ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร
มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ บอกร้ายแสลงดิน
ได้อ่านโคลงโลกนิติคราใดก็จับใจทุกครั้ง ก่อนเข้าเรื่องวันนี้ ผมขอกำนัลมิตรสหายด้วยโคลงง่ายๆ แต่ความหมายดีนัก
สำนวนไทยที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้นย่อมมีที่มา มีต้นกำเนิด ทว่าเมื่อนานวันเข้า ที่มาอันเป็นเค้าของสำนวนก็ค่อยเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนจนหาที่มาไม่พบ ไม่มีใครนึกถึงที่มา ใช้สำนวนนั้นประกอบสถานการณ์ผันแผกแปลกเปลี่ยนไปจากเดิม หรือแม้กระทั่งเลิกใช้สำนวนนั้นไปเลยก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย
ภาษานั้นเป็นสมบัติของสังคม สมัยหนึ่งนิยมใช้กันอย่างหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยไปความนิยมอย่างใหม่ก็เกิดขึ้น และหากจะมีใครสักคนในยุคปัจจุบันหันไปใช้ภาษาอย่างเมื่อร้อยสองร้อยปีก่อน ก็ไม่เห็นจะผิดตรงไหน เป็นสิทธิส่วนบุคคลว่ากันไม่ได้ แต่ที่น่าจะต้องตำหนิกันบ้างก็เห็นจะได้แก่คำหรือสำนวนที่คิดขึ้นมาเอง หาที่มาที่ไปไม่ได้ คนคิดนั่งกระหยิ่มใจในความแปลกใหม่อยู่คนเดียว ฝันไปลมๆ แล้งๆ เพียงลำพังตนว่าดีไม่หยอกเชียว
สำนวน ‘หัวล้านนอกครู’ ที่จะนำมาสู่กันอ่านคราวนี้ เชื่อว่าน่าจะมีอายุเก่าแก่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างต่ำ
ในวรรณกรรมกลอนอ่านเรื่องปาจิตกุมาร ซึ่งบอกวันเดือนปีที่แต่งไว้ชัดเจนว่า “แต่งแล้วเดือน 9 ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล เขียนแล้วเดือน 5 แรม 14 ค่ำ ปีขาล ฉอศก ศักราช 2316” หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา และเป็นปีที่ 6 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เนื้อหาสาระในเรื่องปาจิตกุมารกลอนอ่านเป็นอย่างไรนั้น จะไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ แต่สิ่งที่จะอ้างถึงคือนิทานย่อยที่แทรกอยู่ในเรื่องหลัก หรืออาจเรียกว่านิทานซ้อนนิทานที่เล่าถึงเค้ามูลของสำนวน ‘หัวล้านนอกครู’ นิทานซ้อนนี้พระเอกคือปาจิตกุมารเล่าให้นางอรพิม นางเอกของเรื่องฟัง
แต่ครั้งหลังว่ายังมีกระทาชาย เป็นสหายสองเกลอน่าทุกขัง หัวล้านเกลี้ยงเพียงบ้าเป็นน่าชัง เที่ยวเซซังมุ่งหมายอยากได้เมีย
เกลอหัวล้านทั้งสองหนุ่มจะหันหน้าไปฝากรักกับใครก็ไม่มีสาวไหนรับรัก ทั้งยังว่าเสียดสีเหน็บแนม “ศีรษะล้านอย่ามาหาหมาไม่เลีย” อับอายขายหน้าจนคิดจะฆ่าตัวตาย คิดมาคิดไปก็ยังเสียดายชาติที่ได้เกิดมาเป็นคนกับเขาครั้งหนึ่ง อย่ากระนั้นเลย สองล้านเราเข้าป่าไปหาที่ตายเอาข้างหน้าจะดีกว่าทนอยู่ในเมืองให้สาวๆ เขาดูแคลน ทั้งสองจึงพากันเข้าดงไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระฤๅษี
พระทรงญาณฟังสารยิ้มหัวร่อ จึงว่าอ้ออนิจจาน่าสงสาร
น่าสมเพชเวทนาทุราราน อย่ารำคาญอยู่กับรูปอย่าปรารมภ์
ประสกหลานจงสำราญจงผาสุก อย่าเป็นทุกข์คงให้มีเกศีผม
กลับไปบ้านกลัวแต่หญิงประวิงชม ยินนิยมชอบใจอาลัยปอง
นี่เป็นกลอนสำนวนสมัยกรุงธนบุรี ฤๅษี เทวดา พระอินทร์ และสิ่งเหนือความเป็นจริงทั้งหลายยังอยู่ในความคิดของผู้คน อะไรที่เหลือวิสัยมนุษย์ ย่อมมีได้เป็นได้ทั้งนั้นด้วยอานุภาพเวทมนตร์ สองล้านอยู่กับพระอาจารย์ คอยปรนนิบัติ หาผลหมากรากไม้ น้ำใช้น้ำฉัน ถวายมิได้ขาด จนพระฤๅษีเห็นแจ้งในความจริงใจ
พระฤๅษีมีใจจำเริญพร ว่าดูก่อนหลานแก้วเหมือนแววตา
อันสระศรีมีอยู่ข้างทิศบุรพ์ ได้อรุณแล้วไปมุดเสียหลานหนา
แต่สามผุดอย่าได้มุดถึงสี่ครา เส้นเกศาก็จะมากขึ้นมูลมี
หัวค่ำวันนั้นพระอาจารย์ยังกำชับสั่งอีกว่า ให้มุดลงไปเพียงสามครั้งเท่านั้น สองศิษย์ล้านยินดีหนักหนา ตื่นตรู่แต่ก่อนไก่ พากันไปมุดน้ำในสระตามคำพระอาจารย์ มุดลงไปครั้งแรกหัวส่วนที่ล้านเริ่มมีผมดกดำขึ้นมา มุดน้ำครั้งที่สองผมยาวออกมาถึงหู มุดลงไปครั้งที่สามผมยิ่งยาวออกมากกว่าเก่าจน ‘ยาวดกพอปกไหล่’ คงคาดการณ์ได้ตั้งแต่ต้นแล้วนะครับว่า แทนที่ทั้งสองจะพอใจเพียงเท่านั้น กลับนอกคำครู มุดน้ำแถมลงไปอีกสองครั้งเป็นห้าครั้ง หวังจะให้หล่อมากขึ้นไปอีก
ครั้นพร้อมกันด้นดำน้ำลงไป โผล่ขึ้นได้ล้านลิ่วทั้งคิ้วคาง
แล้วมุดซ้ำร่ำลงคำรบห้า ผุดขึ้นมาขนเลี่ยนเตียนเหมือนถาง
ที่เคยล้านอยู่แต่แรกกลับกลายเป็นโล้นเลี่ยน กรรมแท้ๆ ทั้งสองพากันไปหาพระอาจารย์ อ้อนวอนขอความเมตตาแต่ไร้ผล
ท่านขับไล่ว่ามึงไปเสียจากนี่ พ้นกุฎีกูไปไม่ให้อยู่
มึงเกินครูดูเมินมึงเกินกู ไอ้หัวล้านนอกครูไปเสียไป
กวีโบราณท่านไม่ทิ้งของเก่า รักษารากเหง้าเค้ามูล ภูมิรู้ ภูมิปัญญา ถ่ายทอดสอดแทรกไว้ในเรื่องราววรรณคดี ผมเชื่อว่าสำนวนต่างๆ ที่ใช้กันมาแต่เก่าก่อนคงต้องมีเรื่องราวความเป็นมา อาจจะเป็นเรื่องจริงที่รู้กันในวงกว้างครั้งกระโน้น หรืออาจเป็นนิทานที่แต่งขึ้นมาประกอบอย่าง ‘หัวล้านนอกครู’ นี้เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จะสูญหรือมีอยู่ต่อไปนั้น ขึ้นอยู่กับว่าพวกเราจะใส่ใจศึกษากันหรือไม่
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์