Anatomy of a Scandal ชำแหละกายวิภาคของการล่วงละเมิด

-

เจมส์ ไวท์เฮ้าส์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจากพรรคอนุรักษ์นิยม เป็นเพื่อนสนิทของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ล่าสุดเขาถูกนักข่าวแฉความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ โอลิเวีย ลิทตัน ผู้ช่วยในฐานะนักวิจัยรัฐสภา ทั้งที่เจมส์เองมีภรรยาและลูกสองอยู่แล้ว ที่ฉาวเพิ่มขึ้นคือเขากับโอลิเวียมีเซ็กซ์กันในอาคารรัฐสภา เป็นการนอกใจนานห้าเดือนก่อนที่เจมส์จะขอยุติความสัมพันธ์

แค่ประเด็นนี้ก็มากพอที่ประชาชนจะเสื่อมศรัทธา ส่งผลกระทบด้านการเมืองที่กดดันให้รัฐบาลต้องแสดงออกท่าทีอย่างต่อปัญหาด้านจริยธรรมของรัฐมนตรี ที่ปรึกษาของรัฐบาลเสนอทางออกให้เจมส์แถลงขอโทษอย่างตรงไปตรงมา โดยหวังลดกระแสด้านลบ อีกทั้งนายกฯเองก็ยืนยันจะสนับสนุนให้เจมส์ดำรงตำแหน่งต่อไป เพราะในแง่การทำงาน เจมส์คือคนดีและคนเก่งคนหนึ่งซึ่งตั้งใจผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชน

เหตุการณ์ดูเหมือนจะสงบลงด้วยดี ภรรยาแม้เจ็บปวดที่รู้แต่ก็ยังยืนหยัดเคียงข้าง นายกฯสนับสนุนให้มีตำแหน่งการงานมั่นคง และกระแสประชาชนก็ดูจะไม่ต่อต้านรุนแรงหลังจากเขาออกมายอมรับผิด

แต่มันกลับไม่จบแค่นั้น แถมบานปลาย เมื่อเจมส์ได้รับทราบข้อหาเพิ่มเติมคือ ‘ข่มขืน’

โอลิเวีย ลิทตัน ฟ้องเจมส์ข้อหาข่มขืนเธอในลิฟต์อาคารสภาสามัญชนหลังจากตัดสินใจเลิกรากันไปแล้ว

Anatomy of a Scandal เป็นมินิซีรีส์ 6 ตอนจบที่ดูเนี้ยบในการกำกับและงานสร้าง ด้านเนื้อหาก็นำเสนอสอดคล้องกับชื่อเรื่องที่ Anatomy แปลว่ากายภาพ Scandal แปลว่าเรื่องฉาวโฉ่ เมื่อรวมกันแล้วจึงเป็นความพยายามของผู้สร้างที่จะเปิดโปงโครงสร้างของการล่วงละเมิดทางเพศว่าไม่ใช่แค่เกิดจากปัจเจกบุคลลผิดศีลหรือประพฤติผิด แต่ยังมี 3 ปัจจัยที่มีส่วนก่อให้เกิดปัญหานี้ในสังคม

(1) ไม่เข้าใจนิยามการข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ

ยังมีคนอีกจำนวนมากซึ่งเหมือนตัวละครในซีรีส์ที่เข้าใจว่า เมื่อต้องการมีเซ็กซ์แล้วฝ่ายหญิงบอกว่า “ไม่” หรือปฏิเสธด้วยการแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ฝ่ายชายยังรุกเร้าต่อไป จนในที่สุดฝ่ายหญิงไม่อาจขัดขืนหรือผลักไสกระทั่งฝ่ายชายสามารถเสร็จสมอารมณ์หมาย นั่นคือ ‘การยินยอม’

ทั้งที่จริงแล้วนั่นไม่ใช่การยินยอม (consent) เพราะมีการขัดขืนตั้งแต่ต้นและระหว่างนั้นก็ไม่เคยบอกว่าโอเค แต่การที่ฝ่ายชายสามารถมีเซ็กซ์ได้ก็เพราะฝ่ายหญิงนิ่งงัน ซึ่งอาจเนื่องจากกลัว หมดกำลังที่จะต่อสู้ หรือเกิดภาวะนิ่งคล้ายไม่ขัดขืน (paralyzed/frozen) หรือชา (numb) ด้วยความตกใจ ซึ่งเป็นภาวะที่เหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศหลายรายบรรยายถึงตัวเองในตอนนั้นว่ามันขยับร่างกายไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก แต่ไม่ได้หมายความว่ายินยอม

ในซีรีส์เราจะเห็นว่าตัวละครฝ่ายหญิงแม้เคยมีเซ็กซ์กับฝ่ายชาย เคยมีความสัมพันธ์ในฐานะคนรัก แต่เธอแสดงท่าทีปฏิเสธชัดเจนว่าไม่ต้องการมีเซ็กส์ในขณะนั้น เธอพูดว่า “ไม่” แต่ฝ่ายชายตีความว่าท่าทีของฝ่ายหญิงคือ ‘เล่นตัว/แกล้งยั่วให้เขารุกเร้ามากกว่านี้’ นี่ก็เป็นอีกความเข้าใจผิดจากความลำพองหรือหลงตัวเองของเพศชายที่คิดว่าตัวเองมีเสน่ห์และเป็นที่ต้องการของผู้อื่นเสมอ ไม่ยอมรับว่าการปฏิเสธนั้นคือการปฏิเสธจริงๆ

การข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ โดยไม่สนว่าสถานภาพของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างไร เพราะต่อให้เป็นสามีภรรยา แต่หากฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการแล้วถูกบีบบังคับ ก็นับเป็นการข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ เพราะการเป็นคู่รักไม่ใช่การเป็นเจ้าของชีวิตที่สามารถบงการอีกฝ่ายได้ตามอำเภอใจ

(2) ทำผิดซ้ำๆ เพราะอยู่ในสถานะหรือมีอำนาจที่จะทำ

ด้วยความที่เจมส์กับนายกฯ เป็นชายหนุ่มที่เติบโตมาคล้ายกัน คือกำเนิดในครอบครัวชนชั้นบนในสังคม เข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำ เป็นสมาชิกชมรมลิเบอร์ทีนที่มีแต่ลูกคนรวยหรืออภิสิทธิชนเป็นสมาชิก แล้วพวกเขาก็โตมากับวัฒนธรรมทำผิดแล้วลอยนวล เช่น ตอนอยู่ในชมรมจัดปาร์ตี้เมารั่วแล้วจับก้นจับหน้าอกพนักงานเสิร์ฟผู้หญิงตามอำเภอใจ เจมส์อาจดูมีจิตสำนึกมากกว่าเพื่อนในวัยหนุ่มแต่วิธีแก้ปัญหาของเขาก็คือไปขอโทษแล้วให้เงินทิปอีกฝ่ายเป็นการชดเชยที่เพื่อนลวนลาม นี่ยังไม่นับความผิดอีกหลายกระทงที่ชนชั้นพวกเขาลอยนวลมาได้ด้วย ‘อำนาจทางสังคมที่เหยื่อซึ่งเป็นผู้น้อยไม่กล้าขัดขืน’ กับอำนาจเงินที่ใช้แก้ปัญหาได้เรื่อยมา

เมื่อทำผิดแล้วไม่เคยต้องรับผิดและไม่เคยโดนลงโทษเหมือนคนทั่วไปในมาตรฐานความยุติธรรม ก็เกิดเป็นความเคยชินและความภาคภูมิใจที่ตัวเองสามารถสู้ได้ทุกปัญหา โดยหารู้ไม่ว่า ความภูมิใจเหล่านั้นคือสัญลักษณ์ของการไร้สำนึกผิดชอบชั่วดี ไร้ความละอายใจ ใช้อำนาจหรืออภิสิทธิ์เพื่อเอาตัวรอด และยังทำต่อไปเพราะไม่เคยเกรงกลัวว่าตัวเองจะเดือดร้อนจริง

(3) ปรากฎการณ์ halo หรือ the halo effect

เจมส์ ไวท์เฮาส์ คือตัวอย่างที่ดีสำหรับอธิบายปรากฏการณ์ halo effect คือการที่คนเรามีแนวโน้มจะประทับใจคนคนหนึ่งในด้านใดด้านหนึ่งถึงกับเชื่อว่าด้านอื่นๆ ในชีวิตของเขาก็คงจะดีตามที่เราเห็น นำไปสู่อคติที่ไม่เชื่อว่าคนดีๆ คนหนึ่งในสายตาเราจะทำเรื่องชั่วร้ายตามที่ถูกกล่าวหาได้

เจมส์เป็นคนหน้าตาดี ตอนต้นเรื่องเราได้เห็นความมุ่งมั่นและใจดีของเขาขณะดูแลคนสูงอายุที่เข้ามาร้องเรียนขอความช่วยเหลือ เขาเป็นนักการเมืองน้ำดี คิดนโยบายแต่ละอย่างโดยหวังช่วยเหลือประชาชนทุกภาคส่วน ในฐานะสามี เขาก็ดูแลเอาใจใส่ภรรยาอย่างถนอมรัก ในฐานะพ่อ เขาก็ดูอ่อนโยนและขี้เล่นเป็นคุณพ่อที่น่ารัก

แทบทุกด้านที่เห็นจึงเป็นเครื่องยืนยันว่าเขาเป็นชายที่ไม่อาจไปข่มขืนคนอื่นได้เลย

แต่บทเรียนจาก Anatomy of a Scandal เป็นบทเรียนที่ถอดไปใช้ในชีวิตจริงได้ในแง่ของ halo effect นั่นคือความดีในด้านหนึ่งของบุคคลนั้นไม่ได้ครอบคลุมพฤติกรรมทุกด้านของเขา ความรู้จักผิดชอบชั่วดีของมนุษย์ไม่ได้มีมาตรฐานเท่ากันเสมอไป เช่น เป็นพ่อแม่ที่เลวร้ายก็อาจเป็นเจ้านายที่ลูกน้องรัก เป็นคนทำบุญหลายวัดหรือบริจาคช่วยเหลือคนจนก็สามารถเป็นคนสั่งฆ่าคนอื่นได้อย่างเลือดเย็น

ดังนั้นคำว่า ‘คนดี/คนชั่ว’ อาจทำให้เราเผลอเหมารวมคนหนึ่งคนที่สามารถก่อเรื่องทั้งดีและชั่วได้ เกิดเป็นอคติที่เข้าข้างคนผิด ดังเช่นในซีรีส์ พื้นที่ด้านความสัมพันธ์ที่ไม่เคยสอนให้รู้จักการล่วงละเมิดทางเพศอย่างถ่องแท้ และการเติบโตแบบอภิสิทธิชนที่มีโอกาสลอยนวลพ้นผิดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ก็สามารถทำให้คุณพ่อที่น่ารัก/นักการเมืองจิตใจดี กลายเป็นชายคบชู้และข่มขืน แต่เจ้าตัวกลับไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการกระทำที่แล้วมานั้นคือ ‘ความผิด’


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”

( www.facebook.com/ibehindyou , i_behind_you@yahoo.com )

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!