ในช่วงที่โรคโควิด-19 จากเชื้อไวรัสโคโรน่าชนิด ซาร์สโควีทู (SARS-CoV-2) กลับมาแพร่ระบาดใหม่เป็นระลอกที่ 5 นี้ ด้วยไวรัสสายพันธุ์กลายพันธุ์ตัวใหม่ล่าสุดที่ชื่อว่า โอมิครอน (Omicron) ทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากแม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันจนครบโดสกันไปแล้วกว่าร้อยละ 60-70 ของประชากรไทย
โชคดีที่ว่าในการแพร่ระบาดระลอกนี้ คนไทยมีเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆ ในการรับมือเชื้อโรคโควิดได้ดีขึ้นกว่าเมื่อปีสองปีก่อนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีกระจายแพร่หลายให้ฉีดได้ครอบคลุมขึ้น ยาต้านไวรัสที่พัฒนามาเพื่อให้คนที่ติดโควิดแล้วไม่เกิดอาการรุนแรง หรือวิธีการกักตัวที่บ้าน (home isolation) สำหรับคนที่ติดเชื้อแต่ไม่ได้ป่วยหนัก รวมถึงการมีชุดตรวจหาแอนติเจนของเชื้อไวรัส หรือที่นิยมเรียกว่า ชุด เอทีเค ATK (antigen test kit)
ชุด ATK นั้นเป็นชุดตรวจหาโปรตีนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 จากตัวอย่างที่เก็บจากโพรงจมูกหรือจากช่องปากของผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ เดิมทีการตรวจว่าเป็นโควิดหรือไม่ ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ปัจจุบันประชาชนสามารถหาซื้อชุด ATK แบบใช้งานที่บ้าน จากร้านขายยาทั่วไป มาใช้ตรวจตัวเองและสมาชิกในครอบครัวได้โดยจะทราบผลเพียงแค่ในเวลา 15 ถึง 30 นาทีเท่านั้น วิธีการใช้ก็คล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ ที่สามารถตรวจหาโปรตีน (ฮอร์โมนบางชนิด) จากตัวอย่างปัสสาวะของสตรี แต่ชุดตรวจ ATK นั้นตรวจหาโปรตีนที่เรียกว่า นิวคลีโอแคปซิด (nucleocapsid) ซึ่งมีอยู่มากที่สุดในตัวไวรัส และกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงไปน้อย ไม่เหมือนกับโปรตีนอื่นๆ เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike) ที่พบกลายพันธุ์ไปมากในเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จนก่อให้เกิดปัญหากับวัคซีนที่ใช้อยู่
แม้ว่าชุดตรวจ ATK จะมี “ความแม่นยำ” ต่อเชื้อไวรัสโควิดในระดับสูงจนเป็นที่ยอมรับได้ แต่ยังไงเสีย ก็มี “ความไว” ต่ำกว่าวิธีการมาตรฐานที่ใช้กันเป็นหลัก อย่างเช่น พีซีอาร์ (PCR หรือ polymerase chain reaction) บางครั้งผู้ที่ติดเชื้อโควิดแต่ยังมีปริมาณของเชื้อไวรัสต่ำ ก็จะตรวจไม่พบด้วยชุด ATK และทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่า ผลลบปลอม (false negative) ได้ ดังนั้น แม้การใช้ชุด ATK จะมีข้อดีที่ได้ผลลัพธ์อย่างรวดเร็วในไม่กี่นาที แทนที่จะต้องรอเป็นวันๆ แบบวิธีพีซีอาร์ แต่ก็ต้องระมัดระวังในการดูผลด้วย คือถ้าผลเป็นลบ ก็ยังไม่อาจฟันธงได้ว่าจะต้องไม่ติดเชื้อโควิดอย่างแน่นอน เราจะมั่นใจได้ว่าผลจากชุด ATK เป็นบวกจริงๆ ต่อเมื่อผู้ที่ถูกตรวจนั้นเริ่มแสดงอาการป่วยของโควิด และมีเชื้อไวรัสในร่างกายเยอะแล้ว
การเลือกซื้อชุด ATK มาใช้ จึงควรต้องเป็นชุดตรวจที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา (อย.) แล้ว อีกทั้งต้องมีทั้งระดับของความแม่นยำ (specificity) และความไว (sensitivity) สูง มีฉลากระบุยี่ห้อ แหล่งผลิต วันหมดอายุ ฯลฯ ที่ชัดเจน และวางจำหน่ายในร้านขายยา ห้างร้าน หรือช็อปปิ้งออนไลน์ ที่ต้องมั่นใจได้ว่าเป็นชุดตรวจของแท้
สำหรับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน นั้น แม้ว่ามันกลายพันธุ์ไปมาก แต่ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของชุด ATK จนไม่สามารถนำมาใช้ตรวจได้ เนื่องจากชุด ATK นั้นตรวจหาโปรตีนนิวคลีโอแคปซิดของเชื้อไวรัส ซึ่งไม่ค่อยได้กลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงไปมาก ปัญหาจึงมักเป็นเรื่องของความไวในการตรวจที่ลดลง จนพบกรณี “ผลลบปลอม” ในผู้ติดเชื้อไวรัสหลายคนที่ไม่มีอาการป่วย หรือเริ่มแสดงอาการป่วย
