ในปี 2519 นายแพทย์โควินทัพพ์ เวนกาตะสวามี (Dr. Govindappa Venkataswamy) หรือ “อาจารย์วี” ได้ก่อตั้ง “อะราวินด์” (Aravind) เพื่อเป็นคลีนิคดูแลสุขภาพตาให้แก่ชาวบ้านในเมืองมธุไร (Madurai) ในรัฐทมิฬนาฑูทางอินเดียใต้
อาจารย์วีผู้เพิ่งเกษียณอายุราชการในวัย 58 ปีกำลังป่วยด้วยโรคข้อต่ออักเสบ เอาบ้านไปจำนองเพื่อให้ได้เงินก้อนมาสร้างคลีนิคแห่งนี้ ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้อินเดียมีระบบดูแลสุขภาพตาซึ่งทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
ดร.วีเคยพูดว่า ในเมื่อโค้กยังขายได้เป็นพันล้านกระป๋อง แมคโดนัลด์ยังขายเบอร์เกอร์ได้เป็นพันล้านชิ้น ทำไมเราจะขาย “การผ่าตัดตา” ให้คนเป็นล้านคนไม่ได้
ทั่วโลกมีคนตาบอดประมาณ 45 ล้านคน และกว่า 1 ใน 4 หรือ 12 ล้านคนอยู่ในอินเดีย อินเดียจึงเป็นประเทศที่มีคนตาบอดมากที่สุดในโลก สาเหตุหลักของอาการตาบอดคือการอยู่ในที่แสงจ้าจนทำให้เป็นต้อกระจก และกว่าร้อยละ 80 ของอาการตาบอดนั้นป้องกันและรักษาได้
การผ่าตัดและรักษาดวงตานั้นมีต้นทุนสูงมาก อะราวินด์เลยต้องหาทางลดต้นทุนการผ่าตัดตาโดยยังคงรักษาคุณภาพไว้ เช่น แทนที่จะนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ อะราวินด์ก็ออกแบบและผลิตอุปกรณ์จักษุราคาถูกไว้ใช้เอง
อะราวินด์ยังปรับปรุงการผ่าตัดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในห้องผ่าตัดนั้นใช้กล้องผ่าตัดที่มีแขนกลต่อกับผนัง ขณะที่หมอผ่าตัดคนไข้คนหนึ่งอยู่ จะมีระบบขนส่งคนไข้รายต่อไปให้ลงนอนในเตียงข้างๆ เมื่อหมอผ่าตัดคนไข้รายแรกเสร็จ แขนกลก็จะขยับเพื่อให้ผ่าตัดคนต่อไปได้ภายใน 1 นาที หมอจึงผ่าตัดคนไข้ได้เป็นจำนวนมาก
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จักษุแพทย์จำนวนไม่น้อยในนิวยอร์คหรือลอนดอนเคยผ่านงานที่อะราวินด์มาแล้ว เพราะที่อาระวินด์พวกเขาต้องทำงานหนักและได้เรียนรู้อย่างรวดเร็ว จักษุแพทย์ทั่วไปผ่าตัดคนไข้ประมาณ 300 รายต่อปี แต่จักษุแพทย์ของอาระวินด์ผ่าตัดคนไข้ถึง 2,000 รายต่อปี
แม้จะทำงานด้วยความเร็วแต่คุณภาพกลับไม่ได้ลดลง โอกาสที่คนไข้จะติดเชื้อจากการผ่าตัดของอะราวินด์นั้นมีเพียง 4 ใน 1000 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการผ่าตัดตาในสหราชอาณาจักรถึงร้อยละ 30
ในปี 2561 มีคนไข้ที่เข้ารักษาตัวกับอะราวินด์ถึง 4 ล้านคน และมีคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดดวงตาถึงเกือบ 5 แสนคน หรือ 10 เท่าความจุของราชมังคลากีฬาสถาน ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดนั้นเฉลี่ยเพียงคนละ 4,000 บาทสำหรับคนไข้ที่มีอันจะกิน และ “ฟรี” สำหรับคนไข้ที่ไม่สามารถจะชำระค่าผ่าตัดได้
และถึงแม้จะคิดราคาถูกแถมยังรักษาฟรีให้แก่คนไข้เกินกว่าครึ่ง อะราวินด์ก็ยังเป็นธุรกิจที่ทำกำไรเสมอมาและนำกำไรที่ได้ไปลงทุนเปิดศูนย์รักษาตาให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น จนบัดนี้อะราวินด์มีโรงพยาบาลตา 12 สาขา คลีนิคตา 70 สาขา และ Free Eye Camps หรือซุ้มตรวจดวงตาให้แก่ชาวบ้านถึง 2,500 ซุ้มทั่วประเทศอินเดีย
อาจารย์วีถึงแก่กรรมเมื่อปี 2549 สิริอายุรวม 87 ปี จากข้าราชการวัยเกษียณที่ป่วยด้วยโรคไขข้ออักเสบ กลายเป็นบุคคลในตำนานผู้มอบดวงตาแก่ผู้ยากไร้หลายล้านคนตามที่เขาได้ตั้งปณิธานเอาไว้
เกี่ยวกับผู้เขียน: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings และ Head of People ที่ Wongnai