มหันตภัย 2020 ดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลก
“ระวัง ดาวเคราะห์น้อย 2020ND เฉียดใกล้โลก ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติฉับพลัน” ดร. ชื่อดังออกมาเตือน หลังจากที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แจ้งว่า ดาวเคราะห์น้อยชื่อรหัสว่า 2020ND ที่มีความสูง 170 เมตร หรือใหญ่กว่าชิงช้าสวรรค์ London Eye ที่ประเทศอังกฤษ ถึง 1.5 เท่าตัว จะเคลื่อนมาใกล้โลก ด้วยความเร็ว 48,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และนาซ่าจัดให้มันอยู่ในกลุ่มที่อาจเป็นอันตรายแก่โลกได้
ท่าน ดร. ชื่อดังยังเตือนด้วยว่า เมื่อดาวเคราะห์น้อย 2020ND เฉียดใกล้โลก จะส่งผลกระทบให้สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น กลางคืนมืดช้าลง หรือกลางวันสว่างเร็วขึ้นผิดปกติ สีของท้องฟ้าจะแปลกไป จะเกิดทั้งฝนตกหนักและภัยแล้งผิดปกติอย่างสุดโต่งในช่วงนี้ แถมอาจมีแผ่นดินไหวด้วย?!
ก่อนที่เราจะพิจารณาว่าคำเตือนดังกล่าวนั้นเป็นไปได้แค่ไหน โลกจะได้รับผลกระทบจากการที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้ามาเฉียดใกล้มากน้อยแค่ไหน เรามาทำความรู้จักกับ “ดาวเคราะห์น้อย (asteroid)” กันเสียหน่อย
![](https://www.allmagazineonline.com/wp-content/uploads/2020/09/1-5.png)
คำว่า “ดาวเคราะห์น้อย” มักใช้เรียกเทหวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ในระบบสุริยจักรวาลชั้นใน (นับจากดาวพฤหัสบดีเข้ามา) โดยไม่มีลักษณะจำเพาะของการมีพื้นผิวที่มีไอระเหยพุ่งออกมาเหมือนกับดาวหาง ดาวเคราะห์น้อยมีอยู่เป็นล้านๆ ดวง ส่วนมากโคจรเป็นแถบอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี อาจจำแนกชนิดของดาวเคราะห์ได้เป็น 3 แบบ ขึ้นกับองค์ประกอบของมัน ได้แก่ แบบ C (มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก) แบบ M (มีโลหะเป็นหลัก) และแบบ S (มีหินซิลิเกตเป็นหลัก)
ขนาดของดาวเคราะห์น้อยก็มีหลากหลาย ตัวอย่างเช่น ดาวเคราะห์น้อยดวงที่ใหญ่ที่สุด ชื่อว่า เซเรส (Ceres) ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 1 พันกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับดาวเคราะห์ดวงเล็กๆ ดวงหนึ่งเลยทีเดียว สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 30 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันดาวเคราะห์น้อยสากล โดยยึดจากวันครบรอบเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้ามาชนโลก ณ ที่ราบทังกัสก้า เหนือเขตไซบีเรีย ของประเทศสหภาพรัสเซีย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1908
![](https://www.allmagazineonline.com/wp-content/uploads/2020/09/2-3.png)
นักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดคำว่า “วัตถุที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตราย หรือ potentially hazardous object (PHO)” ให้แก่ดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางขนาดใหญ่ จนอาจทำความเสียหายร้ายแรงได้ถ้ามีการปะทะกับโลก และมีวงโคจรเฉียดเข้ามาใกล้โลกอย่างน้อยที่สุดในระยะ 0.05 หน่วยดาราศาสตร์ (1 หน่วยดาราศาสตร์ เท่ากับ 150 ล้านกิโลเมตร) หรือ 19.5 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2020 มีการตรวจพบดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตรายได้ (potentially hazardous asteroid (PHA)) จำนวน 2,093 ดวง มีเพียง 157 ดวงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างกว่า 1 กิโลเมตร และแค่ 38 ดวงที่น่าจับตามอง
