แสงเหนือเมืองไทย หรือแสงไฟเรือประมง

-

มีรายงานข่าวเกรียวกราวถึงการพบปรากฏการณ์ ‘แสงเหนือเมืองไทย’ บนเขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ สามารถบันทึกภาพแสงประหลาดสีเขียวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนได้ พร้อมกับระบุว่าเห็นแสงนี้ในช่วง 3ทุ่ม ถึง 5ทุ่ม และพึ่งเคยเห็นแสงแบบนี้เป็นครั้งแรก เขายืนยันว่าไม่ใช่การตัดต่อแต่งรูป เป็นภาพที่นำออกจากกล้องแล้วมาโพสต์ลงเลย ในขณะที่ถ่ายภาพไม่ได้หันไปทางบ้านเรือนหรือฝั่งทะเล (ฝั่งอ่าวไทย) แต่หันไปทางภูเขาฝั่งประเทศเมียนมา ส่วนเขาพะเนินทุ่งนั้นอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางกว่า 1,200 เมตร

บางคนสงสัยว่า แสงนี้อาจเกิดตอนที่วัตถุนอกโลก ดาวตก (meteor) หรือ ลูกไฟ (fireball) พุ่งผ่านชั้นบรรยากาศของโลกลงสู่พื้นโลก แล้วเกิดการเผาไหม้ จนเห็นเป็นลูกไฟสีต่างๆ ได้ และเห็นท้องฟ้าเป็นสีเขียว ดังเช่นเคยมีรายงานตอนที่เกิดลูกไฟขึ้น แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น แสงที่เห็นจะเกิดเพียงแค่แว้บเดียว ในท้องฟ้าด้านที่ตกลงมา พร้อมกับแสงสว่างเป็นทางยาวของลูกไฟที่พุ่งลงมาด้วย ไม่ใช่ว่าจะเกิดเป็นเวลานานจนสามารถถ่ายรูปได้หลายชั่วโมง

แม้จะยังไม่มีการยืนยันว่าแสงประหลาดสีเขียวปริศนานี้เกิดจากสาเหตุใด แต่ก็บอกได้เลยว่าแสงดังกล่าวไม่ใช่ ‘แสงเหนือ’ ซึ่งต้องเดินทางไปดูถึงประเทศที่อยู่บริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้จึงจะเห็น เมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายแสงเหนือจากต่างประเทศ ก็จะเห็นความแตกต่างกันได้ชัดเจน

แสงเหนือ หรือแสงเหนือแสงใต้ หรือแสงออโรรา (aurora)  เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งเกิดจากอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าของลมสุริยะ (solar wind) จากดวงอาทิตย์ เคลื่อนที่เข้ามาปะทะก๊าซในชั้นบรรยากาศของโลกเรา แล้วเกิดการแตกตัวของโมเลกุล เปล่งแสงเรืองรองสีต่างๆ ที่ระดับความสูงเหนือพื้นโลกประมาณ 90-150 กิโลเมตร 

โดยปกติแล้ว สนามแม่เหล็กของโลก ซึ่งมีเส้นแรงแม่เหล็กอยู่ในแนวทิศเหนือทิศใต้ จะเบี่ยงเบนทิศทางของอนุภาคจากลมสุริยะเหล่านี้ จึงไม่เกิดการปะทะโดยตรง เว้นแต่บริเวณพื้นที่ใกล้ขั้วโลก (ขั้วแม่เหล็กโลก) ในช่วงแถบละติจูดสูง ซึ่งอนุภาคยังสามารถทะลุเข้าสู่ชั้นบรรยากาศด้านบนของโลกได้ เลยเกิดแสงออโรราขึ้น 

และแม้ว่าเคยมีรายงานเกี่ยวกับกรณีที่ลมสุริยะมีกำลังแรงมาก (บางครั้งเรียกว่า พายุสุริยะ) จนมีอนุภาคจำนวนมากผิดปรกติ และอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์แสงออโรราได้ในบริเวณที่ละติจูดต่ำกว่าปกติ เช่น เคยพบแสงออโรราที่ละติจูด 35 องศาเหนือ หรือบริเวณประเทศปากีสถาน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ แต่ประเทศไทยก็ยังมีตำแหน่งละติจูดที่ห่างจากขั้วแม่เหล็กโลกมากเกินไปอยู่ดี จึงไม่เคยปรากฏว่าสามารถพบแสงเหนือในประเทศไทยได้

อันที่จริงเคยมีผู้พบเห็นแสงประหลาดสีเขียวบนท้องฟ้าตอนกลางคืนมาก่อนแล้ว และหลายครั้งก็มีคำตอบชัดเจนด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 มีการเผยแพร่ภาพลงในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นท้องฟ้าที่ปกคลุมด้วยแสงประหลาดสีเขียวทางทิศตะวันตกของตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง จนเป็นไวรัลที่ถูกแชร์ว่อนโซเชียล แต่ต่อมา ผู้ที่โพสต์ภาพดังกล่าวได้เปิดเผยความจริงว่า เป็นแสงไฟจากจังหวัดเกาะสอง  ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของประเทศเมียนมาที่ มีประชากรหนาแน่น และกำลังมีงานลอยกระทงอยู่ จึงปรากฏแสงสีเขียวบนท้องฟ้า  

