ตลาดทุนไม่มีพรมแดนประเทศมานานแล้ว
หากย้อนไปตั้งแต่สมัยตลาดหุ้นไทยถือกำเนิดใหม่ๆ จนถึงช่วงก่อร่างสร้างมหาเศรษฐีอย่างยุคหลังต้มยำกุ้งหรือหลังแฮมเบอร์เกอร์ นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังเน้นการลงทุนหุ้นในประเทศไทยเท่านั้น เหตุผลหลักก็คงเพราะหุ้นไทยราคาถูกมีให้เลือกเยอะ ไม่จำเป็นต้องขวนขวาย ในบ่อมีปลาให้จับอยู่มากมาย
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการเติบโต ตั้งแต่ยุคส่งออกข้าว ยุคส่งออกแรงงานภาคอุตสาหกรรม เราเคยผ่านยุคเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ยุคเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย ก่อนการเติบโตจะเริ่มซบเซาเพราะเข้าสู่กับดักของชนชั้นกลาง
ปัญหาที่ประเทศไทยประสบไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะประเทศอื่นๆ อีกมากก็เป็นกัน เมื่อประเทศเติบโตถึงจุดหนึ่ง รายได้หลักจะมาจากการบริโภคภายในประเทศเอง เศรษฐกิจจึงโตอย่างช้าๆ ซึ่งอ้างอิงตามอัตราเงินเฟ้อ เลยไม่หวือหวาเท่าช่วงแรกที่เปิดประเทศ
หนทางที่จะเติบโตได้อย่างมหาศาลคือการส่งออกนวัตกรรม ส่งออกสินค้าที่มีเอกลักษณ์และเลียนแบบได้ยาก อย่างสหรัฐอเมริกามี Facebook จีนมี Tencent ญี่ปุ่นมี Uniqlo ฝรั่งเศสมี Louis Vuitton เยอรมันมี BMW เกาหลีใต้มี Samsung แต่คำถามคือประเทศไทยจะมีอะไร
การกำเนิดของบริษัทนวัตกรรมระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย สินค้าที่ส่งออกต้องขายได้ สร้างกำไร และไม่ใช่โภคภัณฑ์ ความจริงประเทศไทยมีบริษัทส่งออกสินค้าระดับโลกอยู่บ้าง เช่น บริษัทในเครือ PTT ที่ส่งออกสินค้าเกี่ยวกับปิโตรเลียม แต่สินค้าเหล่านี้ไม่เน้นแบรนด์ ลูกค้าจะซื้อจากที่ไหนก็ได้ แข่งขันกันที่ราคาเป็นหลัก
ในมุมมองของนักลงทุน ถ้าจะลุ้นให้ประเทศไทยมีหุ้นที่จะเติบโตได้ในระดับโลกก็คงต้องหวังสูงอยู่เอาเรื่อง นักลงทุนส่วนใหญ่จึงหันไปลงทุนในหุ้นขนาดเล็กถึงกลางแทน เน้นแค่โตจนเต็มที่ในประเทศแล้วก็ขาย แต่การลงทุนแบบนี้มีข้อเสียคือมักต้องเปลี่ยนหุ้นบ่อย ถือได้ไม่นานนัก
แต่ถ้าเราหวนพิจารณาในแง่ของความเป็นจริง โลกเราไร้พรมแดนมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร บริษัทต่างประเทศบางแห่งเราหาข้อมูล และบทวิเคราะห์ได้ง่ายกว่าหุ้นไทยบางตัวเสียอีก แต่ทำไมเราถึงไม่ไปลงทุนหุ้นต่างประเทศกันล่ะ
ความจริงการไปลงทุนหุ้นต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายแบเบอร์เสียทีเดียว เพราะส่วนใหญ่เรามักเข้าถึงข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ได้ยากกว่านักลงทุนในพื้นที่ประเทศนั้นโดยตรง ระบบการซื้อขายก็ยากกว่าหุ้นไทย ค่าธรรมเนียมก็มักแพงกว่าด้วย
แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้ว การลงทุนหุ้นต่างประเทศดูน่าสนใจอยู่มาก เพราะการลงทุนในผู้ชนะอาจหมายถึงการไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหุ้นบ่อยๆ จึงถือได้ยาว 5 ปี 10 ปี หุ้นต่างประเทศจำนวนมากนั้น ผมก็ถือมา 5 ปีแล้ว ยังสร้างผลตอบแทนได้ดี เติบโตต่อเนื่อง จนผมไม่คิดจะเปลี่ยนแผนการลงทุนเลยด้วยซ้ำ