นอกจากนี้ การที่เชื้อโอมิครอนมีระยะฟักตัว หรือระยะเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนเริ่มแสดงอาการป่วย ที่สั้นกว่าเดิม (ประมาณ 2-3 วัน) ทำให้เมื่อตรวจด้วยชุด ATK ตอนที่เริ่มมีอาการแล้วนั้น กลับยังมีปริมาณของเชื้อไวรัสไม่มากเพียงพอในการตรวจพบได้ เท่ากับของไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ แถมมีข้อมูลหลักฐานที่ระบุว่า ไวรัสโอมิครอนติดเชื้อและเพิ่มจำนวนตัวได้ดีที่เซลล์เนื้อเยื่อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หลอดลมและขั้วปอด ไม่เหมือนกับสายพันธุ์เดลต้าที่โจมตีทำลายเนื้อเยื่อปอด จึงอาจต้องใช้วิธีสว็อบการเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสจากน้ำลาย หรือจากช่องคอ เพิ่มขึ้นจากการสว็อบเก็บในโพรงจมูก เพื่อที่จะได้ตัวอย่างของเชื้อโอมิครอนมากขึ้นเพียงพอสำหรับชุด ATK
ชุดตรวจ ATK กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเป็นเครื่องมือที่ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะทำให้ผู้คนรู้ตัวกันได้เร็วขึ้นว่าติดเชื้อไวรัสแล้ว และทำการกักตัวเอง ไม่ให้แพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น แต่ขณะเดียวกัน “ข่าวปลอม” หลากหลายเรื่องที่เกี่ยวกับชุดตรวจโควิด ก็ถูกเผยแพร่ไปทั่ว หลายคนเลยกังวลที่จะใช้ ตัวอย่างเช่น กล่าวอ้างว่าชุด ATK ได้ถูกฆ่าเชื้อด้วยเอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) สารเคมีที่ก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวและต่อมน้ำเหลือง
เป็นเรื่องจริงที่ว่า เอทิลีนออกไซด์ในรูปของแก๊ซนั้น นิยมนำมาใช้ฆ่าเชื้อกับอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงไม้สว็อบที่ใช้กับชุด ATK และก็เป็นเรื่องจริงด้วยที่สารเคมีนี้มีความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็ง แต่นั่นก็เฉพาะเมื่อสูดดมสารนี้เข้าไปในปริมาณมากๆ จากการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ก๊าซเอทิลีนออกไซด์ที่ใช้ฆ่าเชื้อจะถูกระเหยออกไป และอาจตกค้างในปริมาณที่น้อยมากๆ ทั้งนี้ต้องน้อยกว่าระดับมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งมั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อผู้ใช้
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่อ้างว่า ชุด ATK สามารถเอาไปตรวจกับน้ำดื่ม น้ำประปา หรือแม้แต่น้ำอัดลมแล้วให้ผลเป็นบวก ซึ่งถ้าไม่หมายความว่า “ในน้ำนั้นมีเชื้อโควิดไวรัสปนเปื้อน” ก็ต้องแสดงว่าชุดตรวจไม่ได้แม่นยำ ไม่ได้น่าเชื่อถือ แต่เรื่องนี้ ทั้งบริษัทผู้ผลิตและนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาโต้ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะชุดตรวจ ATK ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้ตรวจกับน้ำ อาหาร หรือสิ่งอื่นๆ ดังเช่นในคลิป แต่เอาไว้ใช้ร่วมกับการเก็บตัวอย่างด้วยไม้สว็อบจากผู้ป่วยและผสมกับน้ำยาบัฟเฟอร์เฉพาะเท่านั้น การที่เกิดผลบวกปลอมดังกล่าวก็เพียงเพราะว่ามีการเอาไปใช้อย่างไม่ถูกวิธี
จะเห็นว่า ถ้าเราใช้ชุดตรวจ ATK อย่างถูกต้องตามที่กำหนดในคู่มือ ร่วมกับการทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ด้วย ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ให้ลุกลามจนเกินกว่าจะรับมือได้
ชุดตรวจ ATK มักประกอบด้วยไม้สว็อบเก็บตัวอย่าง ขวดน้ำยา และตลับสำหรับอ่านผลตรวจ
ตลับอ่านผล มีขีด C ที่แสดงว่าชุดตรวจทำงานได้ปรกติ และขีด T ที่บอกว่ามีผลเป็นบวก ติดเชื้อไวรัส
การสว็อบเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสโควิด-19 จากโพรงจมูก
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ / เรื่อง: เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์