นวนิยายเรื่องเมียหลวง บทประพันธ์ของ “กฤษณา อโศกสิน” นับเป็นนวนิยายที่ได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์มากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ละครโทรทัศน์ไทย ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่ามีการรีเมคนวนิยายเรื่องนี้เป็นละครโทรทัศน์ถึง 6 ครั้ง นับตั้งแต่ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2512 มาจนถึงเวอร์ชั่นปัจจุบัน พ.ศ.2566
จึงชวนให้สงสัยว่าตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษ เมียหลวงได้ “ส่งสาร” อะไรมายังผู้ชมชาวไทย เป็นสารเดิมหรือว่าสารใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมไทย และมีเหตุผลใดที่ทำให้เมียหลวงได้รับความนิยมต่อเนื่องเช่นนี้
“กฤษณา อโศกสิน” เขียนนวนิยายเรื่องนี้ในทศวรรษ 2510 อันเป็นทศวรรษที่สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ เป็นทศวรรษที่พยายามก้าวพ้นจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมอุตสาหกรรมแบบกึ่งทุนนิยม โดยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นแม่บท แผนพัฒนาเศรษฐกิจนี้ทำให้คนในชนบทอพยพเข้ามาในเมืองเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิด “คนจนเมือง” ตามสลัมต่างๆ มากมาย เป็นยุคเริ่มต้นของเมืองที่ดูดกลืนทรัพยากรต่าง ๆ จากชนบท โครงสร้างประชากรก็มีการผันแปรอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สิ่งเหล่านี้กระทบต่อโครงสร้างของระบบครอบครัว กล่าวคือ ครอบครัวขยายแบบที่เป็นอยู่ในชนบทเปลี่ยนแปลงมาเป็นครอบครัวเดี่ยว สามีภรรยาแยกบ้านจากครอบครัวของพ่อแม่ มาอยู่ต่างหากตามหมู่บ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วเมือง
ครอบครัวเดี่ยวที่มีเพียงพ่อแม่ลูก ตัดขาดจากญาติผู้ใหญ่ เมื่อพ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน ลูกก็ต้องอยู่กับคนเลี้ยงเด็กหรือคนรับใช้ในบ้าน ในนวนิยายเรื่องเมียหลวง กฤษณาไม่ให้บทบาทแก่ญาติผู้ใหญ่เลย เมื่อสามีภรรยาเกิดปัญหา คนที่มาช่วยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นคือเพื่อนสนิท ซึ่งก็มีปัญหาไม่ต่างกัน ในขณะที่ตัวละครเริ่มปฏิเสธครอบครัวขยาย และเห็นว่าการอยู่กับครอบครัวใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่นำปัญหามาให้ ดังเช่นอรอินทร์ที่ต้องเลิกกับสามีเพราะไม่สามารถทนครอบครัวกงสีแบบครอบครัวคนจีนได้
การนำเสนอให้เห็นว่าอรอินทร์ไม่อาจทนวัฒนธรรมกงสีในครอบครัวของสามได้นั้นสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ซึ่งเคยยึดโยงอยู่กับญาติพี่น้อง พ่อแม่ และครอบครัวเป็นสำคัญ กลับแปรเปลี่ยนมาเป็นการดำรงชีวิตแบบปัจเจกชน ที่ยึดถือตนเองเป็นใหญ่
ปัญหาผัวเมียในสังคมไทยที่เป็นมาแต่โบราณกาลนั้น คือผลแห่งค่านิยมซึ่งยอมรับความเจ้าชู้ของผู้ชาย เห็นว่าการที่ผู้ชายมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคนเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าเมียจึงมีอยู่หลายสถานภาพ ทั้งเมียหลวง เมียน้อย เมียเก็บ เมียตีทะเบียน เมียชั่วคราว ฯลฯ นิยามความเป็นเมียในสังคมไทยจึงหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าผัวจะหยิบยื่นสถานภาพใดให้ และเมียก็ต้องยอมทนต่อสภาพนิยามเมียที่ได้รับ โดยไม่มีคำตอบโต้ใดๆ ด้วยเหตุนี้เอง บรรดาเมียๆ จึงต้องพยายามแสวงหาวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้ผัวรักมากที่สุด ยกย่องมากที่สุด และมีบทบาทในครอบครัวมากที่สุด
ในสมัยโบราณ เมียหลวงคือเมียใหญ่ที่มักผ่านการเข้าพิธีสมรส เป็นการยอมรับของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เมียใหญ่หรือเมียหลวงนี้มักมีบทบาทในทางเศรษฐกิจเพราะเป็นผู้ควบคุมเงินและกิจการต่างๆ ในบ้าน แต่อาจไม่ใช่เมียที่ผัวรักก็ได้ แต่หลังจากสยามเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ได้มีการตรากฎหมายให้ผู้ชายมีเมียเพียงคนเดียว เมียหลวงจึงกลายเป็นเมียที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายแทนเมียใหญ่ที่ผัววางใจให้ถือกุญแจทรัพย์สินในบ้าน
กฎหมายได้ตีตราเมียจดทะเบียนว่าเมียหลวง มีอำนาจสิทธิ์ขาดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางกฎหมายว่ามีส่วนและสิทธิ์กึ่งหนึ่งของสามี แต่กฎหมายก็ไม่อาจห้ามผู้ชายมีเมียหลายคน เพียงแต่เมียใหม่ไม่มีสิทธิ์ได้ตีทะเบียนเหมือนกับเมียหลวง
ในนวนิยายเรื่องเมียหลวง กฤษณาได้สร้างครอบครัวของ ดร.วิกานดากับ ดร.อนิรุทธิ์ให้เป็นตัวแทนของครอบครัวไทยในยุคเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมกึ่งทุนนิยม เป็นครอบครัวชนชั้นกลางระดับบน ตัวละครเรียนจบขั้นสูงสุด รับราชการในกระทรวงศึกษาธิการและเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกระแสในช่วงดังกล่าว ที่รัฐบาลไทยส่งคนไปเรียนด้านการศึกษาเพื่อกลับมาพัฒนาประเทศและเป็นผู้นำของคนในสังคม ดูเหมือนกฤษณาจะตั้งข้อสังเกตว่าคนที่เรียนสูงมิได้หมายความว่ามีจริยธรรมสูง ดร.อนิรุทธิ์ยังคงเป็นผู้ชายไทยที่เห็นว่าผู้หญิงเป็นเครื่องตอบสนองตัณหาของตนเอง ส่วนผู้หญิงก็ยังยึดว่าการได้ครองคู่กับผู้ชายที่สมบูรณ์พร้อมจะทำให้ชีวิตมีความสุขสบายไปตลอดชีวิต
กฤษณาสร้างตัวละครชื่ออรอินทร์ให้ถูกผู้อ่านตราหน้าว่าเป็นเมียน้อย ทั้งที่มีลูกติดกับสามีเก่า และมีการศึกษาระดับปริญญาโทจากเมืองนอก แต่อรอินทร์ก็ยังคิดแย่งสามีคนอื่นอย่างไม่หวั่นเกรงคำครหาของสังคม เหตุผลของอรอินทร์ก็คือการได้ครอบครองผู้ชายที่สมบูรณ์พร้อมแบบผู้ชายสมัยใหม่ ไม่ใช่ผู้ชายอย่างสามีคนเดิมที่ยังอยู่ในกรอบของครอบครัวคนจีน
ส่วน ดร.วิกานดา เป็นเสมือนตัวแทนของเมียที่ไม่ยอมทนรับสภาพที่ถูกผัวสถาปนาให้เป็นเมียหลวง แต่เธอต้องการเป็นเมียคนเดียวของผัวมากกว่า ดร.วิกานดาอดทนจนถึงที่สุด แล้วก็พบว่าการหย่าร้างไม่ใช่ทางออกเสมอไป เธอยังมี “ลูก” ที่ต้องดูแลรับผิดชอบ การเฉยชากับสามีคือคำตอบที่เธอทำได้ ดร.วิกานดารู้ดีว่าความดี ความมีเกียรติ การศึกษา ไม่อาจหยุดยั้งตัณหาของสามีได้
ทางออกสุดท้ายที่ทำให้ ดร.อนิรุทธิ์หยุดความเจ้าชู้ก็คือ การเสียสละชีวิตของนุดี หญิงสาวซึ่งรักเขาสุดหัวใจ เป็นความรักอันบริสุทธิ์ ที่เธอไม่อาจปฏิเสธหัวใจตนเองได้ ดังนั้นทางออกเพื่อรักษาความเป็นหญิงที่ดีไว้ได้ของนุดีก็คือการฆ่าตัวตาย ซึ่งการตายของเด็กสาวแสนบริสุทธิ์อย่างนุดีทำให้ ดร.อนิรุทธิ์ได้คิดว่าการหว่านเสน่ห์ของตน และคิดว่าเป็นเรื่องปกติของผู้ชายไทยนั้น ได้สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจและความสูญเสียแก่ฝ่ายหญิงอย่างไรบ้าง
ห้าทศวรรษที่ผ่านมา ละครโทรทัศน์เรื่องเมียหลวงถูกผลิตซ้ำหลายครั้ง และก็เชื่อแน่ว่ายังมีครั้งต่อๆ ไปอีก แต่เมียหลวงก็ยัง “ส่งสารเดิมๆ” แม้ว่าบริบทสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ชวนให้คิดว่าสังคมเปลี่ยนแต่จิตสำนึกของคนไทยไม่เคยเปลี่ยน ผู้ชายก็ยังเป็นผู้ชาย และเมียหลวงเมียน้อยก็ยังเป็นรูปแบบของความรักและความใคร่ในสังคมไทยเช่นเดิมนั่นเอง
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง / เรื่อง: “ลำเพา เพ่งวรรณ” ภาพ: https://www.facebook.com/change2561/