อาคมนกคุ่ม

-

๏ นกคุ่มปากงุ้มงอน พอใจจรในป่าหนาม

ใครเลี้ยงไว้ในคาม คุ้มเพลิงได้ไม่ไหม้เรือน

บทร้อยกรองที่กระผมยกมานำเรื่องเล่าสู่กันฟังมื้อนี้จากสัตวาภิธาน แบบสอนอ่านในโรงเรียนหลวง ผู้แต่งคือพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนหลวง ปราชญ์ปูชนีย์ผู้สร้างสรรค์แบบเรียนหลวงตำราภาษาไทยเมื่อแรกปฏิรูประบบการศึกษาในรัชกาลที่ 5

สัตวาภิธาน แปลว่า ชื่อสัตว์ เป็นการประมวลชื่อสัตว์ต่างๆ มาเป็นแบบสอนอ่านสำหรับเด็ก โดยจำแนกประเภทสัตว์ออกเป็น 4 จำพวก คือ พหุบาท สัตว์มีเท้ามาก เช่น กิ้งกือ ตะขาบ จตุบาท สัตว์สี่เท้า เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ทวิบาท สัตว์สองเท้า เช่น มนุษย์ เป็ด ไก่ และอบาทกา สัตว์ไม่มีเท้า เช่น งู ปลา เป็นต้น

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) นำเอาชื่อสัตว์ต่างๆ มาร้อยกรองเป็นกาพย์ ยานี 11 ฉบัง 16 และสุรางคนางค์ 28 สอดแทรกธรรมชาติ วิถีชีวิต และความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์บางจำพวก อย่างนกคุ่มซึ่งท่านอธิบายว่า “ใครเลี้ยงไว้ในคาม คุมเพลิงได้ไม่ไหม้เรือน” คนแต่ก่อนเชื่อกันว่า นกคุ่มเป็นสัอาคมนกคุ่มตว์ศักดิ์สิทธิ์คุ้มเพลิงได้ บ้านเรือนใดเลี้ยงไว้จะป้องกันไฟไหม้เรือน

คติความเชื่อดังกล่าวเป็นที่มาของคาถานกคุ่มและผ้ายันต์นกคุ่ม กล่าวคือเกจิอาจารย์ผู้มีอาคมขลังขมังเวทย์นำเอาคติความเชื่อเรื่องนกคุ่มกันไฟไปสร้างเป็นเครื่องรางจำพวกตะกรุดและผ้ายันต์ที่เชื่อว่ามีอานุภาพไม่ต่างจากการเลี้ยงนกคุ่มตัวเป็นๆ ไว้ที่บ้าน โดยไม่ต้องเป็นภาระหาข้าวน้ำมาเลี้ยงดูมัน ไม่ผิดศีลข้อ 1 ฐานกักขังทรมานสัตว์

ก่อนอื่นกระผมขอแนะนำให้ชาวเรารู้จักกับธรรมชาติของนกคุ่มตัวเป็นๆ จากประสบการณ์ที่เคยผ่านพบเมื่อเป็นเด็กเลี้ยงควายอยู่หัวไร่ปลายนา นกคุ่ม (บางถิ่นเรียกนกคุ้ม) เป็นนกขนาดเล็กโตประมาณลูกไก่บ้านอายุ 2 สัปดาห์ ขา ปีก หางสั้น อาหารคือดอกหญ้าและธัญพืชเล็กๆ ไม่เป็นพิษเป็นภัยใดๆ บินได้ในระยะใกล้ๆ ทำรังบนพื้นดินตามป่าหญ้าที่มีบริเวณโล่งแจ้ง เมื่อตกใจจะโผขึ้นจากพื้นแล้วร่อนลงสัก 2-3 ครั้งก็หมดแรงลงหมอบนิ่งกับพื้น บางครั้งทำเหมือนสลบแน่นิ่ง ไม่พ้นมือบรรดาเด็กที่ไล่ต้อน น่าสงสาร

ความเชื่อเรื่องนกคุ่มกันไฟนั้นมีที่มาจากนิบาตชาดกเรื่องวัฏฏกชาดก (วัฏฏก แปลว่า นกคุ่ม) เรื่องมีว่า

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตในชนบทแขวงนครราชคฤห์ ขณะนั้นเกิดเพลิงฤดูแล้งไหม้ลุกลามมาโดยรอบ เพลิงโหมมาบริเวณใกล้ที่พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ก็ดับลงเป็นรัศมีโดยรอบ 16 กรีส ภิกษุทั้งหลายต่างสรรเสริญคุณอันน่าอัศจรรย์ยิ่ง พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธดำรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฟไหม้ป่ามาถึงภูมิประเทศนี้แล้วย่อมดับไป เพราะกำลังของเราตถาคตในกาลบัดนี้หามิได้ ย่อมดับไปเพราะกำลังแห่งความสัตย์ของเราในกาลก่อน ฯ” 

เมื่อหมู่สงฆ์สาวกทูลถามพระพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ว่า ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกคุ่ม เมื่อยังเป็นลูกนกอ่อนเยาว์บินและวิ่งไม่ได้ พ่อแม่นกออกไปหาอาหาร ทิ้งให้ลูกนกคุ่มอยู่ในรังเพียงลำพัง

“ในกาลนั้น ไฟไหม้ป่าไหม้ลุกลามเสียงสนั่นมาถึงประเทศที่นั้นแล้ว ฯ ฝูงนกกลัวแต่ความตายร้องอยู่ บินหนีออกจากรังของตนๆ ฯ ฝ่ายว่านกผู้เป็นมารดาแลบิดาของพระโพธิสัตว์กลัวต่อภัยคือความตาย จึงทิ้งพระโพธิสัตว์หนีไปเสีย ฯ พระโพธิสัตว์นอนอยู่ในรังตัวเดียว…”

พระโพธิสัตว์ทรงตั้งสัจจาธิษฐานขอบารมีของพระพุทธเจ้าในอดีตเป็นที่พึ่ง “…ขอเปลวไฟจงกลับไปเสียจากที่นี้ ฯ ด้วยความสัตย์อันนี้เปลวไฟหวนกลับไปแล้วจากที่มีประมาณ 16 กรีส พร้อมด้วยสัตยาธิษฐานของพระโพธิสัตว์นั้น ฯ ครั้นหวนกลับไปแล้ว ไหม้ที่อื่นในป่าอยู่แล้วก็ดับไปในที่นั้น ประดุจคบเพลิงอันบุคคลจุ่มลงในน้ำ ฯ”

มาตราวัดตามคัมภีร์โบราณ 1 กรีส = 125 ศอก 16 กรีส = 2000 ศอก หรือ 5000 วา = 10,000 เมตร

เมื่อจบวัฏฏกชาดกแล้ว ตรัสเป็นคาถาว่า

สห สจฺเจ กเต มยฺหํ มหาปชฺชลิโต สิขี

วชฺเชสิ โสฬสกรีสานิ อุทกํ ปตวา ยถา สิขี ฯ

ความว่า เปลวเพลิงอันรุ่งเรืองเป็นกองใหญ่ เว้นเสียซึ่งที่มีประมาณ 16 กรีส ดังประหนึ่งว่าเปลวไฟอันถึงซึ่งน้ำ พร้อมกันกับเราผู้ตถาคตกระทำสัตยาธิษฐาน ดังนี้

นั่นแล เป็นที่มาของนกคุ่มคุ้มเพลิงและคาถายันต์นกคุ่มกันไฟที่ชาวเราศรัทธานับถือมาจนบัดนี้


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!