แม้ว่ากว่าร้อยละ 98 ของ PHO ที่ตรวจพบแล้วนั้น จะไม่เป็นภัยคุกคามไปอีกนับ 100 ปี แต่ สตีเฟน ฮอว์กิ้ง นักฟิสิกส์อัจฉริยะผู้ล่วงลับ เคยเขียนไว้ในหนังสือ Brief Answers to the Big Questions ของเขาเมื่อปี 2018 ว่า การพุ่งเข้าชนของดาวเคราะห์น้อยจะเป็นภัยอันใหญ่หลวงที่สุดของเรา ขณะที่มูลนิธิ B612 (B612 Foundation) ซึ่งเป็นมูลนิธิเอกชนของสหรัฐอเมริกาที่เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษาวิจัยอุกกาบาตก็ได้รายงานไว้ในปี 2018 เช่นกันว่า “มั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าเราจะต้องถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนจนเกิดหายนะแน่ๆ เพียงแต่เรายังไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร”
![](https://www.allmagazineonline.com/wp-content/uploads/2020/09/3.jpg)
ถ้ามีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่พุ่งเข้าชนโลกจริงๆ ละก็ มันอาจก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ หากมันตกลงในทะเล หรืออาจเกิดมหาอัคคีภัย หากมันตกลงบนป่าเขา ตามมาด้วยฤดูหนาวเทียม อันเนื่องจากผงฝุ่นจำนวนมหาศาลลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและกันแสงแดดไว้ ลองจินตนาการถึงภาพการปะทะกันครั้งยิ่งใหญ่เมื่อ 66 ล้านปีก่อน จากเทหวัตถุฟากฟ้าที่มีขนาดกว้างประมาณ 10 กิโลเมตร จนเกิดหลุมเครเตอร์ ชิกซูลับ (Chicxulub crater) ในอ่าวเม็กซิโก และตามมาด้วยการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ระหว่างยุคครีเตเชียสกับยุคเพลีโอจีน (Cretaceous–Paleogene)
ด้วยเหตุนี้ สภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Council) ของประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์สำหรับปฏิบัติการรับมือกับวัตถุที่เคลื่อนที่เข้ามาใกล้โลก (near-Earth object: NEO) มีผู้เสนอวิธีการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการที่ NEO พุ่งปะทะ ด้วยการเบี่ยงเบนทิศทางของมัน หรือแม้แต่หาทางทำลายมัน ซึ่งจะต้องใช้เวลาเตรียมการจริงกว่า 5 ปี และก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะดาวเคราะห์น้อยที่ถูกทำลายในระยะทางที่ใกล้โลกนั้น อาจจะกลับมารวมตัวกันใหม่ได้ด้วยแรงดึงดูด
ย้อนกลับมาเรื่องที่มีคำเตือนว่า “ดาวเคราะห์น้อย 2020ND จะทำให้เกิดภัยพิบัติเมื่อเฉียดเข้าใกล้โลก” นั้น อันที่จริงก็ไม่ได้ส่งผลร้ายใดๆ เพราะดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เข้าใกล้โลกมากที่สุดไปแล้วเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ด้วยระยะห่างจากโลกกว่า 5 ล้านกิโลเมตร คิดเป็น 14 เท่าของระยะห่างจากโลกถึงดวงจันทร์ โดยไม่มีรายงานว่า 2020ND ได้แตกตัวเป็นอุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลกจากท้องฟ้า ไม่พบความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เมื่อเข้าใกล้โลกกับปรากฏการณ์ต่างๆ ในชั้นบรรยากาศ เช่น ท้องฟ้ามืดหรือสว่างกว่าปกติ รวมถึงการเกิดฝนและแผ่นดินไหว อย่างที่อ้างถึง จึงเป็นเรื่องที่บิดเบือน หลอกลวง และไม่ใช่เรื่องที่จะไปเชื่อถือจริงจังจนพลอยตื่นตกใจโดยไม่ทันพิจารณาให้ถ่องแท้แต่อย่างใด
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์ / เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์