คำแสดงอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละภาษา มีเอกลักษณ์เพื่อแสดงออกซึ่งความในใจ และมีความแตกต่างกันอย่างยากที่จะหารากศัพท์หรือคำอธิบายที่ใกล้เคียง คำแสดงอารมณ์ภาษาลาวที่ใช้ในสื่อบันเทิง เพลง และถ้อยคำสำนวนต่างๆ มีความละเอียดอ่อน เมื่อศึกษาแล้วจะเข้าใจความรู้สึกของผู้คนและสังคมได้ดีขึ้น
ສູນ สูน หมายความว่า โกรธ แต่เป็นความโกรธชนิดที่เรียกว่า หัวร้อน โกรธเกรี้ยวอย่างฉับพลันทันใด หรือบันดาลโทสะ ความ ສູນ นี้มักเกิดขึ้นทันทีเมื่อเห็นการกระทำที่ไม่ถูกใจ เช่น คนรักไปมีชู้ หรือลูกไม่ทำตามคำสั่ง เปรียบเหมือนไอน้ำที่พลุ่งขึ้นมาทันควันและจางหายไปอย่างรวดเร็ว
ເຄີຍດ เคียด หมายความว่า โกรธ เช่นเดียวกับคำว่า ສູນ แต่เป็นความโกรธชนิดที่ฝังลึกยาวนาน เป็นความโกรธขึ้ง สั่งสมต่อเนื่องจากความไม่พอใจในการกระทำของอีกฝ่าย เช่น การถูกด่ากระทบกระเทียบ หรือการกลั่นแกล้งครั้งแล้วครั้งเล่า เปรียบเหมือนการค่อยๆ ต้มน้ำให้อุ่นจนร้อน
ສະຫວອຍ สะหวอย หมายความว่า วิงเวียนจะสลบ เป็นอารมณ์ความรู้สึกมึนงงหวิวๆ ใกล้จะเป็นลม ควบคุมสติเจียนอยู่เจียนไป เกิดขึ้นเมื่อพบเห็นสิ่งที่เกินคาด หรือเหนือความหมาย น่าตกใจ จวนหมดสติ เช่น แม่เห็นลูกคบคนรักสับรางทีละหลายคนแล้วเป็น ສະຫວອຍ
ຫັວຊາ หัวซา หมายความว่า ห่วงใย เอาใจใส่ คำนึงถึง แต่มักจะใช้คำนี้ในเชิงปฏิเสธว่า ບ່ຫັວຊາ คือไม่คิดถึง ไม่ห่วงใย ไม่สนใจกันเลย เช่นเดียวกับ ‘ไม่นำพา’ ในภาษาไทย
ຫັວຂວນ หัวขวน หมายความว่า น่าหัวเราะ เพราะเห็นเป็นเรื่องตลกขบขัน ไม่มีนัยยะเชิงล้อเลียนหรือเยาะเย้ย และเป็นเรื่องน่าตลกยิ่งกว่าคำว่า ຫັວ ที่หมายถึงหัวเราะทั่วไป เช่น ຫັວຂວນບ່ຄືນ หมายถึง น่าตลกจนหยุดหัวเราะไม่ได้
ຮຳຮອນ ฮำฮอน หมายความว่า โหยหา คร่ำครวญคิดถึง เป็นความรู้สึกลึกๆ ในหัวใจที่เฝ้าคะนึงหาอย่างยาวนาน หยุดคิดถึงไม่ได้ มักใช้ในบทเพลง หรือวรรณกรรม แสดงถึงอารมณ์ที่ลึกซึ้งซับซ้อน เช่น หัวใจข้าเจ้า ຮຳຮອນ หาผู้สาวบ้านใต้บ่หยุดเลย
ຫລູໂຕນ หลูโตน หมายความว่า สงสาร หรือ เอ็นดู ผสมกัน ใช้แสดงความเห็นใจ สงสาร เอ็นดูกับเหตุการณ์ที่เกิดความเศร้า สลด หรือผู้อื่นเกิดความทุกข์ บางครั้งก็อาจออกสำเนียงแตกต่างไปเป็น ลิโตน ລິໂຕນ อิโตน ອິໂຕນ หรือ สิโตน ສິໂຕນ เช่น ลูกแมวน้อยเปียกฝนน่า ຫລູໂຕນ
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง / เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข