้โรคเกาต์และรูมาติซึมได้ บางประเทศแถบเอเชียนิยมกินเห็ดตากแห้ง โดยชงกับน้ำร้อนแล้วสามารถดื่มได้ทันที อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะสามารถนำเห็ดเยื่อไผ่มาปรุงอาหารอร่อยได้หลายอย่าง แต่ก็ไม่ควรกินมากหรือบ่อยเกินไป เพราะมีการตรวจพบสารฟอกขาวในเยื่อไผ่บางยี่ห้อ หากกินบ่อยๆ อาจมีผลกระทบต่อร่างกายของเรา

ตามรายงานของประเทศจีนพบเห็ดในสกุลนี้ทั้งสิ้น 9 ชนิด แต่นำมากินได้เพียง 4 ชนิด คือ เห็ดร่างแหชนิด Dictyophora indusiata Fisch, Dictyophora duplicata Fisch , Dictyophora echinovolvata Zang และ Dictyophora merulina Berk

แปลงปลูกเห็ด

จากรายงานของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่าเฉพาะในภาคอีสาน พบเห็ดเยื่อไผ่ถึง 5 ชนิด คือ เห็ดที่มีกระโปรงยาวสีขาว ( Dictyophora indusiata Fisch.) กระโปรงสั้นสีขาว ( Dictyophora duplicata Fisch.) กระโปรงสีส้ม ( Dictyophora multicolor (Berk) Broome var. lacticolor Reid.) กระโปรงสีแดง ( Dictyophora rubrovolvata Zang ) และกระโปรงสีเหลือง ( Dictyophora multicolor Fisch.) แต่ที่บริโภคได้มีเพียง 2 ชนิด คือ เห็ดกระโปรงยาวสีขาว และเห็ดกระโปรงสั้นสีขาว

ทั้งนี้ ชาวจีนสามารถเพาะเลี้ยงเป็นการค้าส่งขายทั่วโลกได้เพียง 2 ชนิด คือพันธุ์ Dictyophora indusiata Fisch และ Dictyophora echinovolvata Zang มีการคัดเลือก 2 สายพันธุ์นี้ไว้เพาะเลี้ยงมาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี และปรับปรุงเทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงจนก้าวหน้า ในขณะที่หลายประเทศรวมทั้งไทยเรากำลังพยายามพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้ เนื่องจากมีราคาแพง ราคาขายในท้องตลาดขายสูงถึงกิโลกรัมละ 3,000-5,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเห็ด

ซุปเห็ดต้มเครื่องยา

เห็ดเยื่อไผ่มีคุณค่าทางโภชนาการมาก ประกอบด้วยโปรตีน (Nx6.25) 15-18% มีกรดอะมิโนถึง 16 ชนิด จากกรดอะมิโนทั้งหมด 20 ชนิดที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ ใน 16 ชนิดนี้มี 7 ชนิดที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ (essential amino acid) และมีไรโบฟลาวิน (riboflavin) หรือวิตามินบี 2 ค่อนข้างสูง จากการสกัดสารจากเห็ดร่างแหพบสารที่สำคัญ 2 ชนิด คือ พอลิแซ็กคาไรด์ และไดโอไทโอโฟริน เอและบี ซึ่งเป็นสารที่พบได้ยากในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ มีการทดสอบคุณสมบัติของสารไดโอไทโอโฟริน เอและบี ทางเภสัชวิทยาพบว่า สารกลุ่มนี้ช่วยปกป้องระบบประสาทไม่ให้ถูกทำลายจากสารพิษ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และต่อต้านการเกิดเนื้องอก นอกจากนี้ยังพบว่ามีน้ำตาลที่สำคัญ เช่น mannitol และสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) เห็ดเยื่อไผ่จึงมีคุณประโยชน์แก่ร่างกายมาก

เห็ดเยื่อไผ่สอดใส้

ดร.วรวิกัลยา เกียรติ์พงษ์ลาภ นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา ผู้เชี่ยวชาญเห็ดได้วิจัยพบว่า เห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์จีนกระโปรงยาวสีขาวของไทยเราอุดมด้วยสารสำคัญมากมาย เหมาะสำหรับการนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ทั้งในวงการอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม และรวมถึงผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่สามารถพัฒนาให้มีคุณสมบัติทัดเทียมกับเยื่อเมือกหอยทาก ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่เห็ดเยื่อไผ่อีกด้วย คุณประโยชน์ดังกล่าวสอดรับกับกระแสรักษ์โลกและรักสุขภาพที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทีมงานจะต่อยอดงานวิจัยนี้ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเห็ดได้อย่างแท้จริง ปัจจุบันทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานได้ประสบความสำเร็จเพาะเลี้ยงเห็ดเยื่อไผ่เพื่อเป็นต้นแบบไว้เป็นจำนวนมาก และเตรียมสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่แห่งประเทศไทย จึงนำเสนอต่อ “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่จะทำแปลงเพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่ให้มีผลผลิตสูง เพื่อรองรับการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม และรวมถึงเวชสำอาง ซึ่งนักวิจัยกำลังทดลอง คาดว่าอีกไม่นานจะมีผลิตภัณฑ์จากเห็ดเยื่อไผ่โดยทีมนักวิจัยนี้แน่นอน เมื่อถึงตอนนั้นเราคงจะได้บริโภคเห็ดเยื่อไผ่สดในราคาที่ไม่แพงเกินเอื้อม

 


คอลัมน์: กินแกล้มเล่า
โดย: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี ภาพถ่าย: มีรัติ รัตติสุวรรณ
All Magazine กรกฎาคม 2563

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!