ออลมีโอกาสสนทนากับนักแสดงจากซีรีส์วายเรื่องดังหลายคน แต่ยังไม่เคยสนทนากับผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของซีรีส์เหล่านั้น ‘ออฟ’ นพณัช ชัยวิมล คือผู้กำกับซีรีส์ เช่น เขามาเชงเม้งข้างๆ หลุมผมครับ, เพราะเรา(ยัง)คู่กัน Still 2gether The Series, นิทานพันดาว, แค่เพื่อนครับเพื่อน, พระจันทร์มันไก่ และผลงานเรื่องล่าสุด Last Twilight ภาพนายไม่เคยลืม คว้ารางวัลระดับสากล Best LGBTQ+ Programme Made in Asia จากงาน ContentAsia Awards 2023 ติดต่อกันถึง 3 ปี และรางวัลผู้กำกับซีรีส์ Y แห่งปี จากเวทีการประกาศรางวัล FEED Y Capital Awards 2022 บทสัมภาษณ์นี้จะสะท้อนภาพการทำงานในซีรีส์วาย หมุดหมายในอนาคต และปรัชญาการทำงานของผู้กำกับมากฝีมือคนนี้
ความใฝ่ฝันในการทำละคร
“ย้อนไปสมัย ม.2 โรงเรียนมีละครเวที แต่เขาให้แค่ ม.ปลายทำ เราไปยืนดูแล้วเกิดความรู้สึกอยากทำบ้าง พอขึ้น ม.4-6 เลยทำละครเวทีของโรงเรียนเรื่อยมา ถึงจะเรียนสายวิทย์แต่ตั้งใจแน่วแน่ที่จะต่อนิเทศศาสตร์ แล้วก็เดินบนเส้นทางนี้ตลอด เคยแวบไปทำการตลาด ทำอีเวนต์ ทำฝ่ายสถานี ฝ่ายต่างประเทศบ้าง แต่สุดท้ายก็หนีตัวเองไม่พ้น กลับมาทำซีรีส์ ซึ่งเข้าปีที่ 7 แล้ว” ออฟเริ่มทำงานที่ GMMTV ในตำแหน่งทีมเขียนบท จากนั้นก็พัฒนาสู่การกำกับซีรีส์ วายครั้งแรก เขามาเชงเม้งข้างๆ หลุมผมครับ ซึ่งเลือกจากนิยายที่เขารู้สึกสนุกและน่าดัดแปลงเป็นซีรีส์
ส่วนประกอบที่ทำให้ซีรีส์ของผู้กำกับมากฝีมือคนนี้ประสบความสำเร็จ “เริ่มจากต้องมีวัตถุดิบที่ดี 1. บทหรือนิยายดี 2. นักแสดงที่เหมาะสม 3. การปรุงรสชาติ คือการเล่าเรื่องหรือกำกับได้กลมกล่อม สามอย่างนี้เป็นองค์ประกอบที่ไม่อาจขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องมีในสัดส่วนพอเหมาะถึงจะเรียกว่าเป็นซีรีส์ที่ดี แต่จะประสบความสำเร็จไหมขึ้นอยู่กับจังหวะ อย่างไรก็ตาม หากไม่ใช่ซีรีส์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ก็ยากที่จะคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีได้”
มีการเล่าเรื่องแบบไหนในซีรีส์วายที่เป็นเอกลักษณ์ ต่างจากซีรีส์ชาย-หญิงบ้าง เราถาม “ตามความคิดเห็นเรานั้นไม่ต่างกันเลยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่คอนเทนต์แข่งขันกันสูง แบบนี้ การรักษามาตรฐานการเล่าเรื่องให้สนุก โพรดักชันที่มีคุณภาพคือสิ่งลำดับแรกครับ เพราะกลุ่มคนดูตอนนี้มีตัวเลือกเยอะ”
ผู้กำกับมือรางวัลยกให้นิทานพันดาวเป็นผลงานที่ท้าทายที่สุด “เราเจอนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเข้ามาทำซีรีส์ แต่รู้ตัวว่ายังไม่เก่งพอจะดัดแปลงเป็นซีรีส์ รอเวลาจนพร้อม เรื่องนี้เป็นการถ่ายทำที่ท้าทายขีดจำกัดมาก เพราะต้องขึ้นไปถ่ายบนเนิน 102 ดอยผาตั้ง จังหวัดเชียงราย ปกติแค่เดินเฉยๆ ก็เหนื่อยเต็มที่แล้ว นี่เรายังแบกสัมภาระเพื่อใช้ถ่ายทำขึ้นไปอีก อากาศบนนั้นก็หนาว นักแสดงก็สู้มาก สารภาพว่าตอนคิดซีนไม่ทันคิดว่าจะทำงานได้ไหม แค่คิดว่าต้องมีซีนที่นี่ เมื่อมองย้อนไปก็สงสัยตัวเอง เราทำอะไรลงไปวะ แต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายดี”
ซีรีส์วาย = ตลาดวาย?
มีคำถามเสมอว่าตลาดซีรีส์วายใกล้วายรึยัง กระแสนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน “ทาง GMMTV ก็ประเมินกันเป็นระยะๆ แต่ละปี เพราะมีการตั้งคำถามนี้เยอะ ห้าปีที่ผ่านมาเราไม่เห็นการลดน้อยถอยลงเลย เห็นแต่การก้าวกระโดด อัตราการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วัดง่ายๆ คือซีรีส์วายเมื่อก่อนดูได้ทุกวันศุกร์ แต่ตอนนี้ดูได้ตลอดเจ็ดวัน และวันละมากกว่าหนึ่งเรื่องด้วยซ้ำ ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตซีรีส์วายของ GMMTV เป็นครึ่งหนึ่งของการผลิต นี่เราพูดถึงซีรีส์ไทยนะ ยังไม่รวมซีรีส์วายของต่างประเทศที่เข้ามา ถามว่ามันจะสิ้นสุดตรงไหน ใกล้สิ้นสุดรึยัง ตอบไม่ได้เลย รู้แต่ว่าในมุมมองของผมยังเติบโตเรื่อยๆ ครับ
พัฒนาการซีรีส์ก็ยังคงมีอยู่ไม่ขาดสาย เรื่องเล่าในช่วงเริ่มต้นเกี่ยวข้องกับความรักในวัยเรียน และคลี่คลายสู่การเล่าเรื่องของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม “ก่อนหน้านี้นิยายที่แต่งเกี่ยวกับผู้ชายท้องได้ดูสร้างความตื่นตาตื่นใจ แต่ตอนนี้ก็เป็นมาตรฐานที่แฟนนิยายพบเจอได้ปกติ ไม่กี่วันก่อนเราเจอนิยายวายที่ตัวเอกคือเปรตและเด็กวัด เราทึ่งมากที่สามารถจินตนาการได้ขนาดนี้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของสัตว์ เช่น ปูลม หอย ปลาหมึก คนเขียนนิยายบ้านเราเก่งนะ แต่การจะเป็นซีรีส์หรือไม่ต้องดูความเหมาะสม ถ้าตัวเอกเป็นสัตว์คงยากเกินไป ถ้ารูปร่างยังเป็นมนุษย์และใช้คนแสดงได้ ก็อาจเป็นไปได้ ใครจะรู้ เหมือนวันที่ทำเขามาเชงเม้งข้างๆ หลุมผมครับ ก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผีกับคน แรกๆ อาจรู้สึกแปลก แต่มันก็เป็นไปได้”
‘ยูริ’ (หญิง-หญิง) คืออีกกระแสที่กำลังมา “เราค่อนข้างเซอร์ไพรส์เหมือนกัน เพราะกลุ่มหญิง-หญิงเคยเป็นกลุ่มที่เล็กมาก แต่กลุ่มนี้ก็ค่อยๆ เติบโต ซีรีส์เรื่องแค่เพื่อนครับเพื่อน มีการใส่คู่หญิง-หญิง ซึ่งเป็นคู่รอง ก็ได้ผลตอบรับดี จนตัดสินใจลองเปิดพื้นที่ให้ซีรีส์หญิง-หญิงเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักดู เลยเป็นที่มาของซีรีส์ 23.5 องศาที่โลกเอียง จะออนแอร์ในปี 2024 รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่จะตามมา ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ”
คว้ารางวัลจากหลากหลายเวที
ผลงานซีรีส์ที่เขากำกับยังคว้ารางวัลระดับสากล Best LGBTQ+ Programme Made in Asia จากงาน ContentAsia Awards 2023 ซึ่งได้ติดต่อกันถึง 3 ปีจาก นิทานพันดาว แค่เพื่อนครับเพื่อน และพระจันทร์มันไก่ ออฟคิดว่าสิ่งที่โดดเด่นจนเอาชนะคู่แข่งประเทศอื่น คือการใส่ประเด็น LGBTQ+ ลงในซีรีส์วายอย่างกลมกล่อม ครบถ้วนทั้งอรรถรสและสารที่อยากสื่อ
“เราเติบโตมากับคอนเทนต์ที่ตัวละคร LGBTQ+ ถูกเล่าในแง่มุมเดียว ถ้าไม่อกหักช้ำรัก โดนบังคับให้แต่งงานกับผู้หญิง เป็นโศกนาฏกรรม ก็เป็นตัวตลก สีสัน เพื่อนนางเอก ช่างแต่งหน้า ที่จริงชีวิตคนมีหลายด้าน เราเลยเริ่มทำ Gay OK Bangkok เล่าเรื่องชีวิตเกย์ในกรุงเทพฯ ที่เป็นคนธรรมดา มีปัญหางาน ปัญหาความสัมพันธ์ ซึ่งเราอินกับประเด็นเหล่านี้ แต่พอเข้ามาอยู่ใน GMMTV กลุ่มคนดูคือวัยรุ่น เราอยากเล่าประเด็นดังกล่าวลงไปในซีรีส์วัยรุ่นด้วย ให้เขาเปิดใจกับ LGBTQ+ ก็ลองผิดลองถูก ใน Dark Blue Kiss จูบสุดท้ายเพื่อนายคนเดียว ใส่ประเด็นครอบครัว แค่เพื่อนครับเพื่อน ใส่การ come out กับพี่น้อง (การเปิดเผยความลับหรือเรื่องปกปิดทางเพศให้คนอื่นรับรู้)
“มีหลายเสียงท้วงติงว่า วายกับ LGBTQ+ คือคนละเรื่องกัน แต่เราในฐานะคนทำซีรีส์ก็คิดว่า จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถเล่าทั้งสองกรณีให้ควบคู่กันไปได้ และผลจากรางวัลก็พอจะพิสูจน์ว่าทำได้นะ เพราะผลงานที่ได้รางวัลคือซีรีส์วาย หรือ boy love ทั้งหมด แต่รางวัลที่ได้คือ Best LGBTQ+ Programme เราพยายามจะผลักดันด้วยการพูดในสิ่งที่เราอยากสื่อสาร โดยไม่ทิ้งสิ่งที่ผู้ชมอยากดู ทั้งท้าทาย และเสี่ยงที่ผู้ชมจะไปกับเราด้วยไหม”
รสชาติซีรีส์วายแบบไทย
ญี่ปุ่นกับเกาหลีคือสองประเทศที่ออฟเลือกจับตามองและศึกษางาน ญี่ปุ่นคือต้นกำเนิดซีรีส์วาย ส่วนเกาหลีคือประเทศที่อุตสาหกรรมผลิตสื่อรุดหน้าไปไกล แต่เขาก็เชื่อมั่นว่า ซีรีส์ของไทยสู้ได้ไม่แพ้กัน จุดแข็งของเราคือความครีเอตในการนำเสนอ “รสชาติแบบไทยๆ น่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายของการนำเสนอ เราเริ่มจากเรื่องราวของนักเรียน แล้วคลี่คลายสู่สายอาชีพ เช่น หมอ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทหาร ผี มนุษย์ออฟฟิศ wedding planner ถ้าตัวละครชาย-หญิงสามารถทำอาชีพไหนก็ได้ ตัวละครชาย-ชายก็สามารถทำอย่างนั้นได้เช่นกัน ผสมกับจริตจะก้าน การกำกับแบบไทยเพื่อคนไทยดู ก็กลายเป็นรสชาติแบบไทยๆ”
รับมือกับคอมเมนต์
โซเชียลมีเดียทำให้ทุกวันนี้เรารับฟีดแบ็กกันอย่างรวดเร็ว ผู้กำกับคนนี้มีแนวทางการรับมืออย่างไรเมื่อต้องเจอคอมเมนต์ทั้งติและชม “แรกๆ ก็รับมือไม่ค่อยถูก โห เราเลวร้ายขนาดนั้นเลยเหรอ มีไดอะล็อกที่ไม่ชอบในเรื่อง เขาก็ตัดสินว่านี่คือบทที่บ้ง ผู้กำกับคนนี้นำเสนอบทสนทนานี้ แสดงว่ามีเจตนา… อย่างมีซีนหนึ่งในซีรีส์ ตัวละครกำลังหยอกล้อกันแล้วผ้าเช็ดตัวหล่น เราคิดว่าน่าจะทำได้นะเพราะนี่เป็นพื้นที่ของเขา พอออกอากาศกลับมีคนติงว่า ทำสิ่งนี้ไม่ได้นะ เขาเคยโดนทำมาก่อนแล้วรู้สึกว่ามันคือ sexual harassment (การล่วงละเมิดทางเพศ) อย่างหนึ่ง เพราะเขาไม่ยินยอมจะให้เกิดสิ่งนี้ เราเลยมานั่งคิดตาม แล้วก็ทักไปว่า ประเด็นนี้พี่ขอโทษจริงๆ พี่ไม่ได้ตั้งใจแบบนั้น ถ้าเราผิดก็อยากให้บอกกล่าวกันอย่างถนอมน้ำใจ เราจะได้เรียนรู้”
ด่านดราม่าสร้างความรู้สึกเกร็งให้แก่เขาไหม เราถาม “สุดๆ เราเคยคุยเล่นๆ ในทีมเขียนบทว่า เราต้องระมัดระวังเรื่องประเด็นละเอียดอ่อนกันมากๆ เพราะถ้ามีซีนหรืออะไรที่หมิ่นเหม่ก็จะโดนฟีดแบ็กทันที สมมติมีซีนที่ตัวละครรับไม่ได้กับความเป็นเกย์ บางคนอาจมองว่า นี่มันยุคสมัยไหนแล้ว เขารับได้กันหมดแล้ว การคัมเอาต์อาจเคยเป็นปมขัดแย้งที่สำคัญในซีรีส์วาย แต่ปัจจุบันก็อาจไม่ใช่อีกต่อไปสำหรับบางครอบครัวที่เปิดรับเรื่องนี้ หรือซีนที่ตัวละครชายชวนกันไปเหล่หญิง เมื่อก่อนเราอาจมองว่าเป็นพฤติกรรมปกติของผู้ชาย แต่คนอีกกลุ่มอาจมองว่าไม่ให้เกียรติผู้หญิง เราก็ต้องเรียนรู้ว่าเรื่องนี้มีวิธีคิดอีกแง่มุมด้วยนะ ด้วยความที่ซีรีส์วายเป็นที่นิยมในหมู่คนใช้โซเชียล คำวิจารณ์เลยเกิดขึ้นเร็ว เราจึงต้องรอบคอบในการคิดให้มากขึ้น”
หมุดหมายต่อไป
นอกจากการอยากทำงานภาพยนตร์ ซึ่งเป็นเป้าหมายส่วนตัวแล้ว ออฟยังมุ่งหวังสร้างบุคลากรรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น “ตอนนี้อยากสร้างคน สร้างผู้กำกับรุ่นใหม่ เราเองก็เติบโตไปเรื่อยๆ แต่เป็นการโตคนเดียว ถ้าเราผลักดันคนรุ่นใหม่ เราก็จะได้บุคลากรคุณภาพเพิ่มในการผลิตซีรีส์ ผลประโยชน์ก็ตกสู่คนดู เขาจะมีตัวเลือกขึ้น”
ปรัชญาการทำงาน
“เราเชื่อและยึดมาตลอดว่า ถ้าบรรยากาศการทำงานดี ทุกคนก็จะมีความสุขกับการทำงาน แล้วผลงานก็จะดีตาม เรากำลังทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง สไตลิสต์ ช่างไฟ ช่างกล้อง ทุกคนใช้จิตวิญญาณและหัวใจในการผลิตงาน กองถ่ายของเราจะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข เมื่อพวกเขาสุขใจ ผลงานก็ออกมาดี แล้วถ้าเกิดปัญหา เราค่อนข้างจะประนีประนอม เราไม่มาถามว่าทำไมถึงเกิดปัญหา ข้ามไปเลย แล้วหาวิธีแก้ปัญหาก่อน ไม่ใช่แค่ในกองถ่าย ในทีมงานก็เช่นกัน เราแคร์ทัศนคติการมองปัญหาของน้องๆ มากกว่าความสามารถด้วยซ้ำ ความเก่งกาจนั้นฝึกกันได้ แต่ทัศนคติน่ะฝึกไม่ได้เลย”
คอลัมน์: ยุทธจักร ฅ.ฅน
เรื่อง: ภิญญ์สินี
ภาพ: อนุชา ศรีกรการ