นอกจากแสงไฟจากการจัดงานเทศกาลต่างๆ แล้ว อีกกิจกรรมหนึ่งของมนุษย์เราที่ทำให้เกิดแสงประหลาดสีเขียวขึ้นบนท้องฟ้าได้ ก็คือแสงจากเรือประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือไดหมึก ซึ่งนิยมใช้แสงไฟสีเขียวในการล่อจับปลาหมึก และส่องแสงสว่างตามท้องน้ำ เห็นได้เป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัดที่มีการทำประมง จนแม้แต่นักบินอวกาศในสถานีอวกาศนานาชาติยังสามารถถ่ายภาพแสงสีเขียวบริเวณทะเลฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน เป็นที่น่าสังเกตว่า แสงจากหลอดไฟสีเขียวในเรือที่ล่อให้ปลาหมึกเข้ามาข้างเรือและจับได้โดยง่ายนั้น เป็นสีเขียวเฉดเดียวกับสีของแสงเขียวบนท้องฟ้า และหากคืนไหนมีเมฆมาก คืนนั้นก็จะยิ่งเห็นแสงสีเขียวนี้สะท้อนตามก้อนเมฆกระจายกว้างขึ้นด้วย 

การที่เรือไดหมึก (คำว่า ‘ได’ น่าจะมาจาก ‘ไดนาโม’ หรือเครื่องปั่นไฟฟ้า) นิยมใช้แสงไฟในการล่อปลาหมึกนั้น น่าจะเป็นผลทางอ้อมอันเกิดจากแสงไฟไปล่อให้พวกแพลงก์ตอน ตัวอ่อนของสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของหมึก เข้ามาที่เรือ แล้วปลาหมึกค่อยตามมากินพวกนี้อีกที อันที่จริงแสงไฟสีขาวและสีน้ำเงินสามารถล่อหมึกได้ดีกว่าแสงสีเขียว (แต่ถ้าเป็นแสงสีแดง จะแย่สุด เพราะแสงสีแดงถูกน้ำทะเลดูดกลืนได้ดี จึงส่องผ่านน้ำทะเลลงไปไม่ได้มากนัก เมื่อเทียบกับแสงสีอื่น) เราจึงพบว่าในต่างประเทศนิยมใช้แสงไฟสีขาวมากกว่าแสงเขียว

ย้อนมายังแสงสีเขียวที่แก่งกระจาน สาเหตุที่พอเป็นไปได้มาก ก็น่าจะเป็นแสงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์บนพื้นโลก แล้วสะท้อนขึ้นไปยังก้อนเมฆ จนเห็นท้องฟ้าเป็นเช่นนั้น เพียงแต่ต้นกำเนิดของแสงดังกล่าวจะมาจากสิ่งใดนั้น ยังไม่มีใครกล้าฟันธง 100% ว่าเป็นเรือประมง หรือเป็นการจัดงานเทศกาล หรืออื่นๆ 

แต่ถ้าเป็นแสงที่เกิดจากเรือไดหมึกสะท้อนกับก้อนเมฆ ก็ไม่น่าจะเป็นเรือประมงในฝั่งอ่าวไทย แต่น่าจะเป็นเรือประมงของฝั่งทะเลอันดามันมากกว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ผู้ถ่ายรูปดังกล่าว ได้หันกล้องไปทางภูเขาฝั่งประเทศเมียนมา จึงเป็นไปได้ที่จะใช้แสงไฟสีเขียวในเรือประมงเช่นกัน หรือถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ก็กลับไปยังสมมติฐานของผลจากแสงไฟในงานเทศกาลในประเทศเมียนมา ซึ่งแม้จะอยู่ห่างไกลออกไปกว่า 100 กิโลเมตร แต่การที่ยอดเขาพะเนินทุ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1.2 กิโลเมตร เราจึงเห็นก้อนเมฆสะท้อนแสงดังกล่าวได้ไกลยิ่งขึ้น ถ่ายรูปได้เด่นชัดขึ้น

แม้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของปรากฏการณ์ประหลาดนี้บนเขาพะเนินทุ่งในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มรดกโลกธรรมชาติแห่งล่าสุดของประเทศไทย  ว่าเกิดจากสิ่งใดกันแน่ แต่เชื่อว่าน่าจะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวอยากตามรอย และหลั่งไหลขึ้นไปลุ้นกัน ว่าจะมีโอกาสได้ชม ‘แสงเขียว เมืองไทย’ หรือไม่อย่างแน่นอน 

 

ภาพประกอบ 1 แสงสีเขียวประหลาดบนท้องฟ้าที่เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

ภาพประกอบ 2 แสงเหนือ หรือแสงออโรรา สว่างในเวลากลางคืนเหนือทะเลสาบแบร์ รัฐอะแลสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา

ภาพประกอบ 3 ภาพจากสถานีอวกาศ ISS ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 2017 เห็นแสงสว่างของเมืองในประเทศไทย และแสงสีเขียวของเรือหาปลาในทะเลอันดามันและอ่าวไทย


คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์

เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

ภาพ: อินเทอร์เน็ต

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!