‘Apolar’ นักวาดไทยฝีมือระดับอินเตอร์

-

เชื่อว่าแฟนๆ หนังสือหลายคนเมื่อได้เห็นหน้าปกวรรณกรรมเยาวชนอันโด่งดังไปทั่วโลกอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย ในวาระฉลองครบรอบ 20 ปี จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ย่อมฮือฮากับลายเส้นและการออกแบบอันน่าทึ่ง จนอยากรู้จักเจ้าของผลงานเพื่อตามชื่นชมภาพอื่นๆ ต่อ เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่หลงคิดไปว่านักวาดคนนี้ต้องเป็นชาวต่างชาติอย่างแน่นอน แล้วก็ต้องตื่นเต้นเป็นครั้งที่สองเมื่อทราบว่าเขาคือนักวาดชาวไทย! เขาคนนั้นคือ ‘Apolar’ (อะโพล่าร์) หรือ ‘อาชว์’ อรุษ เอ่งฉ้วน ซึ่งก่อนหน้านี้ชื่อของเขาอาจปรากฏในโลกโซเชียลมีเดียให้ได้เห็นกันอยู่บ้าง แต่เมื่อโปรเจ็กต์แฮร์รี่เข้ามา ก็ยิ่งทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักและเป็นที่พูดถึงในวงกว้างกว่าเดิม เราเกิดความสนใจที่จะค้นหาว่าเขามีประวัติความเป็นมาและแนวคิดการทำงานอย่างไร เหตุใดจึงทำให้เขาได้รับเลือกให้ร่วมโปรเจ็กต์ใหญ่สุดท้าทายนี้

ช่วยเล่าประวัติความเป็นมาของคุณให้เราฟังหน่อย

ผมชอบวาดรูปมาตั้งแต่จำความได้เลยครับ ตอนเด็กๆ ไปเที่ยวที่ไหนก็จะต้องพกสีไม้ สีเทียน สีน้ำ กระดานวาดรูปไปด้วยตลอด เพราะคุณพ่อของผมเป็นคนชอบวาดรูป แต่ท่านรับราชการไม่ได้ตามความฝันด้านนี้ จึงส่งต่อความฝันทั้งหมดมาให้ผม เมื่อต้องเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ผมเอ็นทรานซ์เข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาเอกสถาปัตย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคุณแม่ดีใจมากเพราะเขาอยากให้เรียนอะไรที่เป็นวิชาชีพได้ ตอนเรียนอยู่ปี 4 ผมได้เจอรุ่นพี่คนหนึ่งเพิ่งกลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรกที่ผมได้ทำความรู้จักว่าที่นั่นมี art school หลากหลายสาขามาก ซึ่งผมไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็เลยวางแผนว่าจะไปเรียนต่อ เพราะผมต้องการตามความฝันแบบค้นหาเจาะลึกกับมัน ครอบครัวก็ยินดีและให้ความสนับสนุนเต็มที่

ก่อนไปผมก็ดูไว้หลายมหาวิทยาลัย ส่วนมากที่คนได้ยินกันก็คือสาขาแอนิเมชั่น (animation) แต่ผมสนใจด้านงานวาด การดีไซน์ และขั้นตอนเตรียมการผลิต (pre-production) ที่ต้องคิด ออกแบบ หรือสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาจากศูนย์ ซึ่งสาขาที่อธิบายด้านนี้ได้อย่างชัดเจนคือสาขา Visual Development ที่ต้องออกแบบตัวละคร ฉาก ฯลฯ ซึ่งเป็นการเรียนโดยใช้พื้นฐานด้านสถาปัตย์ที่เรียนมา ผมตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัย Academy of Art ที่เมืองซานฟรานซิสโก เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท

พอใกล้จบ มหาวิทยาลัยได้จัดนิทรรศการโชว์ผลงานคล้ายๆ ธีสิสเรียกว่า Spring show ผมก็ส่งงานเข้าไปและมีบริษัทที่เห็นงานแล้วถูกใจ เลยชวนผมไปทำงานด้วย คือบริษัท EA (Electronic Arts บริษัทผู้สร้างและออกแบบเกมรายใหญ่ เช่น เดอะซิมส์ ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก) เกมเดอะซิมส์เป็นงานสายออกแบบ ผมได้ออกแบบงานพวกวัตถุ สิ่งของ ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่เคยเรียนมาตั้งแต่สถาปัตย์ด้วย และได้ออกแบบอย่างอื่นด้วย แต่เมื่อได้รับการคัดเลือกให้ทำโปรเจ็กต์วาดปกแฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย ฉลองครบรอบ 20 ปี ผมจึงลาออกและบินกลับประเทศไทยเพื่อมาทำภารกิจนี้อย่างจริงจัง

 

การเรียนสถาปัตย์กับการเรียนที่ Academy of Art ต่างกันมากหรือเปล่า

จริงๆ ผมต้องขอบคุณการเรียนสถาปัตย์นะครับ เพราะพื้นฐานตอนเรียนที่จุฬาฯ เป็นการฝึกที่โหดมาก สถาปัตย์เป็นคณะหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าเรียนหนัก ต้องอดหลับอดนอนตัดโมเดล อาทิตย์หนึ่งส่งแบบสองครั้ง ทักษะเหล่านั้นช่วยทำให้ผมมีพื้นฐานความอึด ถึก ทน มากพอสมควร พอไปทำงานศิลปะแขนงอื่นต่อ ผมก็มีต้นทุนตรงที่เราชอบอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องใส่แรงให้เหนื่อยเท่าไหร่ ด้านกระบวนการเรียนการสอนคล้ายกันเลยครับ คือเป็นการเรียนที่วัดกันที่ผลงาน คุณไม่ต้องพูดอะไรเยอะ ผลงานมันอธิบายตัวเองอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันคุณก็ต้องอธิบายตัวมันให้ได้เหมือนกัน นี่เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ผมได้จากสถาปัตย์ คือการ presentation หรือการนำเสนอแบบ การที่เราออกแบบอาคารมาซะสวยเลย แต่อธิบายได้ไหมว่าที่มาของการสร้างอาคารนี้มาจากไหน เริ่มยังไง ถ้าอธิบายไม่ได้ก็จบเหมือนกัน เราได้ฝึกกระบวนการสังเคราะห์สเต็ปจาก 0 ถึง 10 คุณทำให้เห็นได้ไหมว่ากระบวนการคิดคุณเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นในแง่สังคมจะต่างกัน คนที่มีแรงผลักดัน (motivation) ในการลุกขึ้นมาปั่นงาน อาจจะไม่ได้เข้มข้นเท่าตอนอยู่จุฬาฯ แต่ในอีกทาง ผมก็ฝึกนิสัยนั้นไปแล้ว ผมจึงรู้สึกว่าถ้าอยู่ในบรรยากาศที่คนรอบข้างไม่แข่งกับเรา เราก็ต้องแข่งกับตัวเองหรือคนนอกคลาส แข่งกับศิลปินที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน เพราะถ้าคิดว่าเราเก่งเมื่อไหร่ เราก็จะหยุดพัฒนาตัวเอง นั่นคือความคิดที่ผมไม่นำมาใช้ เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าเราต้อง “พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ”

 

แนวการวาดที่คุณถนัดเป็นอย่างไร

คนเราสามารถสร้างแรงผลักดันในชีวิตได้หลายวิธี บางคนต้องให้คนอื่นวิจารณ์งานแรงๆ เพื่อให้หดหู่จะได้ปลุกพลังฮึกเหิม แต่สำหรับผม ผมเป็นคนหนึ่งที่สร้างงานจากพลังบวก กำลังใจของพ่อแม่ คนรอบข้าง หรือแฟนคลับที่ชื่นชมเรา ถ้าเราต้องทำงานภายใต้ความกดดัน ซึ่งหลายครั้งก็อาจจะเป็นแบบนั้นแต่นั่นก็จะทำให้ผมรู้สึกว่าเรายังทำได้ไม่ดีพอ เท่ากับตอนที่เรา “อิน” และ “สุข” กับมันด้วย ผมจึงมองว่างานที่เป็นแนว positive เป็นทางที่ผมทำแล้วมีความสุข เพราะผมจะคิดถึงผู้รับด้วยว่าเขาจะมีความสุขยังไงหลังจากได้เห็น ดังนั้นงานสไตล์อบอุ่นและส่งความรักให้แก่ผู้คน จึงทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นแนวงานที่ค่อนข้างถนัดครับ

 

 

อีกหนึ่งเอกลักษณ์ในงานของ “Apolar” คือความละเอียดในงานที่เป็นจุดทำให้คนดูตื่นเต้นทุกครั้ง

ก่อนจะไปเรียนต่อที่ Academy of Art ผมยังไม่รู้ว่าศิลปินเก่งๆ ทำงานกันยังไง เขาสร้างผลงานจากอะไร ประสบการณ์หรือ? บางคนอายุน้อยกว่าผมอีกแต่ทำไมทำงานได้สวยจัง จนกระทั่งได้ไปเรียนจึงรู้ว่ามันมาจากการค้นคว้า (research) หาแหล่งอ้างอิง (reference) เมื่อก่อนตอนวาดรูป ผมเข้าใจว่าก็เห็นแล้ววาดหรือวาดจากจินตนาการ แต่มันไม่ใช่ มันคือการค้นคว้า

ค้นคว้าในที่นี้คือการค้นคว้าในทุกๆ เรื่อง สมมติเราจะออกแบบตัวละคร เราต้องค้นหาว่าตัวละครนี้จะอยู่ในยุคสมัยใด อยากได้โทนสีอะไรในภาพนี้ โทนสีนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ผลงานของศิลปินที่ผมชื่นชอบเขาก็ปูแหล่งอ้างอิงมาจากงานศิลปินดังๆ ในอดีต บางคนไปศึกษางานเขียนงานภาพวาดยุคเรเนสซองส์ (Renaissance) แต่ไม่ได้นำมาใช้ตรงๆ นะ เขานำองค์ประกอบ (composition) หรือเอาแค่แสงและเงามาใช้ บ้างก็ศึกษาโทนสี (palette) นำมาใช้ในภาพวาดซึ่งเป็นภาพวาดสมัยใหม่ เหมือนมันเป็นการกลมกลืน (blend in) ของทุกๆ อย่าง ถ้าเราตั้งโจทย์ไว้ว่าอยากใช้โทนสีแนวนี้ เราต้องค้นหาว่าศิลปินที่ทำโทนสีแนวนี้เก่งๆ ศิลปินในอดีตมีใครบ้าง แล้วนำมาศึกษาตีความ ศึกษาจากเขาแต่ไม่ใช่ก็อปปี้ เราต้องเรียนรู้และนำมาพลิกแพลงเป็นงานใหม่ นี่แหละคือการต่อยอด มันก็เหมือนกับสถาปัตย์ ไม่มีใครออกแบบอาคารโดยที่ไม่ไปศึกษาอาคารเก่ามาก่อน สมมติว่าเราจะออกแบบโรงพยาบาล เราต้องไปดูโรงพยาบาลมาอย่างน้อยเป็น 20 แห่ง เพื่อเราจะดูว่าโรงพยาบาลดีๆ 20 แห่งนั้นเขาตอบโจทย์อะไรบ้าง เราต้องวิเคราะห์ว่ามันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ศิลปินบางคนที่เก่งมากๆ หัวหน้าสตูดิโอดังๆ ทำไมเขาถึงวาดงานโชว์ได้สวยมาก เพราะเขาศึกษาพวกนี้มาจนในหัวเขามี แหล่งข้อมูลเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน ดังนั้นเขาจึงสามารถวาดออกมากี่ทีก็สวย เพราะว่าเขามีอะไรที่หยิบออกมาใช้ได้เยอะมาก เหมือนกับเราเรียกดู (browse) ข้อมูลในหัวเราเอง

 

ลายเส้นที่ยังไม่หยุดพัฒนา

จริงๆ ผมรู้สึกว่ายังไม่มีลายเส้นเป็นของตัวเองแบบตายตัว ผมรู้สึกว่าแบรนด์ของ “Apolar” ในตอนนี้ ยังไม่ได้อยากหยุดตัวเองที่ลายเส้นใดลายเส้นหนึ่ง ผมเป็นคนหนึ่งที่ค่อนข้างขี้เบื่อ เลยรู้สึกว่าถ้าทำลายเส้นนี้จนอยู่ตัวแล้ว ก็ปิดประตูไว้เท่านี้ พักไว้ก่อน แล้วลองไปทำแนวใหม่ดีกว่า เพราะผมยังอยากค้นหาตัวเอง อยากเปิดรับโอกาสใหม่ๆ เพราะผมรู้สึกว่าถ้าเกิดศิลปินคนหนึ่งสามารถทำงานได้หลากหลาย เขาก็จะมีฐานงานที่มากขึ้น เมื่อก่อนผมเคยรู้สึกนะว่าการไม่มีลายเส้นตายตัวเป็นจุดอ่อนของผมหรือเปล่า เพราะศิลปินส่วนใหญ่อยากมีสไตล์เป็นของตัวเองที่คนเห็นแล้วแบบ เฮ้ย คนนี้ทำแน่นอน ชัวร์ อะไรอย่างนี้ แต่เมื่อผมได้ไปเรียนที่ซานฟรานซิสโก ผมก็ได้เจอศิลปินระดับโลกหลายคนที่ผมรู้สึกว่าโคตรเจ๋งเลย ผมเข้าไปดูงานในเว็บไซต์ เขาทำ concept art ตั้งแต่พวกหนังภาพยนตร์ Marvel ไปจนถึงการ์ตูน Disney ไม่ว่าจะวาดคนเสมือนจริงไปยันการ์ตูนก็ทำได้ทุกแนว ไปได้ทุกทางไม่ว่าจะเป็นแบบยุโรป ฝรั่ง อังกฤษ อเมริกาไปได้ทุกโซน งานเขาครอบคลุมมาก แล้วผมรู้สึกว่ามันเจ๋งและชื่นชมคนเหล่านั้น

 

การทำงานกับปกแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับภาษาไทยเป็นอย่างไร

การทำปกแฮร์รี่ พอตเตอร์เป็นอะไรที่ท้าทายมากที่สุดในชีวิต เพราะทาง The Blair Partnership ตัวกลางที่ติดต่อกับ เจ. เค. โรว์ลิง เขาไม่มีข้อจำกัดและเปิดโอกาสให้ศิลปินเต็มที่ สิ่งที่เขาให้มามีแค่สองโจทย์เล็กๆ คือคำแนะนำเรื่องสีว่าสีแต่ละเล่ม อยากให้มีเอกลักษณ์และมีสีสันสดใสลดน้อยลงตามธีมของเนื้อเรื่องแต่ละเล่ม และขอแค่ตัวละครมีวิวัฒนาการ ให้เห็นตัวละครโตขึ้นตามอายุแค่นั้น ซึ่งมันเป็นโจทย์ที่กว้างมากและเราต้องไปตีความต่อ เนื่องจากที่ผ่านมางานของผมใช้ความสุขเป็นหลัก ดังนั้นผมจึงเริ่มจากการกลับไปดูหนังก่อนเลยเพื่อ refresh memory ทั้งหมด วาง concept คร่าวๆ ไล่ไปทีละปก และเสพความสุขจากแฟนคลับแฮร์รี่เยอะๆ ผมเข้าไปดูคลิปรีวิวนู่นนี่นั่น รีวิวหนังสือบ้าง รีวิวปกบ้างว่า wizarding world หรือใครเคยตั้งโพลไว้ว่าปกประเทศไหนดีที่สุดในโลก ผมศึกษาด้วยนะว่าปกไหนทำแล้วคนชอบ ไม่ชอบ เพราะอะไร พยายามเก็บเกี่ยวข้อมูลเหล่านั้น นี่คือการค้นคว้าที่หนักมาก เพราะผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวแทนประเทศไทย ไม่อยากให้คนไทยเห็นแล้วรู้สึกผิดหวัง ผมจึงต้องเต็มที่กับมัน

ขั้นตอนการร่างผมก็คิดไว้ว่าคีย์หลักคือผมจะต้องตีโจทย์ใหม่ ปกติปกที่ทุกประเทศทำมา เขาจะหยิบฉากใดฉากหนึ่งมาวาดเป็นปก ผมก็ลองไปถามความเห็นจากเพื่อนๆ แต่ละคนมีคำตอบไม่เหมือนกันเลยว่าชอบอะไรที่สุด ผมเลยคิดว่าทำไมเราไม่ทำปกที่รวมความสุขต่างๆ ที่คนชอบ ดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ผมอยากให้มันเป็นปกที่คนมองกี่รอบก็เจออะไรใหม่ๆ ตลอด มองกี่รอบก็เก็บดีเทลได้ไม่หมด เราอยากให้เกิดการตอบโต้กับผู้อ่าน ให้คนกลับมาสนุกกับมันอีกครั้งหนึ่ง นั่นก็เลยเป็นคอนเซ็ปต์คร่าวๆ ที่วางไว้ ซึ่งตอนแรกๆ ผมก็วาดแฮร์รี่ออกมาไม่ถูกใจตัวกลางของต่างประเทศซะทีเดียว ส่วนเรื่องสไตล์ก็ค่อยๆ พัฒนาไป ผมเองยังติดภาพแฮร์รี่เวอร์ชั่นแรกของคุณมารี กรองด์เปร (Mary GrandPré นักวาดภาพประกอบชาวอเมริกัน ผู้วาดปกและภาพประกอบบทของหนังสือ Harry Potter ในฉบับสหรัฐอเมริกา) ปกนั้นเป็นปกที่อมตะที่สุดในใจผม เพราะเป็นปกที่ทำให้เราเปิดหนังสือแฮร์รี่อ่านครั้งแรกในชีวิต เขาคือไอดอลผมเลย ผมจึงรู้สึกว่าต้องให้เกียรติเขา สไตล์แฮร์รี่ พอตเตอร์ของผมจะสุดขั้วจากอันนั้นมากไม่ได้ ในขณะเดียวกันเวอร์ชั่นผม มันก็ต้องมีกลิ่นอายมีการตีความใหม่ที่ไม่เหมือนคุณมารีด้วยเหมือนกัน

การทำงานทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 10 กว่าเดือนครับ ปก 7 ปก ใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน ภาพประกอบภายในเล่มมีประมาณ 200 กว่าภาพ ผมใช้เวลาทำภายใน 3 เดือน จริงๆ การบริหารเวลากับงานค่อนข้างบาลานซ์ไม่ได้เลยครับ เพราะตอนที่ทำปก 6-7 เดือนนั้น ผมยังทำงานกับ EA อยู่ ทำให้ไม่ได้ทำงานนี้ทั้งวันทั้งคืนแบบช่วงที่ลาออกมาแล้ว

ผลตอบรับจากปกแฮร์รี่ พอตเตอร์

ตอนแรกทาง The Blair Partnership ก็ยังนิ่งๆ นะ แต่พอเขาเห็นเราเก็บดีเทลปกที่ 1-2-3 เสร็จครั้งแรก เขาดูประทับใจมาก แล้วก็เริ่มมีฟีดแบคว่าขออนุญาตนำปกนี้ไปแชร์ให้กับคนวงใน ทีมสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้งหมดได้ไหม เพราะเขาอยากให้คนเห็น แล้วเขาก็เริ่มทาบทามเรื่องขายลิขสิทธิ์ต่อให้ต่างประเทศ เขาจะขอปกเราไปพิมพ์ตั้งแต่ยังเห็นแค่สามปกแรกเอง ยิ่งไปกว่านั้นคือหัวหน้าทีมของ The Blair Partnership ที่เป็นคนติดต่อกับคุณเจ.เค.โดยตรง เขาส่งอีเมลมาให้ผมและแสดงความยินดีมากับนานมีบุ๊คส์ว่าเขาตื่นเต้นมาก ตอน เจ.เค.รีทวีตปกของประเทศไทย เท่าที่เขาจำความได้ตั้งแต่ทำงานกับทีมนี้มา เจ.เค.ไม่เคยรีทวีตปกฉบับตีพิมพ์ภาษาใดมาก่อนเลย ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรก ผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติมากๆ ผมรู้สึกใจชื้นและยิ่งมีแรงทำงานมากขึ้นไปอีก

ส่วนผลตอบรับจากแฟนคลับ ดูจากฟีดแบคแล้วผมคงทำออกมาได้ค่อนข้างถูกใจพวกเขาพอสมควร อย่างตอนนั้นผมทำปิดปกทั้งเจ็ดเล่มไปแล้ว และกำลังทำภาพประกอบในเล่มอยู่ เป็นช่วงที่นานมีบุ๊คส์เริ่มเผยแพร่ปกในโซเชียลมีเดีย ต้องบอกเลยว่าคำชมจากแฟนๆ เป็นกำลังใจที่ให้ผมสู้ต่อกับการทำภาพประกอบภายในเล่ม ผมมีความสุขและอิ่มเอมใจกับมันมาก ผมรู้เลยว่าแฟนๆ รักหนังสือเล่มนี้มากขนาดไหน ดังนั้นเราต้องทำพาร์ทที่เหลือให้เต็มที่ยิ่งกว่าเดิม อีกอย่างหนึ่งผมคิดว่าอาจเป็นเพราะผม “อิน” กับแฮร์รี่ พอตเตอร์มากด้วย จึงใส่ความสุขของเราที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ลงอย่างไปเต็มที่

 

คุณคิดว่าการทำงานศิลปะมีอุปสรรคอะไรไหม

ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ท้าทายสำหรับศิลปินก็คือแรงผลักดันจะทำอย่างไรให้เรามีแรงในการสร้างงานต่อไปเรื่อยๆ บางคนอาจจะรู้สึกตันหรือรู้สึกกลัว ผมเองก็เป็นเหมือนกัน ช่วงหนึ่งที่ผมขยันปล่อยงานมากๆ แล้วหยุดไป การกลับมาทำอีก มันจะค่อนข้างยาก ผมรู้สึกว่าตรงนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายกับตัวเองเหมือนกันว่าทำยังไงให้ไม่รู้สึกเบื่อกับมัน อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ผมจึงรู้สึกว่าเราต้องพยายามหาอะไรใหม่ๆ หาสไตล์ใหม่ๆ หรือหาอะไรที่มันทำให้เรารู้สึกสนุกหรือ entertain ที่จะสร้างงานศิลป์ตลอด บางทีพอเราทำงานลูกค้าเยอะๆ ถึงจะเป็นการวาดรูปที่เราชอบเหมือนกัน แต่มันเป็นการทำตามโจทย์ เขาจะมีสไตล์ มีโจทย์มาล็อกเรา ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดขึ้นมาเองหรือสิ่งที่เราอยากทำ 100% ผมรู้สึกว่าความสนุกมันลดลงแล้ว ดังนั้นการทำโปรเจ็กต์ส่วนตัวเพื่อไปบาลานซ์ความสุขกับมัน ถือเป็นสิ่งท้าทายสำหรับผมมาก ถ้าใครตามเพจผมจะเห็นว่าผมมักจะอัพคอนเทนต์ของตัวเองที่ไม่ใช่งานลูกค้า นั่นคือผมทำเพื่อ entertain, keep motivation ตัวเอง และส่งความสุขให้คนในแฟนเพจด้วย ผมรู้สึกว่าตรงนี้เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากขึ้นสำหรับการรักษาสมดุลระหว่างความสุขกับงานที่ต้องทำ

 

คุณคิดว่าสมัยนี้ช่องทางโซเชียลมีเดีย มีความสำคัญต่อการเผยแพร่ผลงานของศิลปินมากแค่ไหน

มากที่สุดเลยครับ สมมติเราขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส ทุกคนบนรถประมาณ 80% ก็จ้องมือถือกันหมดแล้ว สาเหตุหนึ่งที่ผมตัดสินใจกลับมาเมืองไทย เพราะตอนที่ผมกำลังเรียนอยู่ ผมเคยได้รับการติดต่อให้วาดงานจากหนังสือพิมพ์ประเทศหนึ่ง เขารู้จักผมจากงานเก่าเมื่อสองปีที่แล้วที่มีคนไปโพสต์ไว้ที่ไหนสักแห่ง เขาก็ตามหาผมจนเจอ พอมีแฮร์รี่ พอตเตอร์หรือโปรเจ็กต์อื่นๆ เพิ่มมา ผมก็ถามตัวเองว่าทำไมจะต้องเอาโซ่มาพ่วงขาไว้ที่อเมริกาด้วย ขณะเดียวกันค่าครองชีพที่อเมริกาก็สูงมาก คนที่ติดต่องานเข้ามาก็ไม่ได้สนใจเลยว่าเราทำงานจากที่ไหน เพราะเขาติดต่อมาจากโซเชียลมีเดีย ผมเห็นรุ่นน้องเยอะมากที่เมืองไทย แต่งานของเขาสามารถโกอินเตอร์ได้โดยไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศเลยด้วยซ้ำ และผมมีเพื่อนหลายคนอยู่สวีเดน แต่ทำงานให้สตูดิโอดังๆ ระดับโลกโดยที่ตัวเขาไม่เคยออกจากประเทศเขาเหมือนกัน

ผมคิดว่าโซเชียลมีเดียสมัยนี้มีความสำคัญต่อการเผยแพร่ผลงาน เราต้อง “ขยันโพสต์” เข้าไว้ แต่ณะเดียวกันก็ไม่ใช่เอาแต่โพสต์ๆๆ เราต้องมีเป้าหมายด้วยว่าทำไปเพื่ออะไร ตัวผมเองตั้งใจทุกครั้งที่วาดงานใหม่ผมจะถามตัวเองว่า งานนี้ท้าทาย (challenge) สิ่งใดในตัวเอง สมมติว่าคราวที่แล้วเป็นเรื่องการออกแบบ งานนี้ก็เปลี่ยนเป็นโจทย์สี ผมจะพยายามหาโจทย์ใหม่ให้ตัวเองเรื่อยๆ ในทุกผลงาน เพราะผมมองว่าทุกผลงาน “ต้องพัฒนาขึ้น” ถ้าเราใช้หลักการนี้แล้วลงเผยแพร่ผลงาน ก็เหมือนเป็นการฝึกฝนตัวเองไปด้วย มันมีแต่ผลดี เหมือนเป็นกระบอกเสียงให้งานตัวเอง

 

คุณคิดว่าความสำเร็จของการเป็นศิลปินคืออะไร?

ผมว่าการประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น อยู่ที่คุณสามารถถ่ายทอดหรือส่งต่อความรู้สึกไปถึงผู้รับผ่านผลงานภาพได้หรือไม่ มีช่วงหนึ่งตอนผมบวชเรียนก่อนไปเรียนต่อที่อเมริกา พระท่านเคยดูหนังสือกันแล้วพูดถึงภาพภาพหนึ่งที่ทำให้คนเกิดสมาธิ พอมองแล้วจิตของคุณจะเกิดสมาธิกับมัน ทำให้จับจ้องและพิจารณาภาพนั้นอยู่ได้นานมาก เหมือนมีมนตร์เสน่ห์อะไรบางอย่างที่ตรึงคนดูไว้ เหมือนเวลาไปชมภาพยุคคลาสสิคในแกลลอรี่ (gallery) นานๆ นั่นคือความสำเร็จที่ศิลปินส่งต่อความรู้สึกไปยังผู้รับได้

ถ้าถามว่าผมถึงจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง ผมว่ายังอีกยาวไกลเลยครับ แต่ ณ จุดจุดนี้ ผลงานที่ผมภาคภูมิใจมากก็คงจะเป็นแฮร์รี่ พอตเตอร์ เพราะกลุ่มคนที่ผูกพันกับเรื่องนี้ค่อนข้างใหญ่ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นคนทั่วโลก ผมรู้สึกว่าได้ส่งพลังจากตรงนี้แผ่ไปถึงอีกหลายชีวิต ผมชอบพูดเล่นว่าได้ทำโปรเจ็กต์นี้ก็ตายตาหลับแล้ว (หัวเราะ) ถ้าชีวิตนี้จะเกิดอุบัติเหตุแล้วทำให้วาดรูปไม่ได้อีก ก็คงไม่เสียใจ เพราะผมได้ฝากผลงานชิ้นหนึ่งที่น่าจะส่งต่อไปได้เรื่อยๆ ไว้แล้ว ผมอยากมีแค่นี้แหละ อยากมีผลงานสักชิ้นที่ถ่ายทอดความสุขส่งต่อไปได้

 

คุณวางเป้าหมายงานในอนาคตไว้อย่างไร

ตอนนี้ยังไม่ค่อยชัดเจนครับ ผมเคยถามตัวเองเหมือนกันว่าพร้อมจะลุกขึ้นมาทำคอนเทนต์ตัวเองเต็มร้อยหรือยัง ผมอยากถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของผมผ่านแบรนด์ “Apolar” เพราะมีคนขอเข้ามาเยอะว่าอยากให้แชร์เบื้องหลังการทำงาน ทำคลิปสอนเป็น channel ผมเองก็อยากเป็นครู อยากสอนสิ่งเหล่านั้น แต่ก็ยังนึกรูปแบบไม่ออกว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด อีกทั้งช่วงนี้ผมยังต้องรับงานซะเยอะ เพราะตั้งแต่จบโปรเจ็กต์แฮร์รี่ไปก็มีโอกาสต่างๆ วิ่งเข้ามาพอสมควร โดยเฉพาะ EA ที่ติดต่อมาอีกครั้ง เพราะเขาบอกว่าผมทิ้งเขามากลางคัน ยังอยากให้เราทำงานให้เขาต่อ แต่ทำเป็นทางไกลแทนกึ่งๆ ฟรีแลนซ์ ผมก็เลยรู้สึกว่าอาจจะยังชะลอโปรเจ็กต์ส่วนตัวที่อยากทำไว้ และด้วยสถานการณ์โควิดตอนนี้ด้วย จึงเป็นช่วงเวลาที่ผมรับงานลูกค้าไปก่อน แล้วค่อยๆ ค้นหาตัวเองไปด้วย ภายในปีสองปี ผมคงจะค่อยๆ เปลี่ยน เพราะยังไงผมก็ยังจะจับแบรนด์ “Apolar” ไม่ทิ้ง ถ้ารอติดตามก็อาจจะเห็นผมค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ แต่เป็นรูปแบบใดยังไม่ตายตัว (หัวเราะ)

 

สุดท้ายนี้อยากอะไรถึงเพื่อนๆ และแฟนคลับฝากไหมคะ

ฝากถึงน้องๆ หรือคนที่สนใจแล้วกันครับ ในยุคสมัยนี้เรามีแพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ต่างๆ เยอะแยะมากมายที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำสิ่งที่เราเคยคิดว่ามันคงเป็นได้แค่ “งานอดิเรก” หรือ “ตัวรอง” ที่เราทำขำๆ ผมเคยได้ยินคำนี้จากคนรอบตัวที่ต้องทำอาชีพที่ไม่ได้ชอบ รอเก็บเงินก่อนพอแก่แล้วค่อยไปทำที่ชอบ ถามว่ากว่าจะถึงตอนนั้นเราอาจจะตายไปก่อนหรือเปล่าก็ไม่รู้ ดังนั้นผมอยากเป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผมสามารถนำสิ่งที่เคยคิดว่าเราต้องเรียนเป็นหลักแล้วเอาเรื่องวาดรูปเป็นรอง พลิกกลับมาเป็นเบอร์หนึ่งในชีวิต ผมเปลี่ยนมันมาเป็นผลงานและสร้างอาชีพให้ตัวเองได้ ตอนแรกคุณพ่อคุณแม่ผมค่อนข้างเป็นห่วงว่าการเรียนศิลปะมันสร้างอาชีพได้มั้ย เราต้องไปวาดภาพเขียนขายหรือเปล่า เขายังนึกภาพไม่ออก แต่พอเราไปอยู่ที่อเมริกา ได้ร่วมงานกับ EA ก็พิสูจน์ให้เห็นได้ว่ามันสามารถสร้างอาชีพ หรือแตกยอดไปสู่งานต่างๆ

ผมจึงอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน ว่าถ้าเรามีอะไรสักอย่างหนึ่งที่เราชอบและรักมันจริงๆ เราจะต้องจับไว้อย่าปล่อยมันไป ศึกษาไปให้ถึงแก่นแท้ เข้าไปรู้จริงให้ได้แล้วเปลี่ยนมาเป็นอาชีพ แล้วเราจะมีแรงทำมันได้เยอะ เพราะเวลาเราทำอะไรที่รักและมีความสุข เราจะทำได้แบบไม่เหนื่อย พอเราทำได้ไม่เหนื่อย เราจะมีพลังมากกว่าชาวบ้าน ทำไมผมถึงทำโปรเจ็กต์แฮร์รี่ออกมาได้เต็มที่ ก็เพราะผมรักมันมากๆ แล้วผมใส่แรงได้เกินร้อย เกินกว่าที่ตัวเองเคยทำ ถ้าผมไปทำในสิ่งที่ไม่ชอบ ไปทำหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมไม่เคยอ่านมาก่อน ผมคงทำไม่ได้ขนาดนี้ ดังนั้นก็อยากจะส่งต่อความสุขและบอกทุกคนให้ค้นหาสิ่งนั้นของตัวเองให้เจอ หาความสุข เปลี่ยนมันมาเป็นเบอร์หนึ่งของชีวิต และทำออกมาให้เต็มที่ครับ

 

อาชว์ฝากไว้ด้วยความหวังว่าประสบการณ์ที่เขาถ่ายทอดจะช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อ่านได้

 


คอลัมน์ : ยุทธจักร ฅ.ฅน
เรื่อง: กัตติกา ภาพ: อนุชา ศรีกรการ

ติดตามผลงานของ “Apolar” ได้ที่

https://www.facebook.com/Apolar.Arch/

https://www.behance.net/apolar

https://www.deviantart.com/apolar

https://www.artstation.com/apolar

 

ขอขอบคุณสถานที่

บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด 11 ซอยสวัสดี ซ. สุขุมวิท 31 แขวง คลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110

 

รายละเอียดการสั่งซื้อ

– Box Set แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับครบรอบ 20 ปี เล่ม 1- 7 ปกแข็ง (4,950 บาท)

https://bit.ly/3guqkgS

– แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับครบรอบ 20 ปี เล่ม 1- 7 ปกอ่อน (3,950 บาท)

https://bit.ly/3hqUCmf

 

 

กัตติกา

Writer

กองบรรณาธิการ เด็กโบราณคดีเอกไทย ผู้พ่ายแพ้ต่อแมวเหมียวและสิ่งมีชีวิตน่ารัก ชื่นชอบการดูหนังและสีเขียวแต่ดันมีเสื้อสีฟ้ามากกว่าเพราะคิดเอาเองว่าใส่แล้วสวย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!