หญิงร้าย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภทสารคดี ในการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊ค อวอร์ด 2563 และเป็นผลงานเล่มแรกในชีวิตของ ‘หลิน’ วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล ซึ่งดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ของเธอ เรื่อง “หญิงชั่วในประวัติศาสตร์ไทย: การสร้างความเป็นหญิงโดยชนชั้นนำสยามช่วงต้นรัตนโกสินทร์-พ.ศ.2477” วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ยังได้รางวัลวิทยานิพนธ์ดีมาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2559
หญิงร้าย นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงซึ่งอยู่นอกกรอบ “ผู้หญิงในอุดมคติ” ของสังคมสมัยนั้น โดยแสดงให้เห็นว่าการกำหนดคุณค่าของผู้หญิงมีที่มาจากบริบทสังคม ค่านิยม มาตรฐานศีลธรรมศาสนา รวมถึงมโนทัศน์ของคนในสังคม แม้กระทั่งผลพวงทางการเมือง ด้วยความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ เราจึงชวนผู้เขียนมาสนทนาแบบผู้หญิง-ผู้หญิง ลงลึกเข้าไปในความเป็น “หญิงร้าย”
ปฐมบทของ หญิงร้าย
หนังสือเล่มนี้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์สมัยเรียนปริญญาโท ส่วนตัวหลินสนใจประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง ทว่าไอเดียแรกตั้งใจจะทำเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของหญิงดี พอนำหัวข้อไปหารืออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ อาจารย์ปรีดี หงษ์สต้น อาจารย์แนะว่าหญิงดีมีงานที่ทำไว้เยอะแล้ว ลองทำอะไรที่ฉีกหรือแหวกแนวไปเลยดีกว่าไหม อย่างเช่น หญิงร้าย หรือหญิงไม่ดี เรานำโจทย์นี้มาขบคิดและตัดสินใจเปลี่ยนมาทำภาพลักษณ์ของหญิงไม่ดีแทน และกลายเป็นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ต่อมาได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือกับสำนักพิมพ์ยิปซี ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในชีวิตมาก ทำให้เราได้เปลี่ยนจากนักอ่าน กลายมาเป็นนักเขียนครั้งแรก
ความสนใจในประวัติศาสตร์ผู้หญิง
หลินเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เราสนุกทุกครั้งที่อ่าน จึงเลือกเรียนประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาที่อ่านเยอะ ในการเรียนประวัติศาสตร์นั้นก็มีหลากหลายประเด็นให้เราได้เลือกศึกษา เช่น การเมือง เศรษฐกิจ แต่หลินสนใจประเด็นผู้หญิงเพราะอ่านแล้วอินกว่าประเด็นอื่น และเราเป็นผู้หญิงด้วย ก็อยากศึกษาหัวข้อใกล้ตัวเราที่สุด
จากงานวิชาการปรับสู่หนังสือที่อ่านได้ทุกเพศวัย
มีการปรับจากภาษาวิชาการให้เป็นภาษาที่อ่านง่ายขึ้น ซึ่งบรรณาธิการเขาช่วยดูแลตรงนี้ แต่จริงๆ แล้ววิทยานิพนธ์ของหลินไม่ได้ใช้ภาษาวิชาการจ๋าขนาดนั้น ไม่ได้ใส่ทฤษฎีหรือศัพท์เฉพาะทางเยอะ เป็นการเขียนในเชิงเล่าเรื่องเสียมากกว่า ดังนั้นพอปรับเป็นหนังสือจึงไม่ได้แก้ไขภาษาหนักขนาดนั้น มีการตัดคำฟุ่มเฟือยออกบ้าง
สิ่งท้าทายในการทำวิทยานิพนธ์ฉบับนี้
ปัญหาส่วนมากของนักเรียนประวัติศาสตร์คือหลักฐานที่ใช้ศึกษามีน้อย หรือขาดหายไป แต่ประเด็นที่หลินทำมีหลักฐานเยอะมาก เราจึงต้องเลือกส่วนที่จะนำมาศึกษา เหมือนตีกรอบข้อมูลว่าใช้หรือไม่ใช้ส่วนไหนบ้าง หลินสนใจช่วงสมัยใหม่ของสยามประมาณรัชกาลที่ 4-6 ขอบเขตของงานวิจัยจึงอยู่ในช่วงนี้ แต่ในการทำงานประวัติศาสตร์เราจำเป็นต้องกล่าวถึงบริบทความเป็นมาก่อนหน้านั้น ด้วยความที่เราชอบอ่านและสนใจประเด็นนี้ จึงสนุกที่ได้ค้นคว้า และรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่หัวข้อของเรามีหลักฐานเยอะค่ะ
เกณฑ์การคัดเลือกข้อมูลที่นำมาใช้
หลินเลือกข้อมูลที่มีการกล่าวถึงซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นในสังคมไทย ในงานเขียน หรือในพระราชพงศาวดารหลายฉบับ ตัวอย่างเช่น ท้าวศรีสุดาจัน ซึ่งเราคุ้นเคยกันดี เพราะประเด็นหลักของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้คือการนำเสนอภาพลักษณ์ของหญิงร้ายเหล่านั้น การที่พวกเธอถูกกล่าวถึงบ่อยๆ คือการผลิตซ้ำ ว่านี่คือตัวอย่างหรือแบบแผนที่ไม่ดีไม่ควรทำ เป็นการสร้างลักษณะของความเป็นหญิงไม่ดี ที่ผู้หญิงดีไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง
นิยามของคำว่า “หญิงร้าย”
หญิงร้ายในหนังสือเล่มนี้เป็นผู้หญิงที่ต่อต้าน และไม่ยอมรับระบบผู้ชายเป็นใหญ่ มีภาพลักษณ์ที่ดื้อรั้น หัวขบถ สำหรับตัวผู้เขียนมองว่าผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงร้ายนั้น จริงๆ ไม่ได้ร้ายนะ แค่สิ่งที่พวกเธอทำถูกตราหน้าว่าไม่ดี ในขณะที่หากเป็นผู้ชายทำจะถือว่าไม่ผิด เช่น การมีสามีเกินสองคนเป็นเรื่องผิด แต่ในสมัยนั้นผู้ชายสามารถมีภรรยาหลายคนได้และเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะคนที่มีฐานะและอำนาจ แต่หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์คือการนำเสนอข้อมูลจากหลักฐานที่รวบรวมมา ส่วนการตัดสินนั้นเป็นหน้าที่ของผู้อ่าน
ข้อแตกต่างระหว่าง “หญิงอันร้าย” “หญิงอันแรง” “หญิงแพศยา” “หญิงชั่ว”
ความหมายไม่ต่างกันมาก คำเหล่านี้ได้จากหลักฐานที่เราเจอมา เป็นคำไว้เรียกผู้หญิงไม่ดีหรือมีความผิด เช่น จากกฎหมายตราสามดวง พบการใช้คำ “หญิงแพศยา” สำหรับผู้หญิงที่มีความผิดในเชิงเล่นชู้ ซึ่งเป็นความผิดมีโทษ และส่วนหนึ่งนำมาจากอักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ เป็นคำตำหนิผู้หญิงที่มีความหมายรุนแรงมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งนี้ความผิดหรือความชั่วสมัยโน้นอาจไม่ใช่ความชั่วร้ายในสมัยปัจจุบันก็ได้
โทษของหญิงร้ายในบทบาทที่ต่างกัน
ในกฎหมายตราสามดวง ความผิดของผู้หญิงซึ่งอยู่ในสถานะภรรยานั้นมีโทษรุนแรงกว่าสถานะแม่และลูกสาว ตัวอย่าง กรณีลูกสาวหากกระทำผิดเรื่องเพศ เช่น หนีตามผู้ชาย หรือไม่เคารพพ่อแม่ ด่าทอพ่อแม่ บทลงโทษคือไม่มีสิทธิ์ในการรับมรดก ส่วนภรรยาที่ทำผิดคบชู้ โทษหลักๆ คือการประจาน ปรับไหม หรือลงโทษทางร่างกาย เช่น การทวน (เฆี่ยนตี) แต่ไม่ถึงกับประหารชีวิต หรือหากหญิงผู้นั้นแต่งงานใหม่หลายครั้ง ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์ในมรดกของสามี ความแตกต่างนี้น่าจะมาจากความคาดหวังที่ไม่เหมือนกัน ผู้หญิงในสถานะลูกสาวก็คาดหวังแบบหนึ่ง สถานะภรรยาก็อีกแบบหนึ่ง ทว่าในกฎหมายตราสามดวงไม่ค่อยกล่าวถึงแม่ที่ทำความผิดสักเท่าไหร่ ค่อนข้างเน้นหนักสถานะภรรยามากกว่า
อย่างไรก็ดี ถามว่าสังคมบังคับใช้กฎหมายขนาดนั้นเลยรึเปล่า เคยเจอบันทึกร่วมสมัยของชาวตะวันตกกล่าวว่า หากภรรยาอยากหย่าขาดจากสามีก็สามารถทำได้ และส่วนมากสามีก็ยอมหย่าให้ ไม่ถึงขนาดคบชู้แล้วต้องโทษประหารหรือทัดดอกชบาแดงแห่ประจาน ทว่าที่กล่าวมานี้คือในกรณีของสามัญชนเท่านั้น ส่วนในกลุ่มชนชั้นสูง เจ้านาย ก็มีค่านิยมหรือมาตรฐานศีลธรรมอีกชุดหนึ่ง
โทษของหญิงร้ายในชนชั้นเจ้านาย
กรณีผู้หญิงที่เป็นชนชั้นสูง ชนชั้นเจ้านาย และนางในราชสำนัก ใช้กฎมนเทียรบาลเป็นกรอบกำหนด โทษจะแตกต่างกันตามสถานะ ถ้าเป็นเจ้าจอม ความผิดฐานคบชู้จะหนักที่สุด ถึงขั้นประหารชีวิต ด้วยความที่เป็นชนชั้นสูง ความคาดหวังจึงสูงตาม หากเป็นข้าหลวงหรือพนักงานฝ่ายในลอบพบปะผู้ชาย โทษจะไม่ถึงขั้นประหารชีวิต ในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงและผู้หญิง หรือการเล่นเพื่อน โทษเน้นไปทางประจาน การสักหน้า แต่ไม่ถึงขั้นเอาชีวิต
ภาพลักษณ์ของหญิงร้ายสะท้อนสภาพสังคมในสมัยนั้น
ในวิทยานิพนธ์แบ่งช่วงเวลาเป็นรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 ผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงร้ายในช่วงนี้จะกระทำผิดศีลธรรมเป็นหลัก ผู้หญิงสมัยนั้นอยู่ใต้การปกครองของผู้ชาย พอถึงยุครัชกาลที่ 4 เป็นต้นไป สยามเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ ภาพลักษณ์ของหญิงร้ายเปลี่ยนไป ไม่ใช่ผู้หญิงที่ทำผิดศีลธรรมทางเพศเป็นหลักแล้ว แต่เป็นลักษณะของผู้หญิงที่ดื้อรั้น ไม่เชื่อฟังผู้ชาย ไม่ได้คบชู้แต่มีปากมีเสียง ต่อต้านไม่ยอมรับอำนาจของผู้ชาย ผู้หญิงซึ่งเป็นแม่ที่ดีแต่เป็นเมียที่ดีไม่ได้ หญิงเล่นเพื่อน หรือกระทั่งเจ้านายสตรีที่มีสามีเป็นชายสามัญชน สาเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเกิดความคิดแบบปัจเจกขึ้น ผู้หญิงในสมัยนี้เกิดความคิดต้องการเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ต้องการเลือกคู่ครองด้วยตัวเอง โดยไม่อยู่ภายใต้อำนาจของพ่อแม่หรืออำนาจของสามี ในกลุ่มของหญิงสามัญชนอาจมีสามีหลายๆ คนก็ได้
สารที่อยากสื่อผ่านหนังสือกับมโนทัศน์ต่อหญิงไทยโบราณที่อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน
หลินมองว่าปัจจุบันมีความเชื่อหรือความเข้าใจผิดๆ กันว่าผู้หญิงสมัยก่อนถูกกดขี่ ถูกทารุณ แต่เท่าที่ศึกษามาผู้หญิงไทยไม่ได้ถูกกดขี่ขนาดนั้น เทียบในระดับสามัญชน ผู้หญิงไทยมีสิทธิ์ทำอะไรได้อิสระมากกว่าผู้หญิงจีนหรือผู้หญิงตะวันตก ซึ่งเป็นลักษณะสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผู้หญิงมีสิทธิ์และบทบาททางเศรษฐกิจ ในบันทึกร่วมสมัยของชาวตะวันตกเขาค่อนข้างชื่นชมผู้หญิงไทยด้วยซ้ำที่สามารถค้าขาย ดูแลจัดการเรื่องภายในบ้าน เก็บเงินเก็บทอง บริหารทรัพย์สิน พร้อมๆ กับดูแลลูกด้วย เพราะผู้ชายต้องไปเกณฑ์แรงงาน ดังนั้นเรื่องในบ้าน เรื่องที่ดินทำกิน จึงตกเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ความคิดที่ว่าผู้หญิงไทยถูกกดขี่นั้นเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ เข้าใจว่าน่าจะมาจากกระแสสิทธิสตรีในโลกตะวันตก ส่งผลให้เรามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าผู้หญิงไทยก็โดนกดขี่เช่นกัน
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้อย่างน้อยเราอยากสร้างความเข้าใจในแง่ที่ว่า อดีตนั้นมีค่านิยมชุดหนึ่ง ปัจจุบันก็มีอีกชุดหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ไม่จำกัดเฉพาะนักสตรีนิยมที่อ่านได้ ผู้ชายก็อ่านได้เหมือนกันเพื่อจะเข้าใจผู้หญิงมากขึ้น อยากให้เปิดมุมมองที่มีต่อผู้หญิง ส่วนจะตัดสินว่าเป็นอย่างไรนั้นเป็นหน้าที่ของผู้อ่านค่ะ
ผลงานลำดับถัดไป
ถ้ามีโอกาสก็อยากเขียนอีก วงการนี้เข้าแล้วออกยาก คงเป็นเชิงสารคดีเหมือนเดิม และเป็นประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงอีก
เซเว่นบุ๊คอวอร์ดรางวัลที่เกินความคาดหวัง
เป็นรางวัลด้านการเขียนรางวัลแรกในชีวิต ไม่ได้คาดหวังมาก่อน รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติมากที่ทางเซเว่นบุ๊คให้โอกาส ขอบพระคุณมากค่ะ แล้วก็ขอบคุณสำนักพิมพ์ยิปซีที่ช่วยผลักดัน เป็นเกียรติในชีวิตมากจริงๆ
สามเล่มในดวงใจของ วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล
- ตำนานรักกระโจมแดง (The Red Tent) เขียนโดย อะนิต้า ไดอาแมนต์ แปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ
จากเชิงอรรถสั้นๆ สู่เรื่องของผู้หญิง (herstory) ที่เล่าผ่านมุมมองของผู้หญิง เต็มสิบไม่หักค่ะ
- ออร์แลนโด: ชีวประวัติ (Orlando: The Bioghapy) เขียนโดย เวอร์จิเนีย วูล์ฟ
แม้จะอ่านยาก แต่ประทับใจความมาก่อนกาลของผู้เขียน
- เขียนหญิง: อำนาจ โยนี และการเขียนของลึงค์ เขียนโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา
หนังสือเล่มแรกๆ ที่จุดประกายความคิดในการทำวิทยานิพนธ์
คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม