การตรวจโควิดด้วย ATK และด้วย RT-PCR

-

วันนี้ขอพูดถึงการตรวจว่าเป็นโควิดหรือไม่ด้วยวิธี rapid test กับวิธี RT-PCR หน่อยนะ เพราะมีผู้นิยมไปซื้อเซ็ตตรวจเอง (ATK) มาใช้ บางคนได้รับแจกจากหลวงมาฟรีๆก็อยากจะลองใช้ตรวจดู แต่ตรวจแล้วได้ผลมาไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ

คุยกันเรื่องการตรวจแบบ RT-PCR ก่อนนะ

RT-PCR ย่อมาจาก reverse transcription and polymerase chain reaction แปลว่าการตรวจหาไวรัสโดยนำตัวไวรัสที่ได้จากการใช้สำลีแหย่เข้าไปกวาด (swab) ในโพรงจมูกมา แล้วฆ่าไวรัสให้ตายเสียก่อน จากนั้นแยกเอารหัสพันธุกรรม (RNA) ของมันออกมา และก๊อปปี้ย้อนเอาแม่แบบที่ปั๊มรหัสพันธุกรรมนี้ (DNA) ขึ้นมา เปรียบเหมือนเมื่อได้ดอกกุญแจมาหนึ่งดอก แล้วก็เอาดอกกุญแจนี้ไปสร้างเครื่องปั๊มลูกกุญแจ (แบบที่เขาใช้รับจ้างปั๊มลูกกุญแจในร้านมิสเตอร์มินิท) ขึ้นมาเครื่องหนึ่ง สร้างเครื่องปั๊มลูกกุญแจนะ ไม่ใช่สร้างแม่กุญแจ แล้วเอาเครื่องนี้ไปปั๊มดอกกุญแจแบบนั้นออกมาอีกเป็นล้านๆ ดอกให้มีมากมายจนพอที่จะตรวจวัดปริมาณได้

การตรวจ RT-PCR เลยมีความไวมาก (sensitivity 96.7%) มีความจำเพาะสูงสุด (specificity 100%) จึงเป็นการตรวจที่ใช้ยืนยันได้ว่าคนที่มีอาการแล้วนั้นติดเชื้อโควิดจริงหรือเปล่า คือถ้าผลการตรวจเป็นบวกแสดงว่าติดเชื้อจริง 100%  แต่ถ้าผลการตรวจเป็นลบ ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อเหลืออยู่ราว 3.3% ดังนั้นหากอาการน่าสงสัยมากๆแต่ตรวจ RT-PCR ได้ผลลบ ก็ต้องตรวจซ้ำเพื่อยืนยันอีกครั้ง หรืออีกหลายครั้ง

 

 

คราวนี้มารู้จักการตรวจ rapid test หรือ antigen test kit (ATK)

rapid test หรือ antigen test เป็นการเอาตัวไวรัสเป็นๆ ที่สว็อบได้จากโพรงจมูกมา แล้วตรวจหาโมเลกุลบางตัวซึ่งอยู่บนผิวของไวรัส วิธีนี้ทำได้รวดเร็วมาก แค่ 15 นาทีก็ได้แล้ว แต่เป็นการตรวจที่มีความไวต่ำ (sensitivity 60.5% ถ้าเป็นคนไม่มีอาการ หรือ 72.1% ถ้าเป็นคนที่มีอาการป่วยแล้ว) ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็มีความจำเพาะดีมาก (specificity 99.5%) ซึ่งใกล้เคียงกับ RT-PCR เลยทีเดียว

แปลว่าหากตรวจได้ผลบวกก็มั่นใจได้ 99% เลยว่าน่าจะเป็นโรคแหงๆ ไม่ต้องไปพยายามยืนยัน นั่งยัน หรือนอนยันอะไรอีกแล้ว ถ้าการหาที่ตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันนั้นลำบากหรือหาไม่ได้ก็ไม่ต้องหา ให้แยกตัวเอง สงบสติอารมณ์ อยู่กับบ้าน ตรงนี้คือประโยชน์ของ rapid test คือถ้าได้ผลบวกก็ตัดตอนจบตรงนี้ เปลี่ยนแผนการจัดการโรคได้เลย

แต่ขณะเดียวกันมันมีความไวเพียง 60.5% – 72.1% ซึ่งต่ำกว่า RT-PCR มาก หมายความว่าหากผลการตรวจเป็นลบหรือไม่เป็นโรค โอกาสที่จะเป็นโรคจริงๆ ยังมีอยู่ถึง 27.9 – 39.5% พูดง่ายๆ ว่าถ้าผลตรวจ rapid test ออกมาลบ ก็เท่ากับไม่มีประโยชน์เลย หากมีเหตุการณ์แวดล้อมหรืออาการบ่งชี้หนักแน่นว่าน่าจะเป็นโรคแหงๆ ก็ควรขวานขวายไปตรวจ RT-PCR เพื่อดูว่าเป็นโรคจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นก็จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที อย่าสำคัญผิดว่าผลลบนั้นเชื่อถือได้แล้ว อย่าย่ามใจจนเลิกกักกันตัวเองแล้วใช้ชีวิตอย่างไม่ระวัง เช่น กลับไปทำงาน หรือไปคลุกคลีกับผู้คน กลายเป็นว่าการตรวจ rapid test เป็นเหตุให้แพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้มากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่ต้นเหตุที่แท้จริงคือใช้ประโยชน์จากผลการตรวจไม่เป็น

สรุปว่าผลตรวจ rapid test หรือ ATK หากเป็นบวกก็มีประโยชน์ แปลว่าเป็นโรคแน่ ลัดขั้นตอนลงมือกักกันตัวเองได้เลย แต่หากผลตรวจเป็นลบ แปลว่าไม่มีประโยชน์เลย อย่ามัวแต่หลงปลื้มว่าไม่เป็นโรคแล้ว เพราะอาจเอาเชื้อไปติดคนอื่นได้ง่ายๆ โดยไม่รู้ตัว


คอลัมน์: สุขภาพ

เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!