สุดท้ายแล้วผมคิดว่านักลงทุนควรทำตัวแบบนักตกปลา ไปอยู่ในที่ซึ่งปลาชุกชุม แม้ว่าอาจยากสักหน่อย ไกลสักหน่อย เหนื่อยสักหน่อย แต่ก็น่าจะพอลุ้นปลาตัวใหญ่ได้ ทุกวันนี้ตลาดหุ้นไทยยังมีคนรอตกปลาเยอะเหมือนเดิม ต่างกันตรงที่มีปลาให้ตกน้อยลงทุกที
แน่นอนว่าหลักการคิดแบบนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการลงทุนในหุ้นเท่านั้น แต่ตลาดทุนด้านอื่นก็เปิดกว้างในต่างประเทศเหมือนกัน เช่น ตราสารหนี้ต่างประเทศ เงินฝากในบัญชีต่างประเทศ กองทุนรวมต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ การลงทุนทุกอย่างเลยง่ายขึ้นมาก
นักลงทุนจึงควรมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เสมอ ทุกวันนี้เวลาผมลงทุน ผมจะมองโลกทั้งใบเป็นตลาดเดียว ไม่ได้สนใจว่าต้องเป็นหุ้นไหนจากตลาดใด สินทรัพย์ไหนจากประเทศใด แต่พยายามเฟ้นหาการลงทุนที่คุ้มค่า มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดแทน
ผมพูดอยู่เสมอว่า การลงทุนในสินทรัพย์ระดับโลกแทบกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่นักลงทุนทุกคนต้องเรียนรู้และลงมือทำแล้ว สมัยก่อนแต่ละประเทศมีกำแพงป้องกันข้าศึกอยู่มาก บริษัทหนึ่งมักเก่งมากในประเทศหนึ่ง คู่แข่งจะเข้ามาแข่งขันก็ยากมาก
แต่ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้แทบไม่เหลืออยู่เลย อย่างบางอุตสาหกรรม เช่นช่องโทรทัศน์ ทุกวันนี้กลับต้องแข่งขันอยู่ในตลาดเดียวกันกับช่องสตรีมมิ่ง รวมถึงช่องวิดีโอต่างๆ ซึ่งผู้ใช้บริการอัปโหลดขึ้นเอง พรมแดนของธุรกิจและนักลงทุนเลยน้อยลง
นั่นหมายความว่า ต่อไปการแข่งขันของธุรกิจเองก็จะกลายเป็นระดับโลก บริษัทที่อ่อนแอย่อมเสียเปรียบในการแข่งขันของเวทีใหญ่ นักลงทุนที่เอาแต่ยึดติดการลงทุนท่าง่าย ด้วยการลงทุนในประเทศ ก็จะจมปลักอยู่กับบริษัทที่อาจไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริง
การเริ่มลงทุนในต่างประเทศอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ช่วงต้นอาจลำบากอยู่สักหน่อย ทั้งเรื่องภาษา การหาข้อมูล ความคุ้นเคย ระบบการซื้อขาย แต่ยิ่งลงทุน เราจะยิ่งคุ้นเคยและปรับตัวได้มากขึ้นในที่สุด เราอาจไม่จำเป็นต้องไปลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด แต่แบ่งหรือกระจายไปบ้างก็เป็นเรื่องดี
โลกแห่งทุนกว้างกว่าเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเรียกได้ว่าหลอมรวมโลกเป็นใบเดียวแล้ว นักลงทุนที่เห็นโอกาสก็จะสร้างผลตอบแทนได้อย่างมากมาย ไม่ว่าเงินมาจากหุ้นตัวไหนก็เป็นเงินเหมือนกัน ดังนั้น อย่าลืมมองหาโอกาสการลงทุนที่ดีที่สุด ท่ามกลางโลกที่กว้างใหญ่ไม่หยุดนิ่ง
คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน
เรื่อง: ลงทุนศาสตร์