ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกๆ ท่าน พระมหาสมปองมาแล้ว มาพร้อมกับธรรมะง่ายๆ สไตล์ธรรมะเดลิเวอรี่เหมือนเคย
โยมหลายท่านถามอาตมาว่า
หลวงพ่อคะ ทำไมเราต้องทำความดีด้วยคะ
แหม โยม แค่ประโยคแรกก็ไม่ชวนให้ตอบคำถามแล้ว เรียกซะแก่เลย หลวงพี่ก็น่าจะพอนะโยม
โยม โลกของเราอยู่ได้เพราะความดี เพราะความเมตตา จึงมีคำพูดที่ว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” ถ้ามีแต่คนทำความชั่ว โยมลองนึกดูสิโลกเราจะเป็นอย่างไร ไปไหนก็มีแต่การปล้นจี้ ฆ่ากันทุกหัวระแหง โยมอยากจะอยู่ในโลกของความดี หรือโลกของความชั่ว
หลายคนอยากได้ดี อยากให้สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต แต่ไม่เคยทำความดีเลย แม้แต่เรื่องดีๆ ก็ไม่เคยคิด แบบนี้ความดีก็เข้ามาในชีวิตของเราไม่ได้
โยมทั้งหลาย
อยากได้ดี ไม่ทำดี นั้นมีมาก ดีแต่อยาก ไม่ยอมทำ น่าขำหนอ
อยากได้ดี ต้องทำดี อย่ารีรอ ดีแต่ขอ รอแต่ดี ไม่ดีเลย
ความดี คือ สิ่งที่ดีงาม ซึ่งแสดงออกมาทางกาย วาจา และใจ
ความดีที่แสดงออกมาทางกาย เช่น จิตอาสา การทำกิจกรรมรักษาทรัพย์สมบัติของส่วนรวม
การช่วยเหลือคนได้รับอุบัติเหตุ น้ำท่วม
ความดีที่แสดงออกมาทางวาจา เช่น การพูดแนะนำให้คนทำความดี ชี้ทางสว่างให้แก่คนอื่น การพูดเพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชาติ การพูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพกับเพื่อนร่วมงาน
ความดีที่แสดงออกมาทางใจ เช่น การแสดงมุทิตาจิต การแสดงความยินดีในความสำเร็จของเพื่อนร่วมงาน
โยมทั้งหลาย ความดีกับบุญก็มีความหมายคล้ายๆ กัน
บุญ คือสภาพธรรมที่ดีงาม บุญคือสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจแล้วทำให้จิตใจใสสะอาด ปราศจากความเศร้าหมองขุ่นมัว ก้าวขึ้นสู่ภูมิที่ดี
โยมหลายท่านถามอาตมาว่า บุญมีรูปร่างอย่างไร บาปมีรูปร่างแบบไหน โยม บุญเป็นตัวกลมๆ บาปเป็นตัวแบนๆ ถ้าโยมไม่เชื่อลองพูดคำว่า “บุญ” กับคำว่า “บาป” ดู พูดคำว่า “บุญ” ปากจะกลม พูดคำว่า “บาป” ปากจะแบนๆ
โยมทุกท่าน บุญแม้มองไม่เห็น แต่เราก็สามารถรู้อาการของบุญ หรือผลของบุญได้ คือเมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจชุ่มชื่นเป็นสุข บุญก็เหมือนไฟฟ้า เรามองไม่เห็นตัวไฟฟ้าว่าเป็นอย่างไร แต่เราสามารถรับรู้อาการของไฟฟ้าได้
โยม คุณลักษณะของความดีมีดังนี้
ความดี คือความอ่อนน้อมทางกาย
ความดี คือความอ่อนหวานทางวาจา
ความดี คือความอ่อนโยนทางใจ
ความดี คือความงดงามทั้งกาย วาจา และจิตใจ
ความดี คือคุณธรรมที่น้อมนำให้เราเป็นคนดี
ยังมีโยมหลายต่อหลายท่านถามอาตมาว่า ระหว่างความดีกับความชั่วอะไรจะทำได้ง่ายกว่ากัน?
อาตมาขอหยิบยกพระพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าของเราที่ตรัสไว้ว่า
ความดี คนดีทำได้ง่าย ความดี คนชั่วทำได้ยาก
ความชั่ว คนดีทำได้ยาก ความชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย
โยมทุกท่าน ความดีนั้นมีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้กระทำ ว่ามีคุณภาพจิตสูงต่ำแค่ไหน เช่น
ทำความดีเพื่อตนเอง ไม่สนใจผู้อื่นว่าจะเป็นอย่างไร คิดเห็นแต่ประโยชน์ตนเป็นหลัก เป็นความดีระดับธรรมดา
ทำความดีเพื่อผู้อื่น โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ตนเองเลยสักนิด สนใจและคำนึงถึงการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา เป็นความดีระดับปานกลาง
ทำความดีเพื่อตนเองและผู้อื่น ประเภทนี้ถือได้ว่า ยกระดับความดีควบคู่กัน คือทำดีเพื่อตนแล้ว ยังทำเพื่อคนอื่น รวมถึงสังคมด้วย เป็นความดีระดับสูง
ทำความดีที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อมีโอกาสก็ทำทันที ไม่ต้องเดี๋ยว ไม่ต้องรอ ถ้าเป็นเรื่องดี คิดแล้วทำทันที เป็นความดีระดับสูงสุด จนหาประมาณมิได้
เมื่อพูดถึงการทำหน้าที่ การทำความดี อาตมาขอเล่าเรื่องนี้ให้โยมฟังแล้วกัน
มีสามีภรรยาวัยเกษียณคู่หนึ่งคุยกัน
ภรรยาพูดว่า นี่ตาแก่ ตั้งแต่เกษียณมา ไม่คิดจะทำอะไรเลยรึไง เอาแต่เที่ยว กินๆ นอนๆ ไปวันๆ ยังงี้หรือ
สามี: โธ่ เธอรู้ไหม ทุกวันนี้พี่ก็ลำบากมากอยู่แล้ว
ภรรยา: ไหนลองเล่ามาสิ มันลำบากยังไง เอาแต่เที่ยว กินๆ นอนๆ
สามี: พี่ก็พยายามหายใจอยู่นะ ถ้าพี่ไม่พยายามหายใจ เธอก็ไม่มีสิทธิ์ใช้เงินบำนาญเดือนละ 40,000 บาทและเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ หรือว่าเธอไม่อยากมีเงินใช้ ไม่อยากรักษาพยาบาลฟรี
ภรรยา: อ๋อ จ้ะๆ ทูนหัวของเมีย พยายามหายใจไว้ให้นานๆ นะจ๊ะ
สรุปคือ คุณภาพความดีนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพจิตใจของแต่ละคน การทำความดีที่ให้ผลมากคือ ทำดีให้ถูกที่ ทำดีให้ถูกคน ทำดีให้ถูกเวลา และทำดีอย่างต่อเนื่อง
เจริญพร
คอลัมน์: ธรรมะอมยิ้ม
เรื่อง: พระมหาสมปอง ตาลปตฺโต
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์