หนังสือแบบเรียนไทยชั้นต้น เริ่มตั้งแต่การประสมอักษร ครูบาอาจารย์แต่โบราณท่านมักนำเอาธรรมชาติใกล้ตัวที่เกี่ยวกับชื่อพืชชื่อสัตว์มาประสมอักษรให้เด็กหัดอ่าน เช่น ก า กา ปู ปู อีกาดูปู เป็นต้น ตัวอย่างที่กระผมยกมาอ้าง วันนี้ก็ยังปรากฏร่องรอยอยู่ในแบบเรียน
ย้อนหลังขึ้นไปถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แบบสอนอ่านชั้นต้นที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งคือ ประถม ก กา เมื่อท่านสอนการแจกลูกประสมอักษรในแม่ ก กา แล้ว ท่านนำชื่อสัตว์ต่างๆ มาแต่งเป็น ยานี 11 ให้เด็กๆ ท่องจำ เช่น
๏ แม่ไก่อยู่ในตะกร้า ไข่ๆ มาสี่ห้าใบ
อิแม่กาก็มาไล่ อิแม่ไก่ไล่ตีกา
๏ หมาใหญ่ก็ไล่เห่า หมูในเล้าแลดูหมา
ปูแสมแลปูนา กะปูม้าปูทะเล
๏ เต่านาแลเต่าดำ อยู่ในน้ำกะจรเข้
ปลาทูอยู่ทะเล ปลาขี้เหร่ไม่สู้ดี
แบบเรียนเล่มนี้ประสบสัมฤทธิผลอย่างงดงาม ใช้สืบเนื่องมานานนับร้อยปี กระผมเองเคยเล่าเรียนท่องบ่น แม้ล่วงเลยมากว่า 60 ปี ถึงวันนี้ยังจำได้แม่น แอบกังขามาช้านานว่า ‘ปลาขี้เหร่ไม่สู้ดี’ นั้น มันคือปลาอะไรกันแน่ จนภายหลังได้อ่านฉบับเต็มซึ่งขยายความต่อไปว่า ‘ซื้อเขาเบาราคา ปลาขี้ค่าใช่ผู้ดี’ จึงเข้าใจว่า ‘ปลาขี้เหร่’ ก็คือ ‘ปลาทู’ เพราะราคาถูก เป็นปลาชั้นขี้ข้าไม่ใช่ปลาผู้ดี เนื้อหาสาระในแบบเรียนตอนนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ท่านเน้นให้รู้จักการประสมอักษรและอ่านได้
การเรียนการสอนในสำนักวัดวาอารามต่างๆ ครั้งกระโน้น พอเด็กผู้เรียนแจกลูก ประสมอักษรตามประถม ก กา ได้คล่อง ก็ต้องเรียน ประถม ก กา หัดอ่าน หรือ มณีจินดา ซึ่งท่านนำเอาพืชและสัตว์ในธรรมชาติมาผูกเป็นคำประพันธ์ มีทั้ง ยานี 11 ฉบัง 16 และสุรางคนาง 28 เนื้อหาเป็นการชมป่าเขาลำเนาไพร คล้ายๆ กับกัณฑ์จุลพนในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
๏ เเลเห็นเม่นหมีหมาหมู ผงกผงาดผาดดู
ก็อยู่ตามตรอกซอกเขา
๏ กระต่ายกระแตแย้มองย่องเบา เสือเต้นเผ่นเข้า
ก็เคล้าเข้าสู่คู่ตน
๏ ละมั่งทรายควายขวิดดินชน ขมักเขม้นเห็นคน
ก็ยืนสดับตรับหู
นอกจากบทชมสัตว์ป่าแล้ว ยังพรรณนาสัตว์น้ำ สัตว์บก ฝูงนก ฝูงปลา นานาชนิดที่ใกล้ชิดคุ้นชินกับวิถีชีวิตผู้คนครั้งกระโน้น
การศึกษาในสำนักเรียนของวัดวาอารามดำเนินสืบเนื่องมาจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการศึกษา ปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอน มีหลักสูตรและการวัดผลอย่างเป็นระบบ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งแบบเรียนหลวงขึ้นใช้ในโรงเรียน เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๔ ประกอบด้วยแบบเรียนภาษาไทย 5 เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิตินิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน และพิศาลการันต์ ต่อมาท่านได้แต่งแบบเรียนไทยขึ้นอีกหลายเล่ม เช่น ไวพจน์พิจารณ์ อนันตวิภาค นิติสารสาธก ปกีรณำพจนาดถ์ นามพรรณพฤกษา ฯลฯ
พุทธศักราช 2427 ท่านได้แต่ง “สัตวาภิธาน” ซึ่งชื่อหนังสือเล่มนี้มีความหมายว่า ชื่อสัตว์ต่างๆ แต่งเป็นยานี 11 ฉบัง 16 และสุรางคนาง 28 จำแนกสัตว์ออกเป็น 4 จำพวก คือ สัตว์มีเท้ามาก (พหุบาทา) สัตว์สี่เท้า (จตุบาทา) สัตว์สองเท้า (ทวิบาทา) และสัตว์ไม่มีเท้า (อปาทกา) ในที่นี้กระผมขอยกสัตว์มีเท้ามากมาเป็นตัวอย่าง คือ
๏ สัตว์จำพวกหนึ่งสมญา พหุบาทา
มีเท้าอเนกนับหลาย
๏ เท้าเกินกว่าสี่โดยหมาย สองพวกภิปราย
สัตว์น้ำสัตว์บกบอกตรง
๏ ตบองพลำใหญ่ยง อยู่ในป่าดง
ตัวดุจตะขาบไฟแดง
๏ มีพิษมีฤทธิ์เรี่ยวแรง พบช้างกลางแปลง
เข้าปล้ำเข้ารัดกัดกิน
๏ ตะขาบพรรณหนึ่งอยู่ดิน พรรณหนึ่งอยู่ถิ่น
สถานแลบ้านเรือนคน
สัตว์จำพวกมีเท้ามาก ท่านระบุว่ามี ตบองพลำ ตะขาบ ตะเข็บ กิ้งกือ แมงมุม แมงป่อง แมงสาบ แมงกะชอน ฯลฯ ตบองพลำ (ตะ-บอง-พะ-ลำ) ที่ท่านกล่าวถึง หน้าตามันเป็นอย่างไร กระผมหาทราบไม่ ท่านพรรณนาว่า เหมือนตะขาบ แต่ตัวโตขนาดกินช้างเป็นอาหาร กระผมเคยถามพระเถระผู้เฒ่า ท่านเล่าว่าอาจารย์ของท่านออกรุกขมูลเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ปักกลดอยู่ในป่าลึก ท่านเห็นตะขาบยักษ์ ตัวเท่าแผ่นกระดาษหน้ากว้าง 10 นิ้ว ตัวยาว 2-3 วา ชะรอยจะเป็นตะบองพลำกระมัง ถึงวันนี้ไม่มีใครเคยเห็นตัว ชื่อก็ยังไม่เคยได้ยิน ชะรอยคงสูญพันธุ์ไปแล้ว
บ้านเมืองเปลี่ยนไปตามยุค นานาสัตว์ที่เคยมีชุกชุมใกล้ชิด ก็เหินห่างเลือนหายจากความทรงจำพร้อมๆ กับแบบเรียนโบราณ
คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์