แค้นเป็นชื่อละครโทรทัศน์ เสนอฉายทางไทยทีวีสีช่อง 3 โดยผู้จัดมือทองแอน ทองประสม โดยได้เค้าเรื่องมาจากนวนิยายเรื่อง พรหมจารีสีดำ ของ “ชลาลัย” ซึ่งทันทีที่ประกาศสร้างและดัดแปลงเรื่องราว เปลี่ยนชื่อเรื่องนวนิยาย ก็ได้รับความนิยมเป็นกระแสต่อเนื่องมาโดยตลอด
เมื่อพิจารณาจากเรื่องย่อของละครโทรทัศน์แล้ว ก็พบว่าผู้จัดนำเอา “เค้าเรื่อง” ของนิยายพรหมจารีสีดำมาต่อเติมขยายเรื่องราวให้เข้มข้น น่าสนใจ เสมือนเป็นภาคต่อของนวนิยายเลยทีเดียว ความน่าสนใจเบื้องต้นอยู่ที่ความซับซ้อนของเรื่องราว และ “ปมชีวิต” ของตัวละครที่เป็นแรงผลักดันและเป็นแรงปรารถนาให้ดำเนินชีวิตไปด้วยความ “แค้น” ดังชื่อเรื่อง ละครโทรทัศน์เรื่องนี้จึงมีลักษณะเป็นละครแนวดราม่าผสมผสานกับแนวจิตวิทยา ซึ่งเป็นแนวที่น่าสนใจ แต่ยังได้รับการผลิตน้อยมากในวงการบันเทิงไทย
เรื่องราวของแค้น เป็นผลมาจากเงาอดีตอันขมขื่นของตัวละคร เมียน้อยกับเมียหลวง กิเลสและตัณหา ความรักและความแค้น ผสมผสานกันตลอดเรื่อง
เริ่มเรื่องตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ในครอบครัวพิพัฒน์ผล เจ้าของธุรกิจที่ดินมูลค่ามหาศาล มิ่งมิตรได้เปิดตัวปรางทิพย์ เมียน้อยวัย 30 ปี พร้อมปรางทอง ลูกติดวัย 8 ขวบ คุณนายมณีผู้เป็นภริยากับปิ่นมณี ผู้เป็นลูกสาวจึงโกรธจัด ปรางทิพย์ต้องอยู่ในบ้านด้วยความอดทนเพื่อลูกสาว เพราะปิ่นมณีมักระบายอารมณ์หงุดหงิดและความเลวร้ายสารพัดใส่ปรางทอง ลูกสาวของเธอ ปรางทองเก็บความกดดัน สั่งสมไว้เป็นความแค้น รอคอยชำระคืนเมื่อถึงเวลา
ปิ่นมณีมีลูกสาวชื่อเหมือนแพรกับพราวไหม เมื่อพ่อของปิ่นมณีเสียชีวิตลง เมียน้อยกับลูกติดอย่างปรางทิพย์และปรางทองไม่ได้สมบัติอะไรเลย ซ้ำยังต้องอยู่ในบ้านในฐานะคนใช้ที่ต้องทำงานหนัก เลี้ยงลูกของปิ่นมณีด้วยความกดดัน เมื่อปรางทิพย์สิ้นใจในเวลาต่อมา ปรางทองต้องมีชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและความแค้นของเธอก็ยิ่งสั่งสมไว้มากขึ้น แต่เธอแสดงออกด้วยการทำดีต่างๆ นานา โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความรักแก่เหมือนแพร จนเด็กหญิงติดน้าปราง และปิ่นมณีไว้เนื้อเชื่อใจ
ด้วยความใฝ่ดีเป็นทุน ปรางทองสอบเข้าเรียนต่อบริหารธุรกิจ หมายมั่นว่าจะมาช่วยธุรกิจพัฒนะ สามีของปิ่นมณี ธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลและเธอคิดแก้แค้นด้วยการได้ครอบครองธุรกิจทั้งหมดของตระกูล
ปรางทองมีคนรักชื่ออรรณพ และเธอนำมาเปิดตัวกับพัฒนะในฐานะเพื่อน อรรณพได้รับความไว้วางใจจากพัฒนะ เหมือนแพรก็ให้ความสนิทสนมกับอรรณพ แฟนของน้าปราง แล้วค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความรัก ปรางทองผู้โลภหวังครอบครองสมบัติ กลับต้องถูกศัตรูแย่งชิงคนรักไป นั่นยิ่งสร้างความแค้นให้แก่ปรางทองมากยิ่งขึ้น แม้จะวางแผนกำจัดพัฒนะและปิ่นมณีไปสำเร็จแล้ว แต่ในที่สุดเธอก็ยังวางแผนให้อรรณพกลายเป็นเบี้ยล่างของเธออีกด้วย อรรณพต้องจำยอมร่วมมือกับปรางทองเพื่อแก้แค้น เหมือนแพรมารู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปรางทองกับอรรณพ เมื่อปรางทองประกาศว่าเธอมีลูกชายกับอรรณพ เหมือนแพรรู้สึกถูกหลอก เธอฆ่าตัวตายแต่มีคนช่วยให้รอดชีวิตมาได้ แล้วเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ หมายจะทิ้งอดีตอันขมขื่นไว้ข้างหลัง
แต่โภไคย ชายที่เหมือนแพรคบหาด้วยได้กลับมาเมืองไทย เหมือนแพรจึงถือว่าถึงเวลาที่เธอจะได้แก้แค้นเอาคืน เรื่องยังผูกโยงอีกว่าลูกชายของปรางทอง ซึ่งมีอายุห่างจากเธอตั้ง 18 ปี กลับหลงรักเหมือนแพร ถึงกับประกาศว่าพออายุครบ 20 ปี เขาจะออกจากชีวิตของปรางทองผู้เป็นแม่แล้วจะครองรักกับเหมือนแพร ผู้เป็นศัตรูของแม่ตัวเอง เรื่องแค้นจึงเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับคนสามเจเนอเรชัน ตั้งแต่ปรางทิพย์กับปิ่นมณี ปรางทองกับเหมือนแพร และเรื่อยมาจนถึงลูกชายของปรางทอง
ปรางทิพย์กับปิ่นมณี คือคู่ขัดแย้งระหว่างเมียน้อยกับเมียหลวง ที่ส่งผลกระทบถึงปรางทองผู้เป็นลูกสาว และได้รับความกดดันจนสั่งสมความแค้นไว้ โดยสร้างความผูกพันกับเหมือนแพร ให้ความลวงทำงานว่ารักและผูกพัน แต่ความจริงคือหาทางเอาคืนอยู่ตลอดเวลา ด้วยความแค้นที่มุ่งหวังครอบครองสมบัติของตระกูลข้างพ่อ จึงปล่อยให้คนรักได้สานสัมพันธ์กับเหมือนแพร ผู้ซึ่งจะใช้เป็นเหยื่อในการแก้แค้น และนี่คือจุดเดือดที่ทำให้ความแค้นของปรางทองเพิ่มพูนขึ้น แต่เมื่อเหมือนแพรรู้ว่าผู้ชายที่เธอทั้งรักและนับถือนั้น คือสามีของศัตรู ทั้งสองเลยกลายเป็นคู่ขัดแย้งที่เข้มข้น ต่างฝ่ายต่างต้องชำระแค้นต่อกัน
โดยพล็อตเรื่องแล้ว ละครโทรทัศน์เรื่องแค้นก็คือเรื่องของความรักกับความแค้น อันเป็นแนวเรื่องที่ได้รับความนิยมในแวดวงนิยายไทยและได้รับการนำไปผลิตเป็นละครโทรทัศน์จำนวนมาก แต่ละครโทรทัศน์เรื่องแค้น ได้เพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับปมของตัวละครให้เห็นว่าความแค้นนั้นมีที่มาที่ไป จนเกิดเป็นแรงผลักดันให้ต้องแก้แค้นกัน ปมที่ว่านั้นก็คือ “มรดก” มูลค่ามหาศาล โดยใส่ฉากหลังเป็นเกมธุรกิจและเกมแห่งการแก้แค้นควบคู่ไปกับความรัก เส้นเรื่องจึงมีความน่าสนใจ
แนวเรื่องนี้เป็นแนวเรื่องสากลที่มีอยู่ในเรื่องเล่าของคนทั่วโลก คู่ความขัดแย้งจะเข้มข้นเพียงใดก็ขึ้นกับตัวละครทั้งสองฝ่ายแย่งชิงอะไรกัน เมื่อได้แล้วของสิ่งนั้นควรค่าแก่การเป็นรางวัลของผู้ชนะหรือไม่ และทำให้ผู้เสพหรือผู้ชมติดตามเอาใจช่วยตัวละครหรือไม่เพียงใด เมื่อพิจารณาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทั้งสองแย่งชิงก็คือ การได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะ ทั้งในเกมของความรักและเกมของธุรกิจ เรื่องของความรักเป็นสิ่งที่พึงใจ ส่วนธุรกิจเป็นอรรถประโยชน์ที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้ชนะอย่างเป็นรูปธรรม
โดยปกติแล้ว เรื่องเล่าไทยมักจบลงด้วยการให้อภัยและชี้ให้เห็นว่าความแค้นเป็นเสมือนไฟที่เผาไหม้จิตใจเราให้มีแต่ความทุกข์ อิทธิพลของพุทธศาสนามักให้ทางออกว่า ผู้ชนะที่แท้จริงก็คือผู้ให้อภัยและหลุดพ้นจากบ่วงของความแค้น แต่เรื่องย่อของละครโทรทัศน์เรื่องนี้ เรายังไม่เห็นจุดจบ บางทียุคสมัยปัจจุบันอาจชี้ทางออกใหม่ว่าต้องแค้นจนถึงที่สุด อย่าหย่อน อย่าผ่อน อย่าคลาย มิเช่นนั้นจะไปไม่ถึงเป้าหมาย เฉกเช่นปะทุอารมณ์ของคนรุ่นใหม่ที่มักปรากฏในสื่อโซเชียลดังที่เห็นโต้เถียงในประเด็นปรากฏการณ์ของสังคมหลากหลายกรณี
ชวนให้ติดตามว่าจุดจบของความแค้นจะสิ้นสุดตรงไหน และอย่างไร
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: “ลำเพา เพ่งวรรณ”
ภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ไทยทีวีสี ช่อง 3