เกษตรกรเมื่อเก็บเกี่ยวผลของสับปะรดไปจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว ส่วนอื่นๆ อย่างใบนับเป็นของเหลือทิ้งไร้ประโยชน์ ต้องกำจัดด้วยวิธีปั่นพร้อมนำไปฝังกลบหรือเผาทำลาย ซึ่งเป็นการสร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม โดยไม่มีใครคาดคิดเลยว่าใบสับปะรดจะนำมาสร้างคุณประโยชน์อันใดได้ สินค้าเด่นไอเดียเด็ดฉบับนี้ ขอพาไปรู้จักกับสินค้านวัตกรรม “เส้นใยธรรมชาติจากใบสับปะรด” ที่สามารถนำมาถักทอเป็นผืนผ้าอันสวยงามคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ดึงดูดความสนใจจากต่างประเทศจนมียอดสั่งซื้อเข้ามามากมาย
ติ๊ก-ปริยากร ธรรมพุทธสิริ เจ้าของ หจก.รักษ์บ้านเรา เจ้าของไอเดีย ได้ให้สัมภาษณ์แก่เราว่า เธอได้เข้าร่วมศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่และโครงการยกระดับผ้าทอชิงรางวัลห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ โจทย์ที่ได้รับคือการต่อยอดงานหัตถกรรม ติ๊กมีความเห็นว่าการต่อยอดสามารถทำได้สองทางคือ “การทอสร้างลายใหม่” และ “การสร้างเส้นใยใหม่” เธอนึกถึงเรื่องราวที่เคยได้ยินคือเส้นใยสัปปะรดจากประเทศฟิลิปปินส์ จึงมีความสนใจและเริ่มต้นศึกษาวิธีการสร้างวัตถุดิบ จนผลงานผ้าใยสับปะรดของเธอได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ
ติ๊กนำเงินรางวัลที่ได้มาต่อยอดการทำเส้นใยสับปะรดอย่างจริงจัง มีการศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ให้ลึกซึ้ง คุณสมบัติพิเศษของเส้นใยสับปะรดคือไฟเบอร์บริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ขจัดกลิ่นอับ ไม่สะสมฝุ่นละออง ตัวเส้นใยมีความแข็งแรงทนทาน อีกทั้งมีความสามารถในการดูดและอุ้มน้ำได้ดีจึงทำให้สีย้อมติดคงทนไม่ซีดจาง เหมาะแก่การต่อยอดสร้างเป็นสินค้าแปรรูปชนิดต่างๆ
นอกจากเป็นสินค้านวัตกรรมแล้ว กระบวนการทำงานแต่ละส่วนยังช่วยส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรและชาวบ้านหลายกลุ่ม ติ๊กเล่าถึงกระบวนการส่วนนี้ว่า “เริ่มต้นตั้งแต่เราเข้าไปช่วยสอนวิธีการและรับซื้อเส้นใยที่แปรรูปแล้วจากเกษตรกรและชุมชนแปรรูปใบสับปะรดในราคากิโลกรัมละ 300 บาท (ราคาขายใบสดของสับปะรดอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท) ก่อนส่งต่อให้ชุมชนย้อมสี ย้อมเส้นใยด้วยสีจากธรรมชาติ เช่น คราม ครั่ง ใบมะม่วง ใบก้างปลา ใบมังคุด ใบหูกวาง ใบยางพารา ฯลฯ เมื่อได้เส้นใยออกมาแล้ว มันยังเป็นเส้นใยที่สั้นอยู่ หากจะนำมาทอผ้าต้องมีการผูกต่อเส้นด้ายให้ยาวขึ้น เราจึงจ้างแรงงานผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งพวกเขาเคยรับงานถักอวนทำประมงมาก่อน แต่หลังๆ การประมงเริ่มซบเซาลง อีกทั้งการต่อด้ายตรงกับเงื่อนไขการทำงานที่ผู้ต้องขังสามารถทำได้ เราจึงเข้าไปเสริมสร้างรายได้ทางใหม่แก่พวกเขา ก่อนส่งต่อสู่ชุมชนทอผ้า ถักทอโดยใส่ลวดลายอัตลักษณ์ของจังหวัดสงขลา เช่น ลายลูกแก้ว ลายก้างปลา ลงไปด้วย”
กระบวนการทั้งหมดเป็นงานหัตถกรรมที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือบุคคลและวัตถุดิบจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีและการทำงานด้วยระบบเครื่องจักร ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางโลกยุคปัจจุบันที่เริ่มหันมาสนใจงานด้านสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ผ้าทอเส้นใยสับปะรดจึงได้รับคัดเลือกเป็น นวัตกรรมสะอาด (cleantech) จากองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) เข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายก่อนรอบชิงชนะเลิศ
ในด้านการตลาดและช่องทางจัดจำหน่าย ติ๊กมีแนวคิดการทำธุรกิจที่น่าสนใจด้วยโมเดลธุรกิจแบบ B2B (Business-to-Business) คือโรงงานติดต่อกับโรงงาน ไม่ขายแก่บุคคลรายย่อย แต่มุ่งเน้นการขายแก่โรงงานขนาดใหญ่ ติ๊กให้เหตุผลในการทำธุรกิจเช่นนี้ว่า “เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีลูกค้ารายย่อยมาซื้อผ้าจำนวนน้อยๆ ไปทดลอง แต่ไม่สามารถต่อยอดธุรกิจของตัวเองได้ สุดท้ายจึงล้มเลิก ในขณะที่เขายุติการทดลองไปแล้ว แต่สินค้าที่ออกมายังคงอยู่และถูกขายด้วยราคาที่ต่ำ ทำให้ผ้าทอด้อยมูลค่า เราจึงต้องคัดกรองโรงงานที่ติดต่อกับเราเพื่อไม่ให้มูลค่าของสินค้าลดลง ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดต่อเข้ามาเป็นโรงงานจากต่างประเทศ เนื่องจากเขายอมรับและให้ความสำคัญแก่สินค้าแนวรักษ์โลกมากกว่า” ดังนั้นผ้าทอใยสับปะรดจึงเป็นที่รู้จักมากในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส อาหรับ เราจะขายแบบผ้าที่ทอเป็นผืนแล้วเพื่อให้ผู้ผลิตนำไปต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า หมวก หรือแม้แต่วอลเปเปอร์ติดผนัง และมู่ลี่
ติ๊กกล่าวถึงแนวทางในอนาคตว่า “เนื่องจากผ้าทอใยสับปะรดผลิตด้วยแรงงานคนทั้งหมด กำลังผลิตจึงอยู่ในปริมาณที่น้อยไม่เพียงพอแก่ความต้องการของตลาด เราจึงร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งให้ทุนพัฒนาเครื่องจักรเกลียวด้าย (การม้วนเส้นใยเป็นเส้นด้าย) การเกลียวเครื่องจะทำให้ได้เส้นด้ายที่เล็กลง สามารถนำมาทอลวดลายที่ประณีตและละเอียดขึ้นได้ กำลังผลิตจะเพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาก็ถูกลง” เมื่อกำลังผลิตเพิ่มขึ้น จนมีวัตถุดิบเพียงพอในการสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ในอนาคตติ๊กจึงวางแผนเอาไว้ว่าจะหันมาผลิตสินค้าในชื่อแบรนด์ของตัวเองคือ ANANAS เพื่อขยายตลาดให้เป็นที่รู้จักในประเทศมากขึ้น
สุดท้ายนี้ติ๊กกล่าวว่าเครื่องจักรเกลียวด้ายเป็นเพียงตัวช่วยหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาเท่านั้น การเกลียวมือและการเกลียวเครื่องมีข้อแตกต่างกันที่เนื้อผ้า (texture) การเกลียวมือจะได้สัมผัสของความเป็นผ้าทอมากกว่า ดังนั้นเธอจึงจะทำตลาดผ้าทอทั้งสองแบบควบคู่กันไป ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าชอบผิวสัมผัสแบบใดก็สามารถเลือกซื้อได้ ติ๊กยืนยันหนักแน่นว่าถึงมีตัวช่วยด้านกำลังผลิตแล้ว แต่กระบวนการผ้าทอจากฝีมือมนุษย์จะยังคงอยู่ ไม่ทอดทิ้งความเป็นเอกลักษณ์นี้ไปอย่างเด็ดขาด
เว็บไซต์: http://www.ananasthailand.com/
เฟซบุ๊ก: Ananas (@ANANASTHAILAND)
คอลัมน์: สินค้าเด่นไอเดียเด็ด
เรื่อง: กัตติกา ภาพ: อนุชา ศรีกรการ และ ปริยากร ธรรมพุทธสิริ
All Magazine กรกฎาคม 2563