ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง : ตราบที่ใจไม่แล้งไร้ ก็ไม่ถึงกับสิ้นหวัง

-

จิดานันท์  เหลืองเพียรสมุท  นักเขียนซีไรต์เขียนนวนิยายเรื่องนี้ไว้เมื่อ พ.ศ.2559 และได้รับรางวัลดีเด่น Young Thai Artist Award  (YTA)  ชื่อนวนิยายเข้ากับยุคสมัยตอนนี้พอดิบพอดี เพราะโลกกำลังเผชิญหน้ากับโควิด-19 ระบาดหนัก  ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  และความเสื่อมถอยทางจริยธรรมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง เป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ในโลกอนาคตซึ่งใช้ฉากอดีตและกลิ่นอายของสมัยวิกตอเรีย  (Victorian period)  จัดเป็นประเภทย่อยของนิยาย ไซ-ไฟ  ที่เรียกชื่อว่า streampunk novel  ฉากท้องเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้เกิดขึ้นในอเมริกา  ตัวละครหลักมีห้าตัว คือ โอลิเวอร์ เลียม ฮิลสัน นักดนตรี ขุนนางชาวอังกฤษ ตัวแทนของชนชั้นศักดินา  โจเอล ยังก์  คนขายการนอน ตัวแทนของชนชั้นล่างในสังคม  เมแกน หุ่นยนต์สาวน้อย คนรับใช้ของขุนนาง  ตัวแทนของเทคโนโลยีที่ไม่อาจล้ำหน้ามนุษย์  โรเบิร์ต  สแกนแลน เศรษฐีชรา  นักวิทยาศาสตร์หัวก้าวหน้าผู้กำลังตามล้างบาปที่ตนและคนรักกระทำไว้ และ วลาดิมีร์  หนุ่มสังคม  ผู้พยายามฟื้นฟูกำลังใจให้โอลิเวอร์กลับมาเล่นดนตรีตามแนวจินตนาการของตนอีกครั้ง

นวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึงประเด็นหลายอย่าง ทั้งปัญหาเรื่องชนชั้น  ปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นไม่เว้นแม้แต่หุ่นยนต์  ปัญหาการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม  ปัญหาด้านจริยธรรม  ปัญหาวัตถุนิยมและบริโภคนิยม  ปัญหาเหล่านี้ไม่มีอะไรใหม่  ราวกับผู้เขียนจะบอกว่าไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต  ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน  ตราบใดที่มนุษย์ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและจิตวิญญาณของตน

นวนิยายกล่าวถึงโอลิเวอร์ นักดนตรีเชื้อสายขุนนางผู้ถูกนักวิจารณ์ “ถล่ม” เมื่อเขาเล่นดนตรีแหวกขนบ  จนต้องหนีไปใช้ชีวิตใหม่ในอเมริกาและหมดความเชื่อมั่นในตัวเองจนไม่อาจเล่นดนตรีได้อีกเลย  โจเอล  คนในโลกล่างที่ต้องทำงานหลายจ๊อบเพื่อเลี้ยงชีวิต  แต่งานหลักที่ทำเงินให้เขามากที่สุดและต้อง “จ่าย” มากที่สุด คือเป็น “สลีปเปอร์”  นั่นคือ

การนอนในกล่องที่ออกแบบมาเป็นพิเศษและฝังสายไฟสองเส้นเข้าที่ท้ายทอย 

จากนั้นการหลับใหลของพวกเขาก็จะถูกโอนถ่ายเข้าไปในวัตถุรูปทรงคล้ายถ่านไฟฉายเล็ก ๆ

ก้อนหนึ่ง  แล้วพวกเขาจะตื่นขึ้นมาอย่างเหนื่อยล้าเหมือนไม่ได้นอนแม้แต่นิดเดียว  เพราะ

ความผ่อนคลายจากการนอนหลับได้ย้ายเข้าไปอยู่ในก้อนถ่านไฟฉายพิเศษก้อนนั้นหมดแล้ว

 

ด้วยเหตุนี้นักนอนหลับจึงต้องซื้อยานอนหลับมากินเพื่อให้ตนหลับได้  รายได้จึงกลายเป็นรายจ่าย

กลายเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบจนกว่านักนอนหลับผู้นั้นจะสิ้นชีวิตไปอย่างไร้ค่าและทุกข์ทรมาน  ส่วนผู้เสพ “สลีปน็อก”  จะมีความรู้สึกว่า

“…รู้สึกสดชื่น…มันไม่ใช่ความสดชื่นแบบที่ได้จากการล้างหน้าหรือดื่มน้ำผลไม้นะ 

มันเป็นความรู้สึกมีพลัง  เหมือนเรามีอำนาจล้นฟ้า  จะทำอะไรก็ได้  ทุกอย่างสนุก  ตื่นเต้น…

และมันหวานในปาก  หวานในอก  เหมือนเวลามีความสุข”

ก้อนถ่านการนอนหรือที่เรียกว่าสลีปน็อกเป็นสินค้าขายดีในหมู่คนในเมืองบน  จำพวกคนบ้างานที่ต้องการพลังเสริม และหมู่คนรวยที่ต้องการมีกำลังวังชาเพื่อใช้ชีวิตเริงร่าสำเริงสำราญได้ไม่มีหยุด  แต่โอลิเวอร์สนใจใช้บริการซื้อสลีปน็อกด้วยเหตุผลที่ผิดแผกกับคนอื่น  เพราะหลังจากโอลิเวอร์ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง  เขาก็ไม่อาจเล่นเปียโนต่อหน้าคนอื่นได้และไม่มีจินตนาการกับเพลงที่เขาเล่นอีกเลย  เขาจึงต้องการซื้อ “ความฝัน” ของสลีปเปอร์มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มอาชีพนี้ เพราะสลีปเปอร์มืออาชีพจะไม่เหลือความฝันอีกแล้ว นั่นเป็นเหตุให้เขาเลือกโจเอล  บังเอิญโจเอลได้ฟังเพลงบรรเลงเปียโนที่อ่อนหวาน  เศร้าสร้อย และขมขื่น  ความฝันของเขาจึงมีเสียงเพลงของโอลิเวอร์  โอลิเวอร์เลยว่าจ้างโจแอลเป็นประจำเพื่ออัดสลีปน็อกให้เขา โอลิเวอร์ต้องการเสพจินตนาการของบทเพลงเปียโนที่เขาบรรเลงด้วยอารมณ์ต่าง ๆ ผ่านความฝันของโจเอลอีกทีหนึ่ง ส่วนในใจโจเอลก็เผชิญกับความขัดแย้งทางจริยธรรมอย่างหนักเพราะเขาต้องการเลิกเป็น “คนขายการนอน” โดยเด็ดขาด  แต่ขณะเดียวกันเขาก็ต้องการเงินจำนวนมากพอที่จะได้มีชีวิตตามปกติ

นอกจากสลีปน็อกที่ผูกความสัมพันธ์ของโจเอลกับโอลิเวอร์แล้ว เมแกน หุ่นยนต์รับใช้ก็เป็นอีกปมหนึ่งที่ผูกสัมพันธ์ของคน ๓ คนเข้าด้วยกัน  เมื่อหุ่นยนต์หมดสภาพ อนาคตของพวกมันคือถูกนำไปประมูลขายเป็นทาส  ให้คนในโลกบนที่ร่ำรวยได้ใช้อำนาจป่าเถื่อนของตนอีกครั้งก่อนมันจะกลายเป็นเศษเหล็ก   เมแกนกำลังจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากหุ่นยนต์หมดสภาพตัวอื่น  โจเอลและโอลิเวอร์จึงทุ่มเทกันช่วยประมูลเธอโดยมีวลาดิมีร์ช่วยเหลือ  เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้โอลิเวอร์แสดงเปียโนต่อสาธารณชนอีกครั้งอันจะทำให้โอลิเวอร์ฟื้นคืนความมั่นใจในฝีมือของตนเอง  การเข้าประมูลเมแกน ณ สถานที่ลับเพื่อชิงชัยกับสแลนแกนทำให้ในเวลาต่อมาทุกคนได้รู้จุดประสงค์ลึกลับของเศรษฐีชราผู้นี้

แม้ว่าแทบทุกฉากในนวนิยายเรื่องนี้จะมัวสลัว หม่นหมอง ลี้ลับ  ซับซ้อน ซ่อนเร้น  และตัวละครมีกายภาพที่ห่อเหี่ยว  ซีดเซียว  แก่ชรา  ชำรุด และป่วยไข้  แต่ในด้านจิตใจกลับงดงาม  สะอาด  อ่อนโยน  ใสสว่าง    ผู้เขียนวาดภาพให้เห็นพลังของความเมตตา  ความเห็นอกเห็นใจ   การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ที่ด้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมนุษย์หรือหุ่นยนต์  ที่สำคัญคือไม่ใช่การ “ให้” จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างผู้มีอำนาจเหนือกว่าทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม  แต่เป็น “ให้” และ “รับ”  อย่างไม่ทำลายศักดิ์ศรีและคุณค่าของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  นวนิยายเรื่อง ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง ของจิดานันท์  เหลืองเพียรสมุท  จึงชี้ให้เห็นว่าในความดำมืดของโลกที่โสมม  ยังมีแสงสว่าง  มีความหวัง  มีอนาคต  ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมนุษย์มีปัญญาที่อาจพัฒนาให้มีศักยภาพมากขึ้นจนสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดเกินมนุษย์ หรือพลิกแพลงเล่ห์เหลี่ยมเพื่อเอาเปรียบเพื่อนร่วมสังคม   แต่เป็นเพราะมนุษย์มี “หัวใจ”  ที่อาจพัฒนาจนก้าวข้ามกิเลสตัณหาความเห็นแก่ตัวไปสู่ความเห็นแก่ผู้อื่นและสังคมส่วนรวมได้

จิดานันท์  เหลืองเพียรสมุท  เป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีลีลาเฉพาะตัว  เธอจะใช้รูปแบบวรรณกรรมใหม่ๆ  ที่ทำให้เรื่องราวก้ำกึ่งระหว่างอดีตกับอนาคต ความเหนือจริงกับความสมจริง  ความสนุกบันเทิงกับการสะท้อนสังคม  และมุมมืดกับมุมสว่างของมนุษย์   ตัวละครมักเป็นชาวต่างประเทศ ชื่อแปลกๆ บ่งบอกสังคมที่หลอมละลายการแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติและวัฒนธรรม   ฉากท้องเรื่องมักเป็นดินแดนในจินตนาการ เพราะผู้เขียนคงตั้งใจให้ผู้อ่านตระหนักว่าไม่ใช่เรื่องที่เกิดบนแผ่นดินไทย  แต่เกิดขึ้นได้ทุกแห่งในโลก  ในขณะเดียวกันเรื่องราวที่ดูเหมือนไกลตัวนี้กลับมีพลังสะท้อนให้เรามองภาพสังคมใกล้ตัวชัดเจนขึ้น

ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง  ไม่เพียงทำให้เราแช่มชื่นหัวใจว่าเรายังมีความหวังถึงสังคมอนาคตที่ดีงาม  แต่ทำให้เรามีความหวังด้วยว่าวรรณกรรมร่วมสมัยของเราจะมีอนาคตที่เจิดจ้า  จากฝีมือของคนรุ่นใหม่ที่มีมุมสว่างในใจและมีความคิดเชิงบวก


คอลัมน์ : เชิญมาวิจารณ์

เรื่อง : ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

All magazine กุมภาพันธ์ 2564

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!