ฝนตกสี่ห่า ฟ้าผ่ายายชี
แก้ผ้าดู….. ฝนก็เทลงมา เอ้าเทลงมา
ท่วมทุ่งท่วมท่า ท่วมนามะดัน
ถอก…..ชนกัน ฝนก็เทลงมา เอ้าเทลงมา
ท่วมไร่ท่วมคอน ท่วมดอนตาจัน
หัวล้านชนกัน ฝนก็เทลงมา เอ้าเทลงมา
นั่นเป็นบทแห่นางแมวขอฝนที่กระผมเคยได้ฟังได้เห็น เมื่อครั้งเยาว์วัยได้ร่วมขบวนส่งเสียงโหวกเหวกพร้อมกับชาวบ้านทุ่ง บทแห่ตอนไหนที่ถูกใจก็ตะโกนกันสุดเสียง หวังให้เทวดาท่านได้ยินแล้วบันดาลให้ฝนตกชื่นชุ่มพุ่มพฤกษ์ ข้าวกล้าจะได้ผลิใบเจริญรวงพออยู่พอกิน ก็แลในบทแห่นางแมวแต่ละสำนวนมักแทรกถ้อยคำสัปดี้สัปดนลงไปด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อกันว่าเทวดาท่านชอบ ยิ่งอัศจรรย์ก็ยิ่งเป็นที่ถูกใจเทวดา
ของอัศจรรย์อย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในขบวนแห่นางแมวคือ “ขุนเพ็ด” ทำด้วยท่อนไม้ทองหลางเป็นรูปอวัยวะเพศชายขนาดโตเท่าแขนเท่าขา ส่วนปลายทาด้วยปูนกินหมากสีแดงโร่แบกไปในขบวน ผ่านบ้านเรือนในหมู่บ้านก็เอาขุนเพ็ดทิ่มไปที่ช่องบันได ตักน้ำจากโอ่งดินที่เชิงบันไดสาดไปยังตะกร้าแมวที่หามมากลางขบวนพร้อมกับร้องบทแห่ มีเถิดเทิงกลองยาวนำขบวนฟ้อนรำโดยแม่ยกทั้งคุณยายคุณป้า สนุกสนานเฮฮาตามประสาสังคมบ้านนอกคอกนา
แต่ “หัวล้านชนกัน” การละเล่นพิสดารที่อยู่ในบทแห่นางแมวนั้นกระผมไม่เคยเห็น คิดว่าน่าจะเป็นการแข่งขันโดยเอาคนหัวล้านมาชนกันจนรู้ผลแพ้ชนะเหมือนกับการชนไก่ เมื่อแรกกระผมเข้าใจว่าการละเล่นหัวล้านชนกันน่าจะไม่มีเล่นกันจริงๆ หัวล้านเป็นเอกลักษณ์ของประชากรกลุ่มพิเศษอยู่แล้ว ไฉนจะต้องไปแข่งกีฬาพิลึกพิลั่นเป็นตัวตลกให้ชาวบ้านบันเทิงเป็นที่เอิกเกริกอีกเล่า แต่เมื่อได้อ่านกฎมณเฑียรบาลในกฎหมายโบราณสมัยอยุธยา ซึ่งกล่าวถึงการละเล่นโบราณในพระราชพิธี มีการละเล่นต่างๆ รวมถึง “ชนคน” ด้วย
“เมื่อแรกเสด็จออก ฬ่อช้าง รันแทะวัวชน กระบือชน ชุมพาชน ช้างชน คนชน ปรบไก่ คลีชงโคน ปล้ำมวย ตีดั้ง ฟันแย้งเชิงแวง เล่นกลคลีม้า”
การเล่นโบราณดังกล่าวประกอบด้วย “ฬ่อช้าง” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ขี่ม้าล่อแพน” คือผู้เล่นขี่ม้าถือกำแพนหางนกยูง ล่อให้ช้างที่กำลังดุร้ายไล่เหยียบ ผู้เล่นต้องคล่องแคล่วหลีกหลบไม่ให้ช้างทำร้ายได้ “รันแทะวัวชน” คือให้วัวลากระแทะ (เกวียนขนาดเล็ก) มีแอกอยู่บนไหล่ชนกัน “ชุมพาชน” ชุมพาเป็นสัตว์มีเขาจำพวกแกะ จับมันให้มาชนกันกลางสนามเป็นความรื่นเริงหฤหรรษ์ของชาววังครั้งกระโน้น “คนชน” น่าจะหมายถึงการให้คนชนกันทั้งๆ ที่บนหัวไม่มีเขา แถมยังไม่มีผมอีกต่างหาก
สมุทรโฆษคำฉันท์วรรณคดีสมัยอยุธยา กล่าวถึงการเล่นหัวล้านชนกันเป็นการเล่นเบิกโรงในพระราชพิธีหนึ่ง ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการแข่งขันครั้งนั้นไว้ดังนี้
๏ หัวล้านทั้งสองชนอด ฦๅชาปรากฏ
กระเกลือกกระกริ้วไทกลัว
๏ ชนได้ไถ่ข้าซื้อวัว ผสมเปนครอบครัว
ทั้งเหย้าแลเรือนคูคัน
๏ สองข้างหาญชนเขี้ยวขัน สองเห็นหัวกัน
ก็คันยเยื้อมขนแขยง ฯ
๏ กูนี้ไทถือ แต่ชาวลุ่มฦๅ ว่ากูคำแหง
เขาขึ้นชื่อกู ชื่ออ้ายหัวแขง กูชนกลางแปลง บ่รู้กี่ปาง
๏ อย่าเห็นหัวเกลี้ยง กูชนโพล่เพนียง ก็แตกโผงผาง
ชาวลุ่มทั้งหลาย รอาอางขนาง มึงต่อกูปาง นี้จักเกี่ยงตาย
๏ กูนี้ชาวไร่ กูก้มหัวไว้ หัวล้านทั้งหลาย
ครั้นกูชวนชน แล่นซรอกทุกพาย เขาเรียกกูนาย ชื่ออ้ายหัวตัน
ขยายความจากคำประพันธ์ได้ว่า “หัวล้านชนกัน” ในพระราชพิธีมีการวางเดิมพันเหมือนชกมวยชิงแชมป์ ใครเป็นผู้ชนะก็มีโอกาสร่ำรวย คู่ชนทั้งสองคือ “อ้ายหัวแขง” เป็นชาวลุ่ม กับ “อ้ายหัวตัน” ซึ่งเป็นชาวไร่ ต่างก็เคยผ่านสังเวียนหัวล้านชนกันมาแล้ว การชนครั้งนั้นถึงขั้นเลือดตกยางออก และผลคือ
๏ หัวล้านชาวไร่ไล่ปาม เข้าขวิดติดตาม
กันแทกก็หัวไถดิน ฯ
ขวิดกันหัวไถดินราวกับวัวควายเชียวแหละ